ไอเดียเจ๋ง! ผุดธุรกิจใหม่ "รับฝากสูงวัย" พร้อมบริการอาหาร ขนม ตลอดวัน

ไอเดียเจ๋ง! ผุดธุรกิจใหม่ "รับฝากสูงวัย" พร้อมบริการอาหาร ขนม ตลอดวัน

ไอเดียเจ๋ง! ผุดธุรกิจใหม่ "รับฝากสูงวัย" พร้อมบริการอาหาร ขนม ตลอดวัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผยภาพอาชีพใหม่มาแรง รับฝาก สว. (สูงวัย) พร้อมบริการอาหาร ขนม เสร็จสรรพ แถมมี WIFI เปลี่ยนการนอนอยู่บ้านเหงาๆ มาพูดคุยกับเพื่อนๆ แทน สนุกเพลิดเพลินพบปะเพื่อนใหม่พูดคุยไร้นินทา

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 61 ที่บ้านเลขที่ 59 ถ.วีระพันธ์ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งบ้านดังกล่าวได้เปิดเป็น สถานรับฝาก สว. (สูงวัย) โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. พร้อมบริการอาหารเช้า-เที่ยง กาแฟ น้ำชา โอวัลติน ของว่าง และที่ขาดไม่ได้ในสมัยนี้ก็คือ WIFI ชาร์จแบตมือถือ โดยคิดค่าบริการวันละ 300 บาท ชั่วโมงละ 60 บาทเท่านั้น

โดยมีคุณพูลไท ลวากร อายุ 55 ปี เป็นเจ้าของและผู้ดูแลกล่าวว่า เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก

ซึ่งสถานรับฝาก สว. (สูงวัย) จะมีบุคลากรที่เกษียณอายุราชการจากสาธารณสุขมาดูแลผู้สูงอายุ โดยการดูแลใช้ผู้ดูแล 1 ต่อ 3 คน ทั้งการนำทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพก็จะช่วยเหลือดูแลแก้ไขให้ โดยได้มีการประสานชุดหน่วยกู้ชีพในพื้นที่มาสแตนบาย หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้สูงวัย

โดยเมื่อผู้สูงวัยเข้ามารับบริการก็จะได้รับการบริการ เช่น ผู้ที่เดินไม่ได้ก็จะช่วยกายภาพบำบัด ดูแลสุขภาพจิตใจไม่ให้เศร้าหมอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของสถานดูแลผู้สูงอายุต้นแบบดังกล่าว จะเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ซึ่งเวลากลางวันต้องอยู่บ้านคนเดียว และเป็นชนชั้นกลางที่ลูกหลานมีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าดูแล เพราะจะมีการเก็บเป็นรายวันและรายชั่วโมง โดยรายวันจะคิดวันละ 300 บาท โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น.ไปจนถึง 15.00 น. และรายชั่วโมงกรณีลูกหลานไปประชุม ธุระด่วน คิดอัตราชั่วโมงละ 60 บาท

ส่วนกลุ่มที่ร่ำรวยมีกำลังทรัพย์มากก็จะไม่รับเข้าดูแลในสถานดูแลนี้ เนื่องจากมีกำลังในการจัดหาผู้ดูแลส่วนตัว เบื้องต้นคาดว่าจะรองรับได้ไม่เกิน 15 คน คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เร็วๆ นี้ และได้เปิดมาแล้วกว่า 2 ปี ที่ผ่านมาได้ถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้

โดยในแนวทางมาตรฐานจะมีการระบุถึงส่วนประกอบที่จะต้องมีภายในสถานดูแลผู้สูงอายุ และข้อควรระมัดระวังต่างๆ โดยหากทำได้ตามมาตรฐานที่กรมกำหนด ก็จะออกเป็นเอกสารรับรองมาตรฐานให้สถานดูแลผู้สูงอายุนั้นๆ เพื่อเป็นการการันตีให้กับประชาชน

ซึ่งธุรกิจงานดูแลผู้สูงวัยในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม เพราะบุตรหลานหลายคนไม่ว่างที่จะดูแลในช่วงกลางวัน เนื่องจากต้องออกไปทำงานข้างนอกเลยต้องหวังพึ่ง สถานรับฝาก สว. (สูงวัย) เพื่อให้ดูแลผู้สูงวัยแทน แต่สำหรับผู้สูงอายุที่เกษียณหรือว่างไม่มีอะไรทำ เพราะลูกๆ ออกไปทำงาน จะให้นั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านเฉยๆ พวกท่านก็คงต้องเหงากันเป็นธรรมดา จึงได้มาใช้บริการสถานรับฝาก สว. (สูงวัย)

นอกจากนี้ทางสถานรับฝาก สว. (ผู้สูงวัย) ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรม โดยจะมีการอบรมการดูแลทั้งในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อในผู้สูงอายุ และการป้องกันการสำลักอาหาร เป็นต้น

คุณพูลไท กล่าวอีกว่า เป็นความท้าทายสังคมไทยอย่างมากกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2563-2573 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับอัตราเพิ่มของเด็กเกิดใหม่และคนวัยแรงงานที่ลดลง และไม่เพียงเป็นประเทศที่จะมีประชากรสูงวัยขึ้นเท่านั้น แต่ประชากรที่สูงอายุอยู่แล้วก็จะกลายเป็นสูงวัยมาก หรือเข้าสู่ภาวะชราภาพขึ้นไปด้วย ซึ่งหมายถึงโอกาสการเจ็บป่วย หรือมีภาวะทุพพลภาพก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ในเชิงวิชาการมีหลายสถาบันการศึกษากำลังศึกษาคิดหาแผนรับมือกับสังคมสูงวัยของประเทศ แต่ในแง่ของตัวบุคคลว่ากันตามจริงสถานการณ์การหาทางหนีทีไล่ และเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุยังตื่นตัวและกระจุกอยู่ที่ผู้ที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วจริงๆ เท่านั้น แต่สำหรับผู้อยู่ในวัย 30 กว่าๆ ในวันนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคิดเรื่องการเตรียมการรับมือกับสภาพสูงวัยของตนเองในอนาคต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชีวิตสูงวัยมีความซับซ้อนที่เรื่องราวมากมายที่ต้องบริหารจัดการ เพราะชีวิตสูงวัยก็เหมือนการเข้าสู่วงรอบใหม่ของวัฏจักรชีวิต เหมือนเราก้าวพ้นจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นวัยหนุ่มสาว จากวัยหนุ่มสาวเป็นวัยทำงาน และจากวัยทำงานก็จะเป็นวัยของผู้สูงวัย

คำว่า "สูงวัย" ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความเสื่อมถดถอยทางร่างกายเท่านั้น หรือความสามารถบางอย่างที่เคยมีในวัยหนุ่มสาวจะหดหายไป โดยเฉพาะความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการเดินเหิน การออกท่องเที่ยวเดินทาง ที่จะไม่เหมือนเดิม แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สังคมรอบตัวอีกด้วย

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่กายภาพ "บ้าน" ที่เคยอยู่อาศัยมา 30-40 ปี อาจไม่สามารถตอบโจทย์กับชีวิตในวัยนี้ ยิ่งถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นเดินเหินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น ประตู ทางเดิน หรือห้องน้ำของบ้านเดิมที่เคยอยู่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดคนดูแลที่หายากขึ้นทุกวันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงได้เปิดสถานรับฝาก สว. (ผู้สูงวัย) เพื่ออีกทางเลือกให้กับคนทำงานที่ไม่อยากปล่อยให้ผู้สูงวัยอยู่เพียงลำพัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook