ญี่ปุ่นตอบโต้จีน ด้วยการซ้อมรบ "เรือดำน้ำ" ในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก!

ญี่ปุ่นตอบโต้จีน ด้วยการซ้อมรบ "เรือดำน้ำ" ในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก!

ญี่ปุ่นตอบโต้จีน ด้วยการซ้อมรบ "เรือดำน้ำ" ในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงเมื่อไม่นานนี้ว่า กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นได้ดำเนินการซ้อมรบที่ทะเลจีนใต้บริเวณที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับเหล่าชาติสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน

การซ้อมรบครั้งนี้เพื่อฝึกความพร้อมในการต่อต้านการโจมตีของเรือดำน้ำในภาคปฏิบัติ รวมถึงการซ้อมใช้เครื่องโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำของศัตรูด้วยระบบคลื่นเสียง โดยเรือดำน้ำคุโรชิโอะร่วมฝึกกับเรือรบญี่ปุ่น 3 ลำที่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์คางะร่วมอยู่ด้วย ในบริเวณน่านน้ำสากลของทะเลจีนใต้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ ซึ่งทางการจีนสร้างเกาะเทียมเป็นฐานทัพทางทหาร และอ้างว่าเป็นอธิปไตยของจีน พร้อมระบุว่า การซ้อมรบในครั้งนี้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะดำเนินการในน่านน้ำสากลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากน่านน้ำสากลมิได้เป็นสิทธิขาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับข้ออ้างของจีนตรงๆ ว่าทะเลจีนใต้เป็นของจีนแต่ผู้เดียวนั่นเอง

หลังเสร็จจากการซ้อมรบ เรือดำน้ำคุโรชิโอะได้จอดเทียบท่าที่ฐานทัพเรือคัมรานห์ ในจังหวัดแทงห์หว่า ภาคกลางของเวียดนาม เพื่อแสดงถึงความร่วมมือด้านการทหารระหว่างญี่ปุ่นกับเวียดนามโดยเป็นครั้งแรกที่เรือดำน้ำญี่ปุ่นจอดเทียบท่าในท่าเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเวียดนาม นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 (73 ปีมาแล้ว)

เรือดำน้ำคุโรชิโอะVietnam News Agencyเรือดำน้ำคุโรชิโอะจอดเทียบท่าที่ฐานทัพเรือคัมรานห์ ในเวียดนาม

ครับ! ปัญหาที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นที่ร่างโดยที่ปรึกษาทางทหารของนายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ผู้เป็นผู้ปกครองสูงสุดในการยึดครองญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมของญี่ปุ่นด้วยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก และต่อมาไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ นับแต่มีมติเห็นชอบตราเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม รัฐธรรมนูญกำหนดระบอบการปกครองแบบรัฐสภาและรับประกันสิทธิพื้นฐาน ภายใต้ข้อความของรัฐธรรมนูญ จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงเป็น “สัญลักษณ์แห่งรัฐและเอกภาพของประชาชน” และทรงมีบทบาทเฉพาะในพิธีการโดยไม่มีอำนาจอธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มักถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญสันติภาพ” มีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงว่าเป็นเพียงรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่สละสิทธิอธิปไตยในการก่อสงครามที่ระบุในมาตรา 9 และมีบทบัญญัติสำหรับอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยนิตินัยร่วมกับพระมหากษัตริย์

มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น เป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นที่ห้ามพฤติการณ์แห่งสงครามโดยรัฐ รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้อความดังนี้คือ
             1. โดยที่มีความมุ่งประสงค์อย่างแท้จริงในสันติภาพระหว่างชาติ โดยมีความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นพื้นฐาน ชนชาวญี่ปุ่นยอมสละอำนาจอธิปไตยในการทำสงครามไปตลอดกาล โดยให้ถือเป็นสิทธิสูงสุดแห่งชาติ กับทั้งยังละเว้นการคุกคามหรือการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างชาติ
             2. เพื่อบรรลุความมุ่งประสงค์ในวรรคก่อน ญี่ปุ่นจะไม่มีการธำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กับทั้งศักยภาพอื่นๆ ในทางสงคราม ไม่มีการรับรองสิทธิในการเป็นพันธมิตรในสงคราม

แล้วทีนี้ การซ้อมรบของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นครั้งนี้ในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงรอบด้าน ดูมันยังไง ๆ นะครับ เพราะปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นมีทหารประจำการจำนวน 247,157 คน งบประมาณทางการทหารปีนี้เป็นเงิน 46,100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นงบประมาณทางทหารสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก อาวุธยุทโธปกรณ์เพรียบพร้อมทันสมัยที่สุด   เพียงญี่ปุ่นยังไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินเท่านั้น แต่ก็มีเรือบรรทุกเครื่องบินปีกหมุนอยู่ 4 ลำ แบบว่าพร้อมทำสงครามได้เลย แต่เห็นว่ามีกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นโดยเฉพาะมาตรา 9 นี่แหละในพ.ศ. 2563 คืออีก 2 ปีข้างหน้า ก็ต้องคอยดูกันละครับ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ญี่ปุ่นตอบโต้จีน ด้วยการซ้อมรบ "เรือดำน้ำ" ในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook