สรรพากรชี้ “ฤาษี” ต้องเสียภาษี หากเป็นการทำบุญได้รับยกเว้น

สรรพากรชี้ “ฤาษี” ต้องเสียภาษี หากเป็นการทำบุญได้รับยกเว้น

สรรพากรชี้ “ฤาษี” ต้องเสียภาษี หากเป็นการทำบุญได้รับยกเว้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สืบเนื่องจากคำถามของ เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ดำเนินรายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว”  ได้ไลฟ์เฟซบุ๊ก สัมภาษณ์ “ฤาษี มุนีเทพ” ประธานฤๅษีโลก ผ่านแฟนเพจ PPTV Thailand เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ รายได้ของฤๅษี ที่ปัจจุบันมีลูกศิษย์ที่นับถืออยู่มากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังถูกเชิญให้ไปประกอบพิธีต่าง ๆ หรือดูดวงชะตา โดยได้ค่าตัวประมาณ 150,000 บาทต่อวัน และถึงจะมีรายได้หลายบาท แต่ก็ไม่เคยจ่ายภาษีให้กับสรรพากร เพราะเงินที่ได้มาเป็นรายได้จากความศรัทธาของลูกศิษย์ 

ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ได้ตรวจสอบข้อมูลไปยังกรมสรรพากร พบว่า ตามกฎหมายประมวลรัษฎากรได้กำหนดว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และวิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ทั้งนี้ เมื่อบุคคลธรรมดา ทั้งประชาชนทั่วไป หากมีเงินได้ก็มีหน้าที่เสียภาษี  หรือแม้แต่พระภิกษุ นักบวช ฤาษี หากมีรายได้ก็ถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ ต้องมีหน้าที่เสียภาษีเช่นกัน เว้นแต่จะเป็นเงินที่ได้รับจากการทำบุญของประชาชนจะได้รับยกเว้นภาษีได้ เพราะเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 42(10) ที่ระบุว่า เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

อย่างไรก็ตาม หากเป็นรายได้มีลักษณะเป็น เงินเดือน จากหน้าที่การงานที่ทำ เช่น เงินเดือนที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัย หรือเงินที่ได้รับอุดหนุนจากทางงบประมาณแผ่นดิน ในส่วนนี้นั้นจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินได้ประเภทเงินเดือน) ซึ่งมีผลให้เงินได้ส่วนนี้ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะไม่ได้รับสิทธิยกเว้น

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงกรณีรายได้ของฤาษีต้องพิจารณาว่าเป็นรายได้มาจากส่วนใด เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบหรือพิสูจน์ให้แน่ชัด ว่าเป็นรายได้ที่รับมาจริง หรือเป็นรายได้ที่รับมาสม่ำเสมอหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากกรณีของพระภิกษุ เมื่อได้รับเงินจากการทำบุญของประชาชน และนำไปสร้างโบสถ์ ศาลา ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากนำไปใช้เกี่ยวข้องกับเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำเงินที่ได้รับไปดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ก็ต้องพิสูจน์และตรวจสอบรายได้ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ แต่ต้องดูจากวัตถุประสงค์ของผู้ให้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook