ชาวบ้านอ่างทองผวา "ประตูระบายน้ำยางมณี" พัง หวั่นเกิดน้ำท่วม ชลประทานเร่งแก้ไขด่วน

ชาวบ้านอ่างทองผวา "ประตูระบายน้ำยางมณี" พัง หวั่นเกิดน้ำท่วม ชลประทานเร่งแก้ไขด่วน

ชาวบ้านอ่างทองผวา "ประตูระบายน้ำยางมณี" พัง หวั่นเกิดน้ำท่วม ชลประทานเร่งแก้ไขด่วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 16 สิงหาคม 2561 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทองและอำเภอใกล้เคียงต่างเดินทางมาตรวจสอบบริเวณประตูระบายน้ำยางมณี ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

หลังทราบข่าวประตูระบายน้ำยางมณีพังเสียหายเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา โดยหลายคนวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำแม่น้ำน้อยใน อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าประตูระบายน้ำซึ่งมีบานประตูเหล็กขนาด 6 เมตร จำนวน 4 บาน พังเสียหายไป 1 บาน ทำให้น้ำเหนือประตูระบายน้ำที่มีระดับสูงกว่าท้ายประตูกว่า 3 เมตรไหลลงสู่ด้านท้ายอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่ยังมีสลิงขนาดใหญ่ดึงบานประตูไม่ให้หลุดออกจากตัวโครงสร้าง

ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่าทราบข่าวว่าประตูระบายน้ำพังจึงรีบมาดูตนเองอยู่บริเวณเหนือประตูระบายน้ำคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่นักแต่ชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำก็เดินทางมาเฝ้าดูและพูดคุยกันว่ากลัวน้ำจะท่วม

ด้านนายรวินทร์ กลิ่นศรีสุข ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณีเปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวชำรุดไป 1 บาน ซึ่งได้ประสานไปยังสำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาทนำรถเครนและเครื่องมือหนัก รวมถึงแผ่นสต๊อปล๊อกเข้าซ่อมแซมในช่วงเย็นวันนี้

ซึ่งบริเวณด้านหน้าประตูจะมีช่องสำรองเตรียมไว้ใส่อยู่แล้ว ส่วนกรณีชาวบ้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบ จึงขอเรียนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเพราะมีประตูระบายน้ำที่เหลืออีก 3 บานจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้

รวมถึงประสานประตูระบายน้ำบรมธาตุ ชันสูตร ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปให้ลดการระบายน้ำและประสานให้ประตูระบายน้ำผักไห่ ซึ่งอยู่ท้ายน้ำยกบานประตูระบายสู่เจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าหากสามารถซ่อมแซมชั่วคราวเสร็จในวันนี้ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับประตูระบายน้ำยางมณี เป็นประตูทดน้ำ 1 ใน 4 ของแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ผ่านประตูน้ำบรมธาตุ และประตูระบายน้ำชันสูตรที่ จ.สิงห์บุรี

ก่อนผ่านประตูระบายน้ำยางมณีที่ อ.โพธิ์ทอง และไปออกเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำผักไห่ ถือเป็นประตูระบายน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของลุ่มแม่น้ำน้อยในการบริหารจัดการน้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook