ก.วิทย์ฯ ใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาประสิทธิภาพแว่นตานาโนใช้ด้านนิติวิทยาศาสตร์

ก.วิทย์ฯ ใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาประสิทธิภาพแว่นตานาโนใช้ด้านนิติวิทยาศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาประสิทธิภาพแว่นตานาโน ที่ใช้ตรวจสอบทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ช่วยเพิ่มศักยภาพตรวจหาคราบอสุจิ และน้ำลาย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งและดำเนินการสถานร่วมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและนาโนเทค เพื่อการใช้แสงซินโครตรอนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยเบื้องต้นจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของแว่นตานาโนสำหรับการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้แสงซินโครตรอนมาพัฒนาสารอินเดียมออกซิไนไตรด์ (Indium Oxynitrile) ที่ใช้เคลือบแว่นตาให้มีขนาดเล็กยิ่งขึ้น เพื่อใช้ตรวจจับสารคัดหลั่งได้ทุกประเภทแม้ว่าจะมีปริมาณน้อยมากก็ตาม จากเดิมใช้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบคราบน้ำลาย คราบอสุจิ คราบเลือด หรือลายนิ้วมือ ซึ่งจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้จะเพิ่มประสิทธิการมองเห็นได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะเร่งวิจัยและพัฒนา กระจกไล่น้ำ โดยจะทำการเคลือบสาร ไททาเนียม ออกซิไนไตรด์ (Titanium oxynitlrile) บนกระจกรถยนต์ เพื่อป้องกันการเกาะติดของหยดน้ำ ซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นขณะที่ฝนตกและป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ใช้งบ 70 ล้านบาทในการดำเนินการ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า แสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นลำแสงที่มีความเข้มมากกว่าแสงดวงอาทิตย์เป็นหมื่นเท่า โดยจะนำมาใช้ร่วมกับนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาที่ต้องอาศัยการศึกษาในระดับโมเลกุล ซึ่งมีประโยชน์ในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook