กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 จังหวัดผลิตขยะต่อวันมากที่สุด

กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 จังหวัดผลิตขยะต่อวันมากที่สุด

กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 จังหวัดผลิตขยะต่อวันมากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะโดยเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่วนกรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 จังหวัดผลิตขยะต่อวันมากที่สุด

วันนี้ (14 ต.ค.60) หลังเหตุการณ์น้ำท่วมขังหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ คลี่คลาย ภาพที่เผยแพร่ออกมาในโลกออนไลน์ คือ เศษขยะที่เกลื่อนอยู่ตามถนนและฟุตปาธ ดังนั้น ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี จะพาไปดูข้อมูลขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น

จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่แถลงเรื่อง “สถานการณ์มลพิษ ประจำปี 2559” เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เกี่ยวกับสถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ขยะมูลฝอยชุมชน ในปี 2559 ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.04 ล้านตัน (หรือประมาณ 74,073 ตันต่อวัน) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 190,000 ตัน (ร้อยละ 0.7)  โดยเป็นขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร 4.20 ล้านตัน และใน 76 จังหวัด 22.84 ล้านตัน โดย 5 จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ ขอนแก่น  โดยปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะโดยเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

ส่วนการจัดการในปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,777 แห่ง มี 4,545 แห่ง ที่ให้บริการเก็บขนนำไปกำจัด เป็นจำนวน 13.6 ล้านตัน (ร้อยละ 50 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น)  โดยถูกกำจัดในสถานที่กำจัดอย่างถูกต้องจำนวน 9.59 ล้านตัน หรือร้อยละ 36  และถูกกำจัดที่สถานที่กำจัดไม่ถูกต้อง (เผากลางแจ้ง เทกองทิ้งบ่อดินเก่า/พื้นที่รกร้าง) จำนวน 11.69 ล้านตัน หรือร้อยละ 43  ส่วนการคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มีเพียง 5.76 ล้านตัน หรือร้อยละ 21

สำหรับ “สถานการณ์ของเสียอันตราย” ในปี 2559 มีของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ 3,512,069 ตัน จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ของเสียอันตรายจากชุมชน กากอุตสาหกรรม และมูลฝอยติดเชื้อ

โดยของเสียอันตรายจากชุมชนมีปริมาณ 606,319 ตัน ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน (ร้อยละ 65) และที่เกิดขึ้นในครัวเรือน 213,249 ตัน (ร้อยละ 35) เช่น แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย

ส่วนกากอุตสาหกรรมอันตรายมีปริมาณ 2,850,000 ตัน โดย 1,880,000 ตัน หรือร้อยละ 65 ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่มูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณ 55,750 ตัน ที่เกิดจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน คลินิก สถานพยาบาล สถานพยาบาลสัตว์ ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 75 โดยการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในอนาคต กรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศที่ต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการทั้งการลด การเกิด ณ แหล่งกำเนิด การคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน เพิ่มศักยภาพการเก็บขนและกำจัด จัดให้มีสถานที่รวบรวมและกำจัดของเสียอันตรายชุมชน วางระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน สร้างความรับผิดชอบและความตระหนักของทุกภาคส่วน การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประสานกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ ในการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อ

นอกจากนี้ คพ. ยังได้ระบุถึงแนวทางการจัดการซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า ภาครัฐได้จับมือกับภาคีเครือข่ายด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการจัดการของเสียอันตราย ในการนำร่องแนวทางการจัดการซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจะมีการกำหนดการเรียกคืน จุดรับคืน และสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนในการนำซากโทรศัพท์เคลื่อนที่มาคืน โดยกำหนดเป้าหมายในการเก็บคืนซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ได้ 9 ล้านเครื่อง ภายในปี 2560

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ //earththailand.org/th/article/3158

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook