“หมูป่าอะคาเดมี” ดาราชายขอบกับสิทธิที่พร่าเลือน

“หมูป่าอะคาเดมี” ดาราชายขอบกับสิทธิที่พร่าเลือน

“หมูป่าอะคาเดมี” ดาราชายขอบกับสิทธิที่พร่าเลือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชีวิตของ ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน หนึ่งในสมาชิกทีม ‘หมูป่าอะคาเดมี’ คือภาพแทนของเด็กชายขอบจำนวนมากที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย เมื่อตอนที่อายุได้ 6 ปี อดุลย์ต้องหนีจากภัยสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลพม่าเข้ามายังประเทศไทย ครอบครัวของเด็กชายลักลอบส่งตัวเขาเข้ามาโดยหวังไว้อย่างเต็มเปี่ยมว่าเด็กชายจะได้รับการศึกษาที่จะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าสมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่ไม่รู้หนังสือและต้องมีชีวิตอยู่อย่างข้นแค้น หลังจากที่ข้ามมายังฝั่งไทย ครอบครัวของอดุลย์ได้ทิ้งเขาไว้ที่หน้าโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในอำเภอแม่สาย ก่อนจะขอให้บาทหลวงและภรรยาช่วยดูแล ที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพราะในเขตปกครองตนเองของชาวว้า ไม่มีสถานที่ใดที่จะช่วยให้ความรู้กับเด็กชายได้ อีกทั้งการอยู่ในพม่าต่อไปเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก เพราะเด็กผู้ชายอาจถูกดึงตัวไปเป็นสมาชิกของหน่วยรบท้องถิ่น

>> “น้องอดุลย์” เด็กชาติพันธุ์เมียนมา เจ้าของเสียงตอบโต้นักดำน้ำอังกฤษ

>> ทึ่งไปอีก! ครูประจำชั้นเผย "หมูป่าอดุลย์" พูดได้ 4 ภาษา

ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน หนึ่งในสมาชิกทีม ‘หมูป่าอะคาเดมี’ Sanookด.ช.อดุลย์ สามอ่อน หนึ่งในสมาชิกทีม ‘หมูป่าอะคาเดมี’

โลกได้รู้จัก อดุลย์ ครั้งแรกผ่านภาพวิดีโอคลิปขณะที่เด็กชายกำลังทำหน้าที่เป็นล่ามสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมทีมของเขากับนักดำน้ำชาวอังกฤษที่เดินทางเข้าไปในถ้ำเพื่อช่วยเหลือ เด็กชายมีความสามารถทางด้านภาษาที่หลากหลายทีเดียว เขาสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ไทย พม่า จีนและว้า แม้ว่าจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขาดแคลนตั้งแต่ยังเล็ก แต่อดุลย์ก็ไม่เคยที่จะละเลยคุณค่าของการศึกษา เขาเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมที่โรงเรียนบ้านเวียงพาน ในอำเภอแม่สาย สถานที่ซึ่งหลายคนรู้จักดีในฐานะที่เป็นแหล่งรวมชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ผลการเรียนและทักษะทางด้านกีฬาทำให้เด็กชายได้ทุนเรียนและค่าอาหารกลางวันฟรี สำหรับที่โรงเรียนบ้านเวียงพานเอง มีนักเรียนจำนวนราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเด็ก ‘ไร้รัฐ’ และอีกครึ่งเป็นลูกหลานของชนกลุ่มน้อย พวกเขาไม่ถูกรับรองว่าเป็นประชากรของประเทศใดเลย ไม่ว่าจะพม่าหรือไทย

อดุลย์ ไม่ใช่ ‘คนไร้สัญชาติ’ หรือ ‘คนไร้รัฐ’ เพียงคนเดียวในทีมหมูป่า แต่ยังมีเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน ได้แก่  "มาร์ค" มงคล บุญเปี่ยม และ "ตี๋" พรชัย คำหลวง รวมถึง "โค้ชเอก" เอกพล จันทะวงษ์ ที่ต้องเจอกับชะตากรรมเดียวกัน ชีวิตของโค้ชเอกมีจุดเริ่มต้นคล้ายกันกับชีวิตของอดุลย์ จากเดิมที่เคยเป็นลูกหลานของชาวฉานในพม่า เมื่อต้องสูญเสียครอบครัวไปตั้งแต่ยังเล็ก โค้ชเอกจึงเลือกที่จะเดินเข้าสู่ทางธรรมโดยการบวชเป็นพระอยู่หลายปี นี่เป็นตัวเลือกเดียวสำหรับเด็กกำพร้าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อีกทั้งยังถูกจำกัดให้เป็นคนชายขอบเนื่องจากตัวตนของพวกเขาไม่ถูกรับรองในทางกฎหมาย

>> กระทรวงมหาดไทย เตรียมขอสัญชาติไทยให้ โค้ชเอกและเด็กทีมหมูป่า

‘คนไร้รัฐ’ เหล่านี้มักจะถูกจำกัดในเรื่องของการเดินทาง การทำงาน และสิทธิอื่นๆ ทำให้ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ อ้างอิงจาก UNHCR ไทยมีจำนวนคนที่ไร้สัญชาติอย่างน้อยราว 440,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในพม่า นักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าจำนวนของคน ‘ไร้รัฐ’ ที่แท้จริงอาจสูงถึงสามล้านคน กระนั้นก็ตาม การที่รัฐบาลไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 ทำให้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่จะช่วยรับรองการเข้ามาและให้ความช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยอย่างเป็นระบบ จากผลการสำรวจโดยองค์กร Save the Children ในอังกฤษ ระบุว่าปัจจุบันเด็กๆ ลูกหลานของผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯและกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกล่อลวงโดยกลุ่มค้ามนุษย์หรือถูกบังคับให้เป็นแรงงานราคาถูก

นอกจากเรื่องของสิทธิที่ถูกจำกัดแล้ว กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในอดีต ภาครัฐมักจะใช้มาตรฐานทางกฎหมายต่อคนกลุ่มนี้แบบเดียวกับที่ใช้กับ ‘แรงงานต่างด้าว’ ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย คือใช้วิธีการจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกลับประเทศต้นทาง แต่ในกรณีของผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีเพื่อเอาชีวิตรอดจากการสู้รบซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยเหตุเพราะเรื่องของปากท้อง ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่สามารถกลับประเทศต้นทางของตัวเองได้ เพราะนั่นหมายถึงการต้องเอาชีวิตของคนทั้งครอบครัวไปเสี่ยงกับ ‘ความตาย’ พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างล่องลอยระหว่างสองประเทศและต้องจำทนมีชีวิตอยู่ในเงามืด

อย่างไรก็ตาม รัฐไทยก็ไม่ได้เพิกเฉยในเรื่องนี้ เห็นได้จากการเข้าร่วมในภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็ก (CRC) ทำให้เรื่องของการจดทะเบียนเกิดพัฒนามากขึ้น อีกทั้งยังมีการออกนโยบายและกฎหมายที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง รวมถึงมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการจำแนกประเภทคนเข้าเมืองเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาในเรื่องของการค้ามนุษย์ และเพื่อที่จะช่วยให้กลุ่ม ‘คนไร้รัฐ’ สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา บริการสาธารณสุข และการลงทะเบียนเกิดได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ทว่าเรื่องนี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เหตุเพราะนโยบายในการลงทะเบียนเป็นประชาชนของรัฐไทยมีเงื่อนไขที่เคร่งครัด งานเอกสารส่วนใหญ่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ยากต่อการเข้าถึงของชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้หนังสือ อีกทั้งการนำมาปรับใช้โดยให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นเป็นอะไรที่จำเป็นต้องใช้เวลา ทำให้ ‘คนไร้รัฐ’ จำนวนมากต้องอยู่ในสภาพที่ปราศจากเอกสารรับรองตัวตนใดๆ เป็นเวลานาน อ้างอิงจากตัวแทนขององค์กร Save the Children นอกจากนั้นประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็ยังถือว่ามีปัญหาอยู่มาก จากข้อมูลของ สันติพงษ์ มูลฟอง ประธานมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ระบุว่าขั้นตอนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บริหาร หรือไม่ก็อยากเห็นหนังสือสั่งการเสียก่อน

กระแสของสังคมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเด็นเรื่อง ‘คนไร้รัฐ’ กลายเป็นประเด็นด้านลบในสายตาของใครหลายคน แม้ว่าจะมีหลายองค์กรที่พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ เหตุเพราะมันเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับปัญหาเรื่อง ‘ผู้ลี้ภัย’ จากสงครามที่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ความขัดแย้งนี้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านโลกออนไลน์เมื่อชาวโรฮิงญา หนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ต้องเผชิญกับการเบียดขับจากรัฐบาลพม่า ต้องล่องเรือเพื่อหลบหนีจากการสังหารหมู่มายังประเทศไทย สารพัดความคิดเห็นด้านลบต่อผู้ลี้ภัยสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามหน้าเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวใหญ่ๆ หลายสำนักในไทย โดยส่วนใหญ่มักจะยืนกรานว่าไทยยังไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลคนเหล่านั้น เพราะแม้แต่คนไทยเองก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะจำกัดจำเขี่ย นี่จึงเป็นปัญหา ‘เตี้ยอุ้มค่อม’ ที่เกินความสามารถในการจัดการของรัฐไทย

 หลากหลายความมคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง 'ผู้ลี้ภัย'BBC Thaiหลากหลายความมคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง 'ผู้ลี้ภัย'

ในขณะที่น้องๆ ในทีมหมูป่าอะคาเดมีกำลังอยู่ในความสนใจของกระแสสังคม สื่อหลายสื่อออกมาระบุว่าทางคณะรัฐบาลอาจจะมีมติให้สัญชาติแก่เด็กๆ และตัวของโค้ชเอกซึ่งเป็น ‘คนไร้รัฐ’ ทว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายยังกังวล เหตุเพราะกรณีของนายหม่อง ทองดี (น้องหม่อง) อดีตเด็กชายไร้สัญชาติที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นออกปากว่าจะแต่งตั้งให้เด็กชายเป็นยุวทูตประจำกระทรวง และจะให้ทุนจนเรียนถึงระดับปริญญาเอก อีกทั้งจะช่วยเหลือในเรื่องการขอสัญชาติไทย แต่จนถึงตอนนี้น้องหม่องก็ยังเป็นคนไร้สัญชาติอยู่เช่นเดิม

ในขณะที่โลกยังคงให้ความสนใจกับเรื่องราวอุบัติภัยที่ถ้ำหลวง ปัญหาเรื่อง ‘คนไร้รัฐ’ กลายเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง เราได้เห็นว่ามีหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน พยายามที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่า ‘ดาราชายขอบ’ ทว่าสิ่งที่สังคมเราควรตั้งคำถามคือสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวได้จริงหรือไม่? หรือเป็นการช่วยอย่างฉาบฉวยโดยที่ไม่ได้พยายามจะแก้ปัญหาเรื่องระบบการทำงานของรัฐซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริง? เพราะหากเป็นเช่นนั้น เด็กๆ ในทีมหมูป่าและโค้ชอาจจะต้องกลับไปอาศัยอยู่ในเงามืดต่อไปพร้อมกับปัญหาเรื่อง ‘คนไร้รัฐ’ ที่กลายเป็นกระแสที่จืดจางไปตามเวลาของสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook