ชาวนาอ่างทองไม่สน "โครงการปลูกข้าวโพดหลังนา" เดินหน้าปลูกข้าวต่อเนื่อง

ชาวนาอ่างทองไม่สน "โครงการปลูกข้าวโพดหลังนา" เดินหน้าปลูกข้าวต่อเนื่อง

ชาวนาอ่างทองไม่สน "โครงการปลูกข้าวโพดหลังนา" เดินหน้าปลูกข้าวต่อเนื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

31 ต.ค. 2561 ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เร่งนำรถดำนาข้าวในผืนนากว่า 9 ไร่ เพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตนารอบแรกไปแล้วเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

แม้รัฐบาลจะพยายามในการที่จะขอความร่วมมือเกษตรกร โดยการจัดโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาเพื่องดการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง แต่ชาวนาในพื้นที่จังหวัดอ่างทองไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับประโยชน์และเพิ่มภาระในการทำการเกษตรมากขึ้น

นายกมล ชวดสุดคิด อายุ 66 ปี ชาวนารายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนเองทำนา 9 ไร่ จริงๆ ก็อยากเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา แต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมโครงการเนื่องจากเกรงว่าจะประสบปัญหาในเรื่องการเพาะปลูก เพราะรถพรวนดินหรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็หายาก

รวมถึงตลาดในการจำหน่ายสินค้า โดยเราไม่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกข้าวโพดจึงลงมือปลูกข้าวต่อดีกว่า แม้จะเสี่ยงกับภาวะภัยแล้งแต่ก็มีบ่อบาดาลที่เตรียมไว้แล้ว

ด้านนายเดชา มะลิทอง เกษตรกรที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการส่งเสริมของรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่า ในส่วนนาข้าว 25 ไร่ของตนขณะนี้ปลูกข้าวหอมมะลิอยู่และจะเก็บเกี่ยวในต้นปีหน้า

ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวก็จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาเพราะว่าข้อกำหนดของรัฐบาลไม่ได้ให้การช่วยเหลือในเรื่องของเมล็ดพันธุ์หรือเงินชดเชย เป็นการนำแปลงข้าวโพดไปกู้เงินกับสถาบันการเงินของรัฐ

ซึ่งชาวนาหลายคนไม่ได้ต้องการเป็นหนี้อีกจึงไม่มีคนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในส่วนของตนมีตลาดในการรองรับอยู่แล้วจึงไม่จำเป็น จริงๆ หากรัฐบาลจะช่วยเหลือก็น่าจะสนับสนุนเช่นปีที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์

นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดอ่างทองเปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดอ่างทองไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดรวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่พร้อม ส่งผลให้ชาวนาไม่สนใจในการที่จะร่วมโครงการดังกล่าว

ซึ่งหากพื้นที่ไหนมีน้ำเพียงพอชาวนาก็จะเลือกทำนา แต่ในส่วนที่มีปัญหาเรื่องน้ำก็เตรียมปลูกพืชหลากหลายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุน

โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดอ่างทอง 8,500 ไร่ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งโครงการนี้น่าจะให้ประโยชน์กับชาวนาในพื้นที่มากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook