ฝ่ายค้านยื่นถอดถอน5รมต.ต่อประธานวุฒิแล้ว

ฝ่ายค้านยื่นถอดถอน5รมต.ต่อประธานวุฒิแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : พีระพันธุ์นำทีม 15 ส.ส.เพื่อไทยยื่นถอดถอน 5 รมต ต่อประธานวุฒิแล้ว ตามคาด กษิต ไม่รอด เมื่อเวลา 15.35 น. ที่ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา 2 นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ได้นำคณะส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 15 คน เป็นตัวแทนส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ร่วมลงชื่อจำนวน 172 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ ถอดถอน 1.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง 2.นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง 3.นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ 4.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และ5.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

โดยนายพีรพันธุ์กล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 เพื่อขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ถอดถอน รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง เนื่องจากรัฐมนตรีที่มีรายนามข้างต้นเป็นผู้กำกับควบคุม ดูแล บริหารราชการในกระทรวง ทบวง กรม ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 เป็นผู้ยึดมั่นในมาตรฐานด้านจริยธรรมอย่างยิ่งยวด ต้องปฏิบัติหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย แต่บุคคลดังกล่าวข้างต้นกลับฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

โดยมีการกระทำที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น และฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเอกสารที่ยื่น ถอดถอน ได้ระบุถึงพฤติกรรมของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยนายประดิษฐ์ถูกระบุว่ามีพฤติการณ์ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับพวกอีกหลายคน กระทำการที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยการรับเงินบริจาค สนับสนุนพรรคการเมืองที่รับบริจาคจากบริษัทมหาชน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับนายกรณ์ ได้มีพฤติการณ์ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ กับพวกอีกหลายคนมีพฤติกรรมส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการ จากกรณีที่นายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ ได้ร่วมกันร้องขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้แก่ ทรูมูฟ เอไอเอส และดีแทค ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของบุคคลทั้งสอง ให้ส่งข้อความที่เป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ไปยังผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวตอนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการส่งรวมแล้วหลายล้านบาท แต่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายก็มีความยำเกรงอำนาจรัฐของบุคคลทั้งสอง จำยอมให้บริการฟรี จึงถือว่าได้รับประโยชน์จากการให้บริการอันเป็นการต้องห้ามตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประกาศของป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงว่าการให้ผู้ได้รับข้อความส่งข้อความกลับ จะทำให้ผู้ให้บริการมีรายได้ครั้งละ 3 บาท ซึ่งเมื่อรวมเงินได้จากการสั้งนั้นเป็นเงินหลายล้านบาท ถือเป็นรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการนำเงินได้ดังกล่าวไปแจ้งเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งนายกรณ์ ในฐานะรมว.คลัง ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงย่อมทราบข้อเท็จจริงดี แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเอื้อประโยชน์ให้บริษัททั้ง 3 ไม่ต้องเสียภาษี ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากรขาดรายได้จากการไม่ได้รับชำระภาษีดังกล่าว

ในส่วนของนายกษิต มีพฤติการณ์ที่ขาดสำนึกความเป็นประชาธิปไตย มีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีการที่นายกษิต ได้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล และเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ ยังขาดจิตสำนึก ไร้วุฒิสภาวะ และรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยการกล่าวต่อหน้าเอกอัคราชทูตประเทศต่าง ๆ ว่า การชุมนุมยึดสนามบินเป็นเรื่องสนุก อาหารดี ดนตรีไพเราะ

ซึ่งการกระทำของนายกษิต เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการบริหารราชการแผ่นดิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2538 มาตรา 6 ทวิและมาตรา 11

นอกจากนี้ยังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรวจสอบกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวพรมแดนติดต่อกันได้ทำถนนรุกล้ำเข้ามายึดครองใช้พื้นที่ของประเทศไทยเป็นทางขึ้นไปปราสาทเขาพระวิหาร จึงส่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 และมาตรา 119 ในฐานะที่เป็นรมว.ต่างประเทศกลับไม่รักษาไว้ซึ่งดินแดนของประเทศ เป็นการกระทำเพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ภายใต้อธิปไตยของต่างประเทศ

สำหรับนายชวรัตน์และนายบุญจง น่าสังเกตว่าฝ่ายค้านได้ระบุพฤติกรรมการกระทำผิดร่วมกัน คือ 1. นายชวรัตน์มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ในกรณีการแต่งตั้งโอนย้ายนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้งนายวิชัย ศรีขวัญ รองปลัดฯ มาดำรงตำแหน่งปลัดฯแทน แต่ครม.กลับมิได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายพีรพล ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวครม.จึงได้มีมติให้ถอนมติครม.เดิมที่เห็นชอบการแต่งตั้งนายวิชัย เป็นปลัดฯประกอบกับการแต่งตั้งครั้งนี้ปรากฏชัดว่าไม่ได้ยึดหลักกฎหมาย หลักคุณธรรม ความรู้ความสามารถ แต่เป็นการเข้าแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาสั่งการร่วมด้วย เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่านายวิชัยเป็นคนสนิทและเป็นคน จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเดียวกับนายสุเทพ นอกจากนี้การแต่งตั้งโอนย้ายนายพีรพล ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ ส่อว่าขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เป็นการย้ายหรือโอนย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม

2. นายชวรัตน์ยังมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่ได้ไปปฏิบัติราชการที่ จ.อุดรธานี แต่กลับแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบารให้เจ้าหน้าที่ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนายชวรัตน์เป็นหัวหน้าพรรค นำใบสมัครสมาชิกพรรคไปให้ประชาชนมาสมัคร เป็นการเบียดบังเวลาราชการ และใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง

3. นายชวรัตน์และนายบุญจง มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266 มาตรา 281 และ 283 โดยแม้นายชวรัตน์จะมีอำนาจกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงมหาดไทย และนายบุญจงจะได้รับมอบหมายให้สั่งหรือปฏิบัติราชการ ในการกำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญให้ดูแลเท่าที่จำเป็นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายบุญจงได้ก้าวก่ายแทรกแซงการบริหารงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยยอมให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งราชการเข้าแทรกแซงการจัดงบประมาณในส่วนของเงินอุดหนุน ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามกฎหมายไม่มีอำนาจกระทำได้

นายบุญจงได้ร่วมกับคณะของรมว.มหาดไทย ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธาน ได้สั่งชะลอการส่งรายละเอียดโครงการการขออนุมัติงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 1,517 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 1,237 ล้านบาท ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าว

นอกจากนี้นายชวรัตน์และนายบุญจงยังได้เข้าแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเงินจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท โดยสั่งการให้ส่งโครงการดังกล่าวซึ่งมีกว่า 3 พันโครงการไปขอความเห็นชอบจากนายศักดิ์สยามและนายบุญจงก่อน

ทั้งที่โครงการเหล่านั้นพร้อมจะเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาได้แล้ว จึงส่อว่าการสั่งการดังกล่าวขัดต่อพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ

นอกจากนี้ทั้งนายชวรัตน์และนายบุญจง ยังได้สั่งการให้นำเงินมาตั้งจ่ายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไว้ก่อน เพื่อเตรียมให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนใหม่ที่ตนเองได้แต่งตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดูแล เพื่อจะได้เข้าไปสั่งการจัดสรรเงินได้ด้วย

นายประสพสุข กล่าวว่าวุฒิสภาจะเร่งพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ของเอกสารและคำร้องโดยด่วน และในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 13 มี.ค.นี้ตนจะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบด้วย คาดว่าจะตรวจสอบไม่เกิน 15 วันตามกฎหมาย จะครบกำหนดในวันที่ 26 มี.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง กมธ.เข็นกฎเหล็กคุมส.ส.หัวงูจ้องงาบขรก.สาว รายงาน-จนตรอก มาร์คปัดเลื่อนวันซักฟอกชี้ไร้เกมการเมือง ประจำวันที่16มี.ค. ศึกน้ำลายชิงเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook