3 องค์กรหลักด้านสุขภาพ ทุ่ม 32 ล้านบาท เปิดศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

3 องค์กรหลักด้านสุขภาพ ทุ่ม 32 ล้านบาท เปิดศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
3 องค์กรหลักด้านสุขภาพ ทุ่มงบประมาณ 32 ล้านบาท เปิดศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่าการอ่านคู่มือเองร้อยละ 50 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน รองประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สร้างภาวะโรคภัยแก่คนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ประมาณการณ์ผู้เสียชีวิตถึง 42,000 คนต่อปี หรือ 115 คนต่อวัน แม้อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยจะลดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันคนไทยยังสูบบุหรี่อยู่กว่า 11 ล้านคน ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันปีละ 5 ล้านคน หรือนาทีละเกือบ 10 คน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประชากรโลก และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า หลายภาคส่วนจึงร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของประเทศไทยในการสนับสนุนการเลิกบุหรี่ ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 สถาบัน คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สสส. โดย สสส. จัดงบประมาณสนับสนุนจำนวน 32 ล้านบาท ให้บริการผ่านหมายเลข 1600 ซึ่งเดิมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ ก่อนจะโอนมาและยกระดับจัดตั้งเป็นศูนย์บริการระดับชาติเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา งานวิจัยระดับนานาชาติหลายชิ้น พบว่า ผู้สูบที่เข้ารับบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ จะเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า ผู้ที่อ่านคู่มือด้วยตนเองถึงร้อยละ 50 การจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ฯ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนไทยทั้งผู้สูบและผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ ซึ่งแต่ละปีรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูบบุหรี่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook