เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด! ตุ๋นกันเอง สูญกว่า 64 ล้าน

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด! ตุ๋นกันเอง สูญกว่า 64 ล้าน

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด! ตุ๋นกันเอง สูญกว่า 64 ล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์สาวแจ้งกองปราบฯ ถูกเพื่อนแพทย์ด้วยกัน หลอกลวงให้ร่วมลงทุนในบริษัททัวร์ มีคนเสียหายอีกเพียบ สูญกว่า 60 ล้านบาท

ช่วงบ่ายวันนี้ (16 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบังคับการปราบปรามว่า ร.ท.หญิงแพทย์หญิงนิจชา รุทธพิชัยรักษ์ แพทย์โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง พร้อมกลุ่มผู้เสียหายกว่า 10 คน แจ้งความกับตำรวจกองปราบปราม ในข้อหาฉ้อโกง หลังถูกว่าที่ น.ต.แพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง หลอกลวงให้ร่วมลงทุนในบริษัททัวร์ โดยคดีนี้มีผู้เสียหายเกือบ 40 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 64 ล้านบาท

ร.ท.หญิงแพทย์หญิงนิจชา กล่าวว่า ว่าที่ น.ต.แพทย์หญิงคนดังกล่าว เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยม โดยได้ชักชวนให้ร่วมลงทุนบริษัททัวร์และจองโรงแรมบริษัทของแฟนหนุ่มของว่าที่น.ต.แพทย์หญิงคนดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 6-18 ต่อเดือน ทำให้เพื่อนหลากหลายอาชีพร่วมลงทุนในอัตราที่แตกต่างกัน

โดยมีการลงทุนตั้งเเต่ 80,000 บาท ถึง 12 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากว่าที่ น.ต.แพทย์หญิงคนดังกล่าวมีอาชีพเป็นแพทย์สังกัดโรงพยาบาลชื่อดัง ทำให้มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งการลงทุนได้ผลตอบแทนสูง เพราะการลงทุนธุรกิจนี้ไม่เหมือนกับแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากไม่ต้องชักชวนสมาชิกเพิ่ม และไม่ได้รับผลตอบแทนในการชักชวนสมาชิกเพิ่มแต่อย่างใด

ร.ท.หญิงแพทย์หญิงนิจชา กล่าวต่อว่า สำหรับตนนั้นถูกชักชวนให้ลงทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 แต่ตัดสินใจลงทุนจริงเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเงิน 500,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีว่าที่ น.ต.แพทย์หญิงคนดังกล่าว ก่อนที่เดือนกันยายน 2559 จะได้ปันผล แต่ตนไม่ได้ถอนเงินออกมา แต่กลับเพิ่มยอดเงินร่วมลงทุนเพิ่มไป ซึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ถึง กุมภาพันธ์ 2560 ได้เงินคืนทุกเดือน รวมแล้วกว่า 300,000 บาท แต่ยังมีเงินที่ตนลงทุนค้างอยู่อีก 1 ล้านบาท

"กระทั่งเดือนมีนาคมไม่ได้รับปันผล จึงพยายามทวงถาม แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงอ้างว่าบัญชีถูกอายัด และไม่สามารถติดต่อได้ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปก็โทรไม่ติด พร้อมไปตรวจสอบที่บ้านและที่ทำงานไม่เจอตัวพบว่าลาพักร้อน จึงเชื่อว่าถูกหลอก จึงตัดสินใจรวมตัวกันเข้าแจ้งความในที่สุด"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจกองปราบปราม ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นก่อนแนะนำให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ. ) สำหรับคดีนี้นั้นผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ เนื่องจากมีอาชีพที่น่าเชื่อถือในสังคมไม่ต้องการเปิดเผยตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook