รับมือวิกฤติฝุ่น PM 2.5: ราคาของการพัฒนาที่ต้องจ่ายด้วย “สุขภาพ”

รับมือวิกฤติฝุ่น PM 2.5: ราคาของการพัฒนาที่ต้องจ่ายด้วย “สุขภาพ”

รับมือวิกฤติฝุ่น PM 2.5: ราคาของการพัฒนาที่ต้องจ่ายด้วย “สุขภาพ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมของปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ ปัญหาเรื่องฝุ่นควันและมลพิษในอากาศของสังคมไทยดูจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศให้โรงเรียน 437 แห่งในสังกัดหยุดทำการเรียนการสอนตั้งแต่เที่ยงของวันที่ 30 ม.ค. ไปจนถึงวันศุกร์ 1 ก.พ. เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนและนักศึกษา

>> กรุงเทพฯ "ปิดโรงเรียน" 2 วัน หนีฝุ่น PM 2.5 ศึกษาธิการเอาด้วย! หลังค่ามลพิษวิกฤติ

อ้างอิงจากทางองค์กรกรีนพีซประจำประเทศไทย ปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในสังคมไทย โดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือที่มักต้องเผชิญกับผลกระทบจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพียงแต่ว่าโดยปกติแล้ว หากฝุ่นควันมีอนุภาคเกิน 10 ไมครอนขึ้นไป ปอดของมนุษย์จะสามารถดักจับฝุ่นชนิดดังกล่าวไว้ได้ก่อนที่จะขับออกมาเป็นเสมหะ แต่สำหรับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM 2.5) ซึ่งมีขนาดเล็กเสียยิ่งกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์ ร่างกายจะไม่สามารถขับออกไปเองได้ ทำให้เมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังหรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง และจะเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและเด็กเล็ก

 

แม้ว่าจะมีความพยายามของภาครัฐในการที่จะแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มาตรการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดละอองน้ำในอากาศหรือแม้แต่การแจกจ่ายหน้ากากกันฝุ่น N95 ล้วนสามารถทุเลาปัญหาได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น จากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในงานแถลงข่าว “วิกฤติมลพิษ PM 2.5: ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” ที่จัดขึ้นโดยองค์กรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Sanook! News พบว่า ปัญหาเรื่องมลพิษขนาดเล็กจะยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยต่อไปอีกนานหลายปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศคงตัวและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ซึ่งทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ในระยะยาว ทางภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายของประเทศจำเป็นจะต้องออกมาตรการทางกฎหมายที่จะช่วยควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษจากแต่ละแหล่งอย่างเป็นรูปธรรม

>> ผ่าทางรอดวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 นักวิชาการระดมสมองแนะแนวทางรัฐรับมือ

ยกระดับค่ามาตรฐานเพื่อความปลอดภัยที่แท้จริง

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทยธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทว่าในความเป็นจริง ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่านั้น หากเกินกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในทัศนะของ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย ระบุว่า หากวัดตามค่ามาตรฐานของทางองค์การอนามัยโลกจะพบว่า ไม่มีเมืองไหนเลยในไทยที่มีค่ามลพิษอยู่ในระดับปลอดภัย โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา สมุทรสาครถือว่าเป็นจังหวัดที่มีปริมาณมลพิษฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดเท่าที่วัดได้

สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

อ้างอิงเพิ่มเติมจาก สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ความแตกต่างของมาตรฐานตัวเลขเกิดจากการเลือกใช้ตัวแปรที่แตกต่างกัน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยจะให้น้ำหนักในประเด็นของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เหตุเพราะหน่วยงานที่กำหนดตัวเลขคือกรมควบคุมมลพิษ ไม่ใช่กรมอนามัย ดังนั้นสุขภาพจึงไม่ใช่ตัวแปรหลักในการคำนวณ แต่ทว่ายังมีปัจจัยอย่างสังคมและเศรษฐกิจมาผสมด้วย ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของรัฐที่ให้คุณค่ากับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน เห็นได้อย่างชัดเจนจากปริมาณของรถยนต์ในกรุงเทพฯที่มีจำนวนมากกว่าที่ถนนจะสามารถรองรับได้ถึงสี่เท่า ทำให้นอกเหนือจากการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษในระยะยาว ทางกรีนพีซยังได้เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษฯ ยกร่างมาตรฐานค่าเฉลี่ยใหม่เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน

เมื่อ “มลพิษ” กลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดน

มลพิษฝุ่น PM 2.5 โดยทั่วไปแล้ว สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจร้านค้า รวมไปถึงการเผาในที่โล่ง อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า สาเหตุที่วิกฤติมลพิษครั้งนี้รุนแรงจนเป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งเองก็เป็นผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกลมประจำถิ่นพัดเข้ามาในประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง เมื่อมลพิษที่มีอยู่เดิมและที่เข้ามาใหม่เจอกับสภาพอากาศของเมืองไทยในช่วงเวลานี้ ทำให้มลพิษไม่อาจลอยตัวขึ้นไปในอากาศได้ อากาศเสียจึงกระจายตัวออกด้านข้าง กรุงเทพฯจึงอยู่ในสภาพเหมือนโดนแก้วครอบเอาไว้อีกชั้น ซึ่งทางคุณสนธิ มองว่า การจะแก้ไขปัญหานี้จำเป็นจะต้องอาศัยการเข้าแทรกแซงของรัฐในการออกกฎควบคุมมลพิษในระยะยาวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันยูโร 5 หรือ 6 ยกเลิกการใช้งานเครื่องยนต์ดีเซล สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า จากนั้นจึงควบคุมการจดทะเบียนรถยนต์ให้ทำได้ยากขึ้น หากทำได้เช่นนี้ เชื่อว่าน่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นควันในพื้นที่เมืองหลวงได้อย่างเห็นผล

เปลี่ยน “วิกฤติ” เป็น “โอกาส”

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถึงแม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยจะกำลังเผชิญกับวิกฤติที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กลับมองว่านี่คือโอกาสที่สังคมไทยและรัฐบาลหน้าที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะได้ร่วมกันเรียนรู้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยยึดเอา “คน” เป็นหลัก มากกว่าการที่จะเน้นในเรื่องของตัวเลขรายได้แต่เพียงอย่างเดียว โดย ผศ.ดร.ธนพล ได้แบ่งขั้นตอนของการรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. รับ

แรกสุดคือ สังคมไทยต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่รู้ว่ามลพิษพวกนี้มาจากไหน เพราะข้อมูลที่ถูกนำมาใช้วิเคราะห์เองก็เป็นข้อมูลเก่า ในความเป็นจริง ไทยไม่มีทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) เราจึงไม่มีข้อมูลว่าแต่ละแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ถนน การเผาในที่โล่ง มีการปล่อยมลพิษ PM 2.5 เท่าไหร่ ดังนั้น การจัดการทั้งหมดในตอนนี้ที่รัฐนำมาใช้จึงวางอยู่บนการคาดเดาทั้งหมด ที่มากไปกว่านั้น ประเทศไทยไม่เคยมีการวางแผนประเมินมลพิษสะสมและไม่เคยประเมินศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของธรรมชาติ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเราไม่ทำการเก็บข้อมูลเสียตั้งแต่ตอนนี้ ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป

ผศ.ดร.ธนพล ได้ให้ความเห็นเสริมว่า การพัฒนาที่แท้จริงจะดูแต่กำไรที่ได้รับอย่างเดียวไม่ได้ แต่มันยังมีต้นทุนอื่นที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนในสังคม จากรายงานของ World Bank ระบุว่า ความเสียหายจากมลพิษทางอากาศเมื่อปี 2011 ของประเทศไทยส่งผลให้ GDP ติดลบ 4.07 อีกทั้งยังส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งในปี 2013 มีตัวเลขติดลบถึง 6.29 ซึ่งในหลายๆ ครั้ง คนที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ได้เป็นคนที่ต้องจ่าย แต่กลับเป็นคนรอบนอก ซึ่งการเก็บข้อมูลเรื่องปริมาณของมลพิษจากแต่ละแหล่งจำเป็นจะต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีแค่รัฐเท่านั้นที่สามารถทำได้

  1. รู้

ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการทางกฎหมาย เช่น ในอเมริกาที่มีการระบุพื้นที่ Non-Attainment Area หรือพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศแย่กว่าค่ามาตรฐานที่รัฐกำหนดโดยอิงจากมาตรฐานด้านสุขภาพ เมื่อพบเจอพื้นที่เหล่านี้ รัฐมีหน้าที่จะต้องเสนอแผนการจัดการ ซึ่งรัฐจะสามารถจัดการได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าต้นทางของมลภาวะแต่ละแหล่งได้มีการปล่อยมลภาวะออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ นี่คือขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่ก่อนการอนุมัติโครงการก่อสร้างแต่ละโครงการ

แม้ในความเป็นจริง ไทยจะมีการทำ EIA และ HIA (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ) ก่อนอนุมัติโครงการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การประเมินดังกล่าวไม่ได้นำตัวแปรทั้งหมดมาคำนวณร่วมกัน อย่างเช่นถนนมักจะไม่ถูกนำมาพิจารณาดูร่วมกับโรงงาน แต่จะถูกมองแบบแยกส่วน หากว่าเราทำการประเมินทุกอย่างร่วมกัน แน่นอนว่ามาตรการในการก่อสร้างโรงงานจะเข้มงวดขึ้นมาก อาจจะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่มันจะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนทั่วไปในสังคม

  1. รุก

รัฐจำเป็นต้อง “รุก” โดยการใช้กฎหมาย เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถขอความร่วมมือกับทางภาคธุรกิจได้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีเครื่องมือทางวิศวกรรมทุกอย่างที่จะช่วยในการวัดค่าและควบคุมมลพิษ เพียงแต่มันไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะเท่านั้นเอง

  1. ร่วม

สังคมต้องร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ออกนโยบายและมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในระยะยาว ไม่ใช่แค่มาตรการชั่วคราว และที่สำคัญที่สุด ต้องชี้ให้รัฐบาลเห็นว่า การพัฒนาที่แท้จริงจะต้องมี “คน” อยู่ในสมการของการคำนวณด้วย

แน่นอนว่าเราทุกคนในสังคมย่อมมีส่วนในการสร้างให้เกิดมลพิษขึ้น และเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเองก่อน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มทุนและภาคธุรกิจเองก็มีส่วนส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นแล้ว ต่อให้ภาคประชาชนพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่หากรัฐไม่เข้าควบคุมและแทรกแซง เชื่อได้เลยว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศต่อไปอีกนานหลายปี และผู้ที่เสียเปรียบที่สุดนั่นก็คือประชาชนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook