นายกฯแจงUNไทยน้อมนำดำรัสในหลวงจัดการน้ำ
นายกรัฐมนตรี แจงเวที UN ไทย น้อมนำพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แบบยั่งยืน ย้ำ ปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง -ถกเลขาฯUN ย้ำ เดินตามโรดแมป เร่งร่าง รธน. คาด เลือกตั้งในกลางปี60
ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเข้าร่วมประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) ครั้งที่ 70 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำ โดยระบุว่า ตลอดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้ช่วยให้ประชาชนทั่วโลก สามารถเข้าถึงน้ำและมีการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น และได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านน้ำคำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ น้ำเสีย พร้อมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาดำเนินการ โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558 - 2569) เพื่อวางกรอบการดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับประเทศ ตั้งเป้าให้ทุกหมู่บ้านกว่า 7,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคภายในปี พ.ศ. 2560 ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำทิ้งท้ายว่า น้ำคือชีวิต น้ำคือความอยู่รอดของมนุษยชาติ น้ำเกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และทุกคนในการบริหารจัดการน้ำ และใช้ทุกโอกาสเพื่อผลักดันให้น้ำเป็นกลไกสร้างความร่วมมือ เพื่อความกินดีอยู่ดี การเติบโตของเศรษฐกิจ ตลอดจนความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายกฯแจงUNไทยส่งเสริมเสมอภาคทางเพศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ระหว่างการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (POST 2015 Summit) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ และคำมั่นทางการเมืองของไทย ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี ว่า ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินงานด้านสตรีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 และได้ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงให้เป็นกำลังสำคัญ สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายอย่างสง่างาม รัฐบาลไทย มีนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า ที่ทำให้เยาวชนหญิงชายมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และสามารถบรรลุเป้าหมาย MDGs ในการขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาทุกระดับได้
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังได้ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ คุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน รวมทั้ง ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ตลอดจนย้ำว่า การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายต้องมีบทบาทสำคัญร่วมผลักดันให้เกิดเจตคติที่ดี นำไปสู่การยุติการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กด้วย
ประยุทธ์ถกเลขาUNย้ำไทยเดินตามโรดแมป
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือทวืภาคีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กับ นายบัน กี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติ ที่เชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีกับการครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติ เป็นปีที่ 70 ในปีนี้ โดยไทย พร้อมสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการฯและแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างแข็งขันต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนต รียังกล่าวถึง สถานการณ์การเมืองไทย โดยยืนยันว่า การดำเนินการต่าง ๆ ตามกรอบระยะเวลา (Roadmap) นั้น เป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติ ได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้นและจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. นั้น คสช. จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วันและจัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
นายกฯแถลงUNแก้เหลื่อมล้ำ ชูเขตศก.พิเศษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UN Summit to adopt the Post-2015 Development Agendas เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย และคนไทย ในการร่วมกับประชาคมโลก เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า ขอชื่นชม วาระการพัฒนาใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับคน โดยถือว่าคนเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด แต่มนุษย์คือ สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องเลือกอยู่อย่างยั่งยืนมุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียงและสมดุล ตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน ทำให้ไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง
ทั้งนี้ ยังกล่าวด้วยว่า โลกประสบความท้าทายเร่งด่วน คือ ความเหลื่อมล้ำ เพราะความยากจน การโยกย้ายถิ่นฐาน การแย่งชิงทรัพยากร เป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหามากมายในสังคม ดังนั้น การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาคและมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการบริการรัฐอย่างเท่าเทียม มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐด้วยหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส รวมทั้งการขจัดความทุจริตและระบบอุปถัมภ์
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าการขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นเฉพาะเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ด้วยการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียน สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่งภายใต้แนวคิดไทยบวกหนึ่ง ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือไตรภาคี และความร่วมมือนอกภูมิภาค เพราะเมื่อประชาชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนจะลดน้อยลงในที่สุด