สพฐ. ทบทวนเกณฑ์เลื่อน ม.4 คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

สพฐ. ทบทวนเกณฑ์เลื่อน ม.4 คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนด 4 หลักการ ในการทบทวนเกณฑ์เลื่อนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2553 คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการจัดทำเกณฑ์กลางและแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2553 ซึ่งมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา เข้าร่วม ในเบื้องต้นเห็นตรงกันว่า การเลื่อนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนเดิม จะต้องดำเนินการ โดยยึดหลักการ 4 ข้อ คือ ต้องกำหนดเกณฑ์กลางการคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นมา โดยคำนึงการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน และต้องเป็นเกณฑ์ที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา จัดกิจกรรมแนะแนวสำหรับเด็กและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวปฏิบัติและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนทุกคน และคำนึงถึงโครงสร้างและศักยภาพของโรงเรียน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง สพฐ. จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง นักเรียน ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อปรับปรุงและจัดทำเป็นหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุปและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ภายใน 2 เดือนนี้ คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีห้องเรียนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชั้นมัธยมศึกษาปลาย มีห้องเรียนลดลง เนื่องจากข้อจำกัดของโรงเรียน สถานศึกษาจึงต้องคัดเลือกเด็กและส่วนใหญ่จะดูจากผลการเรียนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ สพฐ. จะต้องแก้ไข เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถมีที่นั่งเพียงพอสำหรับเด็กที่ต้องการเรียน อย่างไรก็ตาม คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ในการประเมินที่เน้นแต่เกรดอย่างเดียว จะทำให้โรงเรียนที่รองรับเด็กเรียนอ่อนหรือเด็กพิการถูกกดดัน เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีผลการเรียนไม่สูง ดังนั้น ควรต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้สถานศึกษารับเด็กเรียนอ่อนหรือเด็กพิการมากขึ้น ขณะเดียวกันสถานศึกษาต้องปรับปรุงระบบแนะแนวเพื่อให้เด็กค้นพบความสามารถของตัวเอง และควรมีสถานศึกษาที่จัดโครงการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ เช่น ดนตรี ภาษา กีฬา เป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook