ต้านไม่อยู่! น้ำทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจน่าน เร่งสูบน้ำออกก่อนท่วมเมือง

ต้านไม่อยู่! น้ำทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจน่าน เร่งสูบน้ำออกก่อนท่วมเมือง

ต้านไม่อยู่! น้ำทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจน่าน เร่งสูบน้ำออกก่อนท่วมเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้ำไหลทะลักเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองน่านแล้ว ในพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนบ้านดอนแก้ว บ้านดอนศรีเสริม และ บ้านสวนตาลล่าง เทศบาลเมืองน่าน เร่งสูบน้ำออกเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้างเข้าท่วมตัวเมืองทั้งหมด

เช้านี้ (19 ส.ค.) ระดับน้ำแม่น้ำน่าน อยู่ที่ 8.20 เมตร ลดลงจากเมื่อวานกว่า 20 เซนติเมตรแล้ว แต่หลังพนังกั้นน้ำน่านบริเวณบ้านดอนแก้วเกิดรอยรั่วพังเสียหาย ทำให้มวลน้ำทะลักไหลเข้าสู่เขตเทศบาลเมืองน่าน โดยเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจในชุมชนบ้านดอนแก้ว บ้านดอนศรีเสริม และบ้านสวนตาลล่าง ซึ่งขณะนี้น้ำยังไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย ชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร ทางเทศบาลเมืองน่าน ต้องเร่งสูบน้ำออกจากเขตเศรษฐกิจเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง ซึ่งตอนนี้มีตลาด 2 แห่ง ถูกน้ำท่วมแล้ว คือ ตลาดตังจิตนุสร และ ตลาดราชพัสดุ พ่อค้า-แม่ค้า ต้องนำของขึ้นมาขายบนถนนหน้าตลาดแทนไปก่อน

นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ลงสำรวจพื้นที่บ้านดอนแก้ว เขตเทศบาลเมืองน่าน หลังพนังกั้นน้ำเสียหายเกิดช่องโหว่กว้างกว่า 1 เมตร ทำให้มวลน้ำในแม่น้ำน่านทะลักเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองน่านอย่างรวดเร็ว และไหลเชี่ยวกรากที่บ้านดอนแก้ว-เมืองเล็น-ท่าช้างบางส่วน หนักสุดระดับน้ำสูงกว่า 1.30 เมตร ที่บ้านสวนตาลล่าง และบ้านดอนศรีเสริม ซึ่งขณะนี้เทศบาลเมืองใช้วิธีสูบน้ำเร่งระบายออก ต่อสู้กับมวลน้ำไม่ให้ไหลเข้ามาเติม และขยายวงกว้างไปมากกว่านี้

ขณะในพื้นที่อำเภอท่าวังผา น้ำท่วมยังวิกฤติ ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านหนองม่วง-ดอนตัน ตำบลศรีภูมิ และ บ้านสบหนอง ตำบลตาลชุม ชาวบ้านกว่า 600 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่นำอาหาร และ น้ำดื่มเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2561 ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รวม 35 อำเภอ 122 ตำบล ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,252 ครัวเรือน 13,425 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย และสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด

แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเมืองน่าน อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง อำเภอเวียงสา และอำเภอทุ่งช้าง รวม 50 ตำบล พะเยา น้ำไหลหลากและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ รวม 25 ตำบล มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เชียงราย น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่จัน รวม 22 ตำบล และ ลำปาง น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังเหนือ อำเภองาว อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม รวม 13 ตำบล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook