รมต.สธ.อาเซียนร่วมประกาศสู้หวัด2009

รมต.สธ.อาเซียนร่วมประกาศสู้หวัด2009

รมต.สธ.อาเซียนร่วมประกาศสู้หวัด2009
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ร่วมประกาศสู้ภัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เสนอองค์การอนามัยโลกเรื่องการเข้าถึงวัคซีนป้องกันอย่างเท่าเทียม

(8พ.ค.) ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม. นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ( H.E. Dr. Surin Pitsuwan ) เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วย นายแพทย์ฟรานซิสโก ที. ดูเก้ ที่ 3 ( H.E. Dr. Francisco T. Duque Ⅲ ) รัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 นายเปยิน ดาโต๊ะ สุยอย ออสมาน ( H.E. Pehin Dato Suyoi Osman ) รัฐมนตรีสาธารณสุขบรูไน นายแพทย์มัม บันเฮียง ( H.E. Dr. Mam Bunheng ) รัฐมนตรีสาธารณสุขกัมพูชา นายสุปารี สิติ ฟาดิลาห์ ( H.E. Supari Siti Fadilah ) รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย

นายแพทย์ปอนเมฆ ดาลาลอย ( H.E. Dr. Ponmek Dalaloy ) รัฐมนตรีสาธารณสุขลาว ดาโต๊ะ สรี เตียง ไลเลียว ( H.E. Dato' Sri Tiong Lai Liow ) รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย นายแพทย์บาลาจิ สาดาสิวัน ( H.E. Dr. Balaji Sadasivan ) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ นายเตรีย ง็อก เหงียน ( H.E. Trieu Quoc Nguyen ) รัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนาม

นายวิทยา แก้วภราดัย ( H.E. Mr. Witthaya Keawparadai ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉิน จู ( H.E. Dr. Chen Zhu ) รัฐมนตรีสาธารณสุขจีน นายแพทย์ทาคาโอะ วาตานาเบ้ ( Dr. Takao Watanabe ) รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น และนายแพทย์ลี ดุกยอง ( Dr. Lee Dukhyoung ) ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านนโยบายควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการและครอบครัว เกาหลีใต้ ร่วมกันแถลงผลการประชุมเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ในภูมิภาคอาเซียน

การประชุมครั้งนี้ประสบ ผลสำเร็จ ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 เป็นโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชากรในภูมิภาค ที่มีรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ซึ่งทุกประเทศต้องมีการตื่นตัว และมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งในการควบคุมการระบาด ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นในเรื่องการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การล้างมือ การจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ซึ่งจะช่วยลดการบาดของโรคนี้ได้อย่างดี

สำหรับ มาตรการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หากพบผู้เดินทางที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจต้องให้ชะลอการเดินทาง และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมมีมติให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการที่จะควบคุมป้องกันโรคไข้หวัด ใหญ่ ใน 6 เรื่อง ดังนี้

1.จัดเตรียมแผนระดับชาติเพื่อควบคุม เฝ้าระวังการติดต่อระหว่างคนสู่คน และในสัตว์ 2.ปฏิบัติตามมาตรการของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังที่รวดเร็วและตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ 3.จัดซ้อมแผนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสื่อสาร เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก และผลกระทบทางสังคม

4.จัดระบบตรวจ คัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกนอกประเทศในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ รวมทั้งตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศ โดยใช้คำว่า " พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ " แทนคำว่า " ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ " เพื่อลดผลกระทบการท่องเที่ยวและการค้า

5.ร่วมกันจัดตั้งระบบคลัง ยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นของภูมิภาคอาเซียน บวก 3 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ 6.จัดระบบการเข้าถึงยาต้านไวรัส รวมทั้งยาที่จำเป็น เวชภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ซึ่งจะทำให้ระบบการดูแลรักษามีประสิทธิภาพ

สำหรับความร่วมมือใน ระดับภูมิภาค 13 ประเทศ ได้มีมติร่วมมือกันใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การเปิดสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดระหว่างประเทศ เพื่อการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2.จัดตั้งทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วระหว่างประเทศ สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประเทศข้างเคียงได้ทันที หากมีการร้องขอ

3. การตรวจวินิจฉัยเพื่อการยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 4.การศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ทางด้านสารพันธุกรรม อาการป่วย ระบบการดูแลรักษา เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือโรคระบาดใหม่ เช่นเดียวกับโครงการเฝ้าระวังโรคประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โครงการศูนย์ความร่วมมือวิจัยโรคติดเชื้อกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะทำให้ระบบการสาธารณสุขที่จะดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพของประชากรใน ภูมิภาคมีความยั่งยืนและเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอให้องค์การอนามัยโลกจัดประชุมเรื่องการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้ หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของการผลิตวัคซีนในระดับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเสมอภาค ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ในวันที่18-22 พฤษภาคม 2552 นี้ และขอให้องค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ สนับสนุนด้านการเงินในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสำรองคลังยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook