จากความสูญเสีย..สู่ความมุ่งมั่น ของช่างปราณีตศิลป์ เพื่อถวายงานในหลวง ร.9

จากความสูญเสีย..สู่ความมุ่งมั่น ของช่างปราณีตศิลป์ เพื่อถวายงานในหลวง ร.9

จากความสูญเสีย..สู่ความมุ่งมั่น ของช่างปราณีตศิลป์ เพื่อถวายงานในหลวง ร.9
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

นายมงคล กฤชนาวิน หรือ อุ๊ นายช่างปราณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร วัย 46 ปี เขาได้มาเป็น 1 ใน 3 ช่างจากสำนักช่างสิบหมู่ที่ได้ถวายงานจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ หรือหีบพระบรมศพจันทน์ และพระโกศจันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

เขาเริ่มพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการถวายงานครั้งนี้ว่า ทุกคนที่มีโอกาสถวายงานจัดสร้างหีบพระบรมศพจันทน์ และพระโกศจันทน์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้ความรู้สึกโศกเศร้าระบายออกมาเป็นน้ำตาขณะทำงาน 

noozup3

หลายครั้งที่ภาพของประชาชนที่เข้ามาดูงานแล้วร้องไห้เพราะระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พลอยทำให้เขาเกือบเสียน้ำตาไปด้วย แต่ต้องอดกลั้นเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไป แม้จะใจหายเป็นระยะเมื่อเห็นหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนว่างานพระราชพิธีฯใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว

นายช่างเล่าต่อด้วยเสียงสั่นเครือว่า "ที่บอกว่างานนี้พี่ต้องทำด้วยการระงับจิตใจ อดกลั้นอย่างที่สุด เพราะว่านอกจากเราจะต้องทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราสะเทือนใจ เสียใจของเราพออยู่แล้ว ช่วงที่เริ่มเข้ามาทำที่สนามหลวง เริ่มจัดงานระบบ งานเรื่องจิตอาสาตอนเดือนกุมภาพันธ์ พอทำไปได้ถึงเดือนมีนาคม คุณพ่อก็เสียชีวิต แล้วคิดดูว่าเราต้องทำงานนี้แบบอดกลั้นขนาดไหน นี่คือที่สุดของชีวิตแล้ว"

noozup13

เขาเปิดใจกับ NoozUP ต่อว่า รู้สึกปลื้มใจเมื่อเห็นพ่อปลาบปลื้มที่เขาได้มาถวายงานครั้งนี้ แต่กลายเป็นว่าพ่อได้เห็นเขาทำตรงนี้เพียงครู่เดียว ในวันที่พ่อเสียชีวิต เขาทำงานอยู่ที่สำนักช่างสิบหมู่ เมื่อได้ทราบข่าวร้ายจากที่บ้าน เขาตกใจและเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ตัดสินใจโทรกลับไปบอกที่บ้านให้พี่ๆ รับพ่อออกจากโรงพยาบาลก่อน ส่วนตัวเขาจะตามไปหลังประชุมงานพระเมรุมาศเสร็จ

เขาเล่าว่าที่ตัดสินใจเช่นนั้นเพราะที่ผ่านมาพ่อพูดเสมอว่าไม่ต้องไปเยี่ยมพ่อ พ่อไม่อยากให้ทิ้งงาน เขาเชื่อว่าถ้าพ่อบอกได้ คงบอกเขาว่า "ลูกยังไม่ต้องกลับมา" 

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำใจ แต่สุดท้ายเขาก็ผ่านช่วงนั้นมาได้เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 และทุกคนในครอบครัว

noozup10

ย้อนไปในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 วันนั้นเขาไปทำงานที่สำนักช่างสิบหมู่ แถวศาลายาตามปกติ นายมงคลบอกว่าวันนั้นบรรยากาศในที่ทำงานไม่ค่อยดี บรรยากาศรอบตัวดูหม่นครึ้มตั้งแต่เช้า จนกระทั่งใกล้ถึงเวลากลับบ้านก็ได้ยินว่าหัวหน้ากลุ่มงานทุกกลุ่มถูกเรียกประชุม

"ตอนนั้นใจเราเริ่มไม่ดี พอกำลังจะเดินไปเซ็นชื่อกลับบ้าน ก็เดินสวนกับผู้ใหญ่ที่เพิ่งประชุมเสร็จ พี่เขาพูดว่า 'น้องเดียวเตรียมตัวถวายงานนะ' ได้ยินเท่านั้นก็ขับรถกลับบ้านไม่ได้ สภาวะวินาทีนั้นคือต้องขอนั่งพักอยู่เป็นชั่วโมง คนในสำนักช่างสิบหมู่ก็นั่งร้องไห้กัน บางคนก็นั่งนิ่งๆ"

noozup12

การได้ถวายงานจัดสร้างหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต เพราะเขาเห็นว่าตัวเองเป็นเพียงช่างธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งตอนที่ได้รู้ว่าต้องมาทำงานถวายครั้งนี้ยังไม่รู้สึกปีติ ตรงกันข้าม เขากลับคิดว่าไม่อยากมาทำ เพราะไม่อยากให้งานนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อได้รับหน้าที่ก็ต้องทำอย่างสุดความสามารถ

โดยตั้งแต่เริ่มแรก หน้าที่รับผิดชอบของเขาคือช่วยงาน อาจารย์พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ เขียนโครงสร้างเหล็กหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ จากนั้นก็ได้รับแบบลายไทยมา ก็ต้องแกะแบบดูแลเรื่องลาย โดยยังไม่ทราบเลยว่าลายนั้นจะอยู่ตรงส่วนไหน ขั้นต่อไปคือดูว่าส่วนไหนต้องใช้ไม้สีเข้มหรือสีอ่อน ขนาดเท่าไร แล้วจึงสั่งไม้ตัวอย่างมาทดลองฉลุและประกอบซ้อนไม้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องให้จิตอาสา

ส่วนที่ยากในตัวงานคือการประกอบขึ้นโครงจริง เพราะต้องใช้ระบบความคิดล่วงหน้าตั้งแต่เห็นแบบ เนื่องจากงานครั้งนี้เขาไม่ได้มีหน้าที่เพียงงานฉลุไม้ แต่ต้องมองภาพทั้งหมดของงาน

noozup11

"เราต้องมองลายและโครงสร้างตอนเป็นแค่กระดาษให้เป็นภาพจริง เพราะถ้าไม่คิดแบบนี้จะมีบางลายที่ไม่สามารถประกอบลงบนโครงได้ แล้วจะเกิดปัญหาภายหลัง จึงต้องคิดก่อนว่าลายนี้ต้องอยู่ตรงนี้แล้วจะเป็นยังไง จะติดได้หรือไม่ เพื่อปรับแก้ลายให้ลงตัวและสมบูรณ์แบบที่สุด" นายช่างเล่าถึงขั้นตอนในการทำงาน

และเมื่อมาถึงขั้นประกอบชิ้นส่วนเข้ากับโครงเหล็กของพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ เขาต้องนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่จิตอาสาฉลุและซ้อนไม้เป็นลวดลายเสร็จแล้ว มาติดเข้ากับโครงเหล็ก ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องแก้ปัญหาหน้างานทุกชิ้น เนื่องจากต้องติดชิ้นส่วนให้ลงตัวที่สุด ไม่เช่นนั้นชิ้นต่อไปจะมีปัญหา

นายช่างปราณีตเล่าให้ NoozUP ฟังต่อว่า ก่อนจะมาถวายงานครั้งนี้ เขาเคยถวายงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นเขามีหน้าที่ฉลุอย่างเดียว และยังไม่ได้เป็นข้าราชการ หลังจากนั้น ทางกรมศิลปากรรู้ว่าเขามีทักษะด้านงานฉลุไม้และเป็นช่างมุก จึงให้เขามาเป็นลูกจ้างโครงการงานซ่อมประตูมุกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือวัดราชบพิธ

noozup8

พอทางสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดรับข้าราชการ เขาก็มาสมัครโดยใช้ประสบการณ์ที่เป็นช่างมุก จนได้บรรจุเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553

ที่ต้องใช้ประสบการณ์เข้าสมัครเป็นเพราะ เขาจบการศึกษาปริญญาตรีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ราชภัฎนครราชสีมา เมื่อเล่าถึงตรงนี้ นายมงคลรีบบอกว่า เด็กๆ และผู้ปกครอง ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน เขาเคยลงเรียนด้านจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่น และมีความเป็นศิลปินอยู่มาก จึงเลือกเรียนแต่วิชาศิลปะ ไม่สนใจเรียนวิชานอกคณะ จึงทำให้เรียนจิตรกรรมไม่จบ

แต่ด้วยใจรักในสาขานี้ จึงได้เที่ยวตระเวนเรียนวิชาศิลปะไปทั่ว ตรงไหนที่ได้ยินว่ามีอาจารย์เก่งๆ อยู่ก็จะเดินทางไปเรียน จนวันหนึ่งไปพบกับอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ให้มาเรียนช่างมุก เพราะช่างปั้น ช่างสี มีคนสนใจมากแล้ว แต่ช่างมุกไม่ค่อยมี ตอนนั้นเขาชอบงานไทยอยู่แล้ว เลยได้วิชาความรู้ด้านงานช่างมุก งานฉลุมามาก

noozup9

นายมงคลเล่าต่อว่า เขาชอบศิลปะมาตั้งแต่ยังเล็กทั้งที่ในครอบครัวไม่มีใครทำงาน หรือชื่นชอบศิลปะเป็นพิเศษเลย "ที่บ้านเคยถามตั้งแต่เด็กๆ ว่าเป็นศิลปินแล้วจะทำอะไร ตอนนั้นก็ตอบที่บ้านไม่ได้ รู้แต่ว่าชอบและมีความสุข" จนกระทั้งวันที่เขาออกจาก ม.รังสิต ไปเรียนเฉพาะทางก็ทำให้พ่อกับแม่เริ่มเข้าใจ และเริ่มเห็นว่าเขามีทางไปได้แล้ว ซึ่งหลังจากได้มาเป็นข้าราชการก็รู้สึกอยากมีความรู้เพิ่มเติม จึงได้เข้าศึกษาปริญญาโทภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

noozup15

นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงหลักในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาและในอนาคตที่ยึดมั่นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีใจความว่า "คนเราทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตัวเอง และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หลังจากนี้จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีต่อไป หากเรายึดถือแบบนี้เราก็จะมีความตั้งใจที่จะทำงานแต่ละชิ้นให้ออกมาดีตลอด"

noozup16

พระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์เป็นฝีมือของสำนักช่างสิบหมู่และจิตอาสากว่า 100 ชีวิต โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 9 เดือน สร้างเป็นลายเครือเถาครุฑ ในการประดับตกแต่งพระหีบฐานรองพระโกศจันทน์เป็นครั้งแรก โดยมีครุฑทั้งหมด 132 องค์ ลวดลายเครือเถาครุฑ 1 องค์ ใช้ชิ้นไม้จันทน์มาประกอบมากถึง 99 ชิ้น

ขณะที่พระโกศน์จันทน์มีเทพพนมประกอบลวดลายจงกลบนพระโกศ ทั้งหมด 64 องค์ รวมใช้ชิ้นไม้จันทน์ประดับหีบฐานรองพระโกศจันทน์และพระโกศจันทน์มากถึง 41,000 ชิ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook