รายงานพิเศษ : สสช.เสนอแนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสำรวจพบธุรกิจทั่วประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

รายงานพิเศษ : สสช.เสนอแนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสำรวจพบธุรกิจทั่วประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เสนอแนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสำรวจพบธุรกิจทั่วประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวและช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รายละเอียดติดตามได้จากรายงาน ในการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปีของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. โดยในไตรมาส 1-4 ของปี 2551 ได้ดำเนินการสำรวจตัวอย่างรวม 4,441 สถานประกอบการทั่วประเทศ พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2551 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2550 ร้อยละ 6.2 และชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2-4 ร้อยละ 4.5, 3.8 และ 2.8 ตามลำดับ โดยธุรกิจแต่ละประเภทมีรายรับเพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาส 1-4 ไม่เกินร้อยละ 13.0 สำหรับธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 13.0 ในขณะที่ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น ส่วนธุรกิจค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 1-4 มียอดขายชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาส 3 เหลือร้อยละ 2.9 เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ระหว่างไตรมาส 1-4 กิจการเกือบทุกขนาดมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ ขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 8.6) ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 6.4) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 6.2) สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 นั้น สถานประกอบการร้อยละ 29.8 รายงานว่าเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ทำให้มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น และอีกร้อยละ 27.0 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก ในไตรมาส 1 - 4 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาส 3 เหลือเพียงร้อยละ 0.7 โดยกิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ส่วนสาเหตุที่รายรับลดลง สถานประกอบการร้อยละ 33.3 รายงานว่าเนื่องจากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง ด้านธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร พบว่า ในไตรมาส 1 - 4 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 4 มีรายรับชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.6 ในไตรมาส 3 เหลือร้อยละ 3.7 อย่างไรก็ตามกิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการขนาดเล็ก (คนทำงาน 1 - 15 คน) มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 17.0 รองลงมาคือกิจการขนาดใหญ่ (คนทำงานมากกว่า 200 คน) มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ร้อยละ 15.2 ส่วนสาเหตุที่รายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 35.4 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว และมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 35.0 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นกิจการขนาดกลาง (คนทำงาน 51 - 200 คน) มีรายรับลดลงในไตรมาส 1 - 2 ร้อยละ 0.9 และ 2.6 ตามลำดับ สาเหตุที่รายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 13.3 รายงานว่าเนื่องจากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง ในส่วนของธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน พบว่า ในไตรมาส 1 - 3 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 3 มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 10.2 แต่ไตรมาส 4 กลับชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.7 ขณะที่กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 1 - 4 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 รายรับชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาส 3 เหลือร้อยละ 2.3 เช่นเดียวกับธุรกิจการบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีรายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 เหลือร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีกยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 3 และ 4 มีสินค้าคงเหลือลดลงร้อยละ 3.8 และ 4.6 ตามลำดับ แต่การขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง มีสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส ดังนั้น ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 1 - 4 จึงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก ซึ่งช่วงไตรมาส 3 - 4 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้รายรับชะลอตัวลงในไตรมาส 4 เหลือเพียงร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายงานว่าปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากต้นทุนและราคาสินค้าที่ยังคงสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ในส่วนของความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากหน่วยงานของรัฐและข้อเสนอแนะ พบว่า จากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง ทำให้ภาคเอกชนและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นและส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงควรเร่งรัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย การกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนหามาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุน รวมทั้งส่งเสริมด้านการตลาดแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook