ภท.ดันรถเมล์เข้าครม.3มิ.ย.นี้คาดตั้งกก.ร่วมถกอีก

ภท.ดันรถเมล์เข้าครม.3มิ.ย.นี้คาดตั้งกก.ร่วมถกอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คมชัดลึก : รัฐซื้อเวลา ชง ครม.ตั้งกรรมการร่วมโครงการเช่ารถเมล์ หวังลดกระแสสังคม ชทพ.แจงเสธ.หนั่นค้านไม่เกี่ยวกับพรรค นายกฯอภิสิทธิ์ย้ำต้องแจงสังคมถึงความคุ้มค่าได้ ด้านศาล รธน.นัดชี้ขาดพ.ร.ก.กู้เงิน วันนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มิถุนายนนี้ มีวาระที่น่าสนใจ คือ กระทรวงคมนาคม นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เสนอโครงการเช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4,000 คัน วงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาท สัญญา 10 ปี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้ ครม.พิจารณา โดยมีรายงานว่าทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้เรียกข้อมูลโครงการดังกล่าวมาพิจารณา พร้อมกับข้อมูลการตรวจสอบโครงการดังกล่าวของนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และเสนอทางออกให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม สำนักงบประมาณฯ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อป้องกันกระแสกดดันจากสังคม และในการหารือระหว่างนายสุเทพและนายโสภณ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 มิถุนายน ก็เห็นตรงกันกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในความสนใจของสังคม และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันยังเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย ดังนั้น จึงต้องการให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อสงสัยจากสังคม รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุเทพเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่ต้องมีการศึกษางบประมาณอย่างละเอียดอีกครั้งโดยเฉพาะค่าเช่า ค่าซ่อม และภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นตลอดอายุสัญญา 10 ปี ทั้งนี้ นายสุเทพเห็นว่าประเด็นค่าเช่ามีระยะเวลาถึง 10 ปี ควรจะมีการพิจารณาเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นได้ทุก 3-4 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต อย่างไรก็ตามแนวทางทั้งหมดนี้ต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง มีรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 3 มิถุนายนนั้น สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ได้บรรจุโครงการเช่า รถเมล์ 4,000 คันไว้ในวาระ ทั้งวาระเพื่อทราบและวาระเพื่อพิจารณา ดังนั้นต้องดูท่าทีของ รมว.คมนาคม ว่าจะเสนอเรื่องเข้ามาเป็นวาระจรหรือไม่ ชทพ.แจงเสธ.หนั่นค้านไม่เกี่ยวกับพรรค ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคชาติไทยพัฒนาเปิดเผยว่า แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาค่อนข้างจะหนักใจที่พรรคภูมิใจไทยจะเสนอโครงการเช่า รถเมล์ เข้าสู่คณะรัฐมนตรี นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้หารือกับแกนนำในพรรคหลายคนว่าเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยได้ โดยเฉพาะหาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา จะออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าวกลางที่ประชุม ครม. ก็ให้ถือเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค เนื่องจากที่ผ่านมา พล.ต.สนั่นมีท่าทีคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น นายกฯ ย้ำต้องแจงสังคมถึงความคุ้มค่าได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบว่าการประชุม ครม.วันที่ 3 มิถุนายน มีวาระอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ครม.ต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ ความมั่นใจของประชาชนหรือสังคมว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่า ดังนั้น การที่ ครม.ให้นำโครงการเช่า รถเมล์ กลับไปทบทวน ก็เพื่อต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ หากตอบคำถามได้ ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ ศาล รธน.นัดลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 มิ.ย.นี้ รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 3 มิถุนายนนี้ ที่ประชุมจะแถลงคำวินิจฉัยส่วนตน ก่อนลงมติในคำร้องของประธานรัฐสภา ที่ส่งคำร้องของ ส.ส. 99 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยคณะตุลาการจะพิจารณาและลงมติในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ด้วย แต่จะไม่ใช่การออกนั่งบัลลังก์ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังเช่นก่อนหน้านี้ อาทิ กรณีวินิจฉัยเรื่องเขาพระวิหารว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ไม่ใช่กรณีที่มีคู่ความขัดแย้ง หรือมีผลกระทบต่อตัวบุคคลเช่นกรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือการยุบพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญจะใช้วิธีประชุมและลงมติในห้องประชุม ก่อนจะมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้แถลงผลการวินิจฉัย จากนั้นจะส่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มไปให้ประธานรัฐสภาในฐานะผู้ร้องต่อไป รายงานข่าวแจ้งว่า การลงมติเรื่อง พ.ร.ก.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วรรคท้าย กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้พ.ร.ก.ตกไป จะต้องมีเสียง 2 ใน 3 หากองค์ประชุมมีทั้งหมด 9 คน จะต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 6 เสียงวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และจะมีผลให้พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่หากเสียงของคณะตุลาการฯ ที่เห็นว่าการออกพ.ร.ก.ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมีไม่ถึง 6 เสียง แม้จะเป็นเสียงข้างมากก็ตาม ก็จะส่งผลให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่เช่นเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง รถเมล์4พันคัน...ป้ายหน้าก็จอดแล้ว รายงาน ...แลกหมัด ! คนละไม้ละมือ เรือด่วน-รถร่วมขอปรับขึ้น 2 บาท รายการคมชัดลึก :เกาะติดรถเมล์4,000คัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook