จ่าย2พันทำป่วน! รมต.ซดเกาเหลา ลงเอย ไพฑูรย์ ยอมจ่ายเป็นเช็ค

จ่าย2พันทำป่วน! รมต.ซดเกาเหลา ลงเอย ไพฑูรย์ ยอมจ่ายเป็นเช็ค

จ่าย2พันทำป่วน! รมต.ซดเกาเหลา ลงเอย ไพฑูรย์ ยอมจ่ายเป็นเช็ค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไพฑูรย์" หักหน้า"กอร์ปศักดิ์" ลั่นไม่สนจ่ายเช็ค เดินหน้าให้หัว 2,000 ผ่านธนาคาร รมว.คลัง เผยยังไม่สรุปวิธีชงจ่ายผ่านแบงก์กรุงไทยเชื่อลดต้นทุนรัฐ ล่าสุดยอมจ่ายเป็นจ่ายเช็ค


หลังจากนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจ ออกมาระบุว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพตามนโยบายรัฐบาลให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท รายละ 2,000 บาท ผ่านสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจ่ายเป็นเช็คแทนการจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนจะนำเงินที่ได้รับไปจับจ่ายซื้อของนั้น นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงแค่แนวคิดของนายกอร์ปศักดิ์เท่านั้น แต่ในฐานะที่กระทรวงแรงงานเป็นผู้ปฏิบัติจะยังคงเดินหน้าจ่ายเงินผ่านธนาคารต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่เหมาะสมและทำได้

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้กับนายกอร์ปศักดิ์ ซึ่งก็เข้าใจดี แต่นายกอร์ปศักดิ์อาจมองถึงเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ขณะที่ชี้แจงไปว่าการจ่ายเงินด้วยวิธีผ่านธนาคารน่าจะเหมาะสมที่สุดเพราะสามารถทำได้รวดเร็วกว่าการจ่ายด้วยเช็ค ส่วนที่เกรงว่าประชาชนที่ได้รับเงินไปแล้วจะไม่นำเงินไปใช้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ไม่ใช่คนที่มีเงินเก็บและจำนวนมากยังเป็นหนี้นอกระบบ ดังนั้นเมื่อได้รับเงินไปแล้วก็ต้องนำไปใช้จ่าย ยิ่งขณะนี้มีสถานประกอบการหลายแห่งต้องใช้มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือจ่ายเงินให้ลูกจ้างเพียง 75% ของเงินเดือน เพราะไม่มีคำสั่งซื้อสินค้า ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการชะลอการเลิกจ้าง ทำแบบนี้คนงานก็ไม่ตกงานและยังจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย รอจนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น กิจการก็เดินไปต่อได้ และ สปส.ไม่ต้องจ่ายประกันว่างงาน


"ผมคิดว่าทางที่ดีส่งเงินให้ถึงมือประชาชนโดยตรงอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ส่วนเขาจะนำไปใช้อะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่เราจ่ายเงินผ่านหลายมือเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการทุจริตด้วย ยิ่งไปติดต่อให้ห้างร้านลดราคา เดี๋ยวก็จะหาว่าเราต้องการค่าคอมมิชชั่นอีก ดังนั้นการจ่ายเงินแบบผ่านธนาคารผ่านระบบของ สปส.นี่แหละเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด" นายไพฑูรย์กล่าว

แหล่งข่าวจาก สปส.กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกอร์ปศักดิ์ไม่เคยมีหนังสือหรือคำสั่งใดๆ ที่แสดงเจตจำนงว่าต้องการให้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเช็ค ซึ่งผู้บริหารกระทรวงแรงงานและ สปส.ได้ศึกษาวิธีการจ่ายเงินแล้วพบว่า การจ่ายผ่านบัญชีธนาคารจะเหมาะสมและรวดเร็วที่สุด จึงเดินหน้าไปไกลแล้ว แต่นายกอร์ปศักดิ์ออกมาให้ข่าวว่าต้องการให้จ่ายเป็นเช็ค ทำให้เกิดความปั่นป่วนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน มีสอบถามกันเข้ามามากถึงความชัดเจน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากจำนวนผู้ประกันตนที่ได้รับความช่วยเหลือ 8.3 ล้านคน ซึ่งพบว่าผู้มีบัญชีธนาคารและ สปส.มีข้อมูลอยู่แล้ว 1.3 ล้านคน และขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งรวบรวมข้อมูลผู้ประกันตนที่มีบัญชีธนาคารแต่ยังไม่ได้แจ้ง สปส. ซึ่งตามเป้าหมายแล้วในวันที่ 26 มีนาคมนี้ สปส.จะจ่ายเงินงวดแรกได้ แต่จะจ่ายชุดใหญ่ในวันที่ 10 เมษายน จำนวน 6 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์โดยคาดว่าคนงานจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและจะได้นำเงินก้อนนี้ไปจับจ่ายใช้สอย ส่วนที่เหลือนั้นคาดว่าจะจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

"คงเป็นการเข้าใจผิดและกลัวว่าคนงานจะเอาเงินไปเก็บ จริงๆ แล้วคนงานทั้ง 8.3 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ 6,800 บาท ทุกวันนี้พวกเขายังต้องทำโอที ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บเงินไว้และที่น่าสนใจการจ่ายเงินเป็นเช็คจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เดิมที สปส.ได้ของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมให้ธนาคารกว่า 200 ล้านบาท แต่รัฐบาลให้เพียง 40 ล้านบาท ทำให้ สปส.ต้องไปต่อรองกับธนาคารให้คิดค่าธรรมเนียมตกหัวละ 5 บาท แต่หากจ่ายเป็นเช็คต้องเสียค่าธรรมเนียมหัวละ 6.50 บาท นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าส่งเอกสารใบตอบรับทางไปรษณีย์อีกหัวละ 25 บาท ดังนั้นรวมๆ แล้วการจ่ายโดยเช็คต้องใช้เงินอีกกว่า 200 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุดนายไพฑูรย์ยอมให้มีการเป็นจ่ายเช็คแล้ว

ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เงินจำนวน 2,000 บาท จะให้ผู้ประกันตนด้วยวิธีใดนั้นไม่สำคัญ แต่ยืนยันว่าผู้ประกันตนได้รับเงินถึงมืออย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ สปส.นำเงิน 24 ล้านบาท ไปติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น คงไม่สูญเปล่า เพราะระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนในอนาคต ทำให้ สปส.สามารถจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เล็งจ่ายผ่านแบงก์กรุงไทย

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการจ่ายเงิน 2,000 บาทให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะต้องพิจารณาหลายๆ วิธีการเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอวิธีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับเงินด้วยการใช้ฐานข้อมูลจาก สปส. และเลขประจำตัวประชาชนจากกรมการปกครอง จากนั้นให้ผู้มีสิทธิยื่นบัตรประชาชนที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อรับเงินสด 2,000 บาท ได้ทันที ซึ่งเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าการจ่ายเช็คที่ต้องมีค่าสั่งจ่ายเช็ค และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ และยังลดข้อครหาในการเอื้อประโยชน์ห้างร้านที่รับเช็คแทนเงินสดด้วย จึงจะนำวิธีการดังกล่าวไปหารือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกอร์ปศักดิ์ ต่อไป

"การจ่ายเงิน 2,000 บาทให้แก่ประชาชน เราต้องคำนึงถึงต้นทุนประกอบด้วย ซึ่งทางเลือกที่ธนาคารกรุงไทยเสนอมาก็เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ แต่คงต้องรับฟังดูหลายๆ วิธี โดยหากนำร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมเข้าสู่วุฒิสภาวันศุกร์หน้าก็คงมีขอเสนอแนะแนวทางอื่นๆ ก็จะนำมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าแนวทางใดเหมาะสมที่สุด และคงมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดเม็ดเงินจะต้องเข้าไปถึงมือประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยจริงและทำให้เกิดการสร้างรอบหมุนของเศรษฐกิจโดยเร็ว" นายกรณ์กล่าวและว่า หากมีเทคโนโลยีในการจ่ายเงินที่ง่ายและต้นทุนถูกกว่าการจ่ายเช็คก็จะรับไว้พิจารณา เพื่อลดการรั่วไหลของเงินได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกำลังตรวจสอบในส่วนของระบบอยู่ว่าดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ ด้วย

จวกแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ส่วน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงนโยบายการแจกเงิน 2,000 บาทว่า เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดเพราะงบกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทนี้ช่วยเหลือประชาชนได้เพียง 9 ล้านกว่าคน ขณะนี้อีก 23 ล้านคนไม่ได้รับการช่วยเหลือจึงเป็นการช่วยกลุ่มชนชั้นกลางไม่ได้ช่วยคนจนหรือคนตกงาน โดยมองว่าน่าจะนำงบประมาณไปใช้ในการจ้างงานมากกว่า เพราะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง รวมทั้งการทำโครงการต่างๆ นั้นมองว่ายังไม่เพียงพอและรัฐบาลนี้ตัดงบโครงการลงทุนสำคัญๆ ทิ้งไป เช่น โครงการถนนปลอดฝุ่น และการพัฒนาแหล่งน้ำ

"มองว่าปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวติดลบ 2-4% และมีคนว่างงาน 2.-25 ล้านคน การใช้งบประมาณแสนล้านเข้ามาแก้ปัญหาคงไม่เพียงพอ เพราะรายได้จากการส่งออกจะหายไป 7 แสนล้านบาท รายได้ท่องเที่ยวหายไป 3 แสนล้านบาท รวม 1 ล้านล้านบาท จึงมองว่าต้องอัดฉีดเงินเพิ่มเข้าไปมากกว่า 5 แสนล้านบาทถึงจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้" นายสุชาติกล่าว

แรงงาน-นักวิชาการต้านจ่ายเช็ค

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจ่ายเงินเป็นเช็ค เพราะจะเกิดความยุ่งยากในการใช้เงิน หากจะให้นำเช็คดังกล่าวไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่เข้าร่วมรายการเพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่นำเงินมาซื้อสินค้า

ทั้งนี้เมื่อให้เงินมาแล้วก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้ออะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะเก็บไว้เป็นค่าเทอมบุตรหลาน ค่าน้ำค่าไฟ หรือซื้อสินค้าตามร้านค้าหน้าบ้านก็ได้ เนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่ที่เงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท ทำงานตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และต้องจับจ่ายสินค้าในร้านค้าดังกล่าวมากกว่าศูนย์การค้า สิ่งที่นายกอร์ปศักดิ์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินก็สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากบางส่วนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารเดินทางไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อให้เข้าถึงเงินช่วยเหลือดังกล่าว และรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาในการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกันตน โดยให้ สปส.รับผิดชอบ ซึ่งการที่ระดับผู้นำของประเทศจะออกมาให้ข่าวอะไรต้องพิจารณาให้รอบคอบและชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนวิธีการไปมา ทำให้เสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย หรือว่ามีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกันตน

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์กรพัฒนาลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยวิธีที่รัฐบาลจะใช้เช็คจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน แทนวิธีการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สามารถตรวจสอบได้ และเข้าถึงผู้ประกันตนมากกว่า เพราะเพียงแค่กรอกแบบฟอร์ม แล้วแนบบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประกันสังคม ตรวจสอบตัวเลข 13 หลัก ก็จะสามารถตรวจสอบได้แล้วว่ามีสิทธิได้รับเงิน 2,000 บาทหรือไม่ เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการให้ผู้ประกันตนนำเงินจำนวน 2,000 บาท ไปใช้จ่ายเพื่อจะได้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ แต่จากข่าวที่ออกมาอาจทำให้ผู้ประกันตนสับสน ว่าจะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนวิธีใดกันแน่

ขณะที่ รศ.ดร.แล ดิลกวิทยารัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจ่ายเงินผ่านเช็คเป็นวิธีที่ยุ่งยาก เพราะบางคนไม่มีบัญชีธนาคารทำให้เป็นการยุ่งยากในการเปิดบัญชีเพื่อรับเงิน 2,000 บาทเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นรัฐบาลควรหาช่องทางที่เกิดความคล่องตัวในการใช้เงินมากที่สุด โดยไม่ควรให้สิทธิขาดไปอยู่ที่ร้านใดร้านหนึ่งเพราะจะทำให้เป็นการผูกขาดการซื้อสินค้า การจ่ายเงินควรจะเป็นในรูปแบบของเงินตรา เพราะจะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนสะดวก ดังนั้นรัฐควรหาช่องทางที่ลูกจ้างได้รับเงินจากนายจ้างเป็นประจำเช่นการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือจ่ายผ่านนายจ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกันตนเกิดความสับสนหากได้รับเงินผ่านช่องทางที่ยุ่งยาก ทั้งนี้ การที่ สปส.ต้องการที่จะโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เพราะเป็นช่องทางที่สามารถตรวจสอบได้ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีและสะดวกต่อการตรวจสอบในการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกันตน ส่วนในกรณีของการจ่ายเงินผ่านนายจ้างก็ควรที่จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้นายจ้างหักค่าบริการ หรือค่าหัวคิว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook