ทิศทางประเทศไทย "ความเหลื่อมล้ำ" โจทย์ยากที่ต้องแก้ไข

ทิศทางประเทศไทย "ความเหลื่อมล้ำ" โจทย์ยากที่ต้องแก้ไข

ทิศทางประเทศไทย "ความเหลื่อมล้ำ" โจทย์ยากที่ต้องแก้ไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขอขอบคุณภาพจาก thaigov.go.th

ประเทศไทยจะเติบโต จะพัฒนาไปในทิศทางใดในอนาคตข้างหน้า ? เป็นโจทย์ที่ถูกตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการครั้งแรกผ่านการวางแผนระดับชาติมากว่า 50 ปี หลังจากมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า "แผนพัฒน์ฯ" ครั้งแรกเมื่อปี 2504 ปัจจุบัน เราใช้แผนที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนามาแล้ว 11 ฉบับ กำลังจะทำแผนฉบับที่ 12 เพื่อใช้ในปี 2560 - 2564

โดยเมื่อวานนี้ได้มีการประชุมประจำปีของหน่วยงานหลัก ในการจัดทำแผนดังกล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีวาระประเด็นสำคัญก็คือ "ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)"

ในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงการวางยุทธศาสตร์ของประเทศว่า 

"ยุทธศาสตร์วันนี้ต้องมองไปข้างหน้าอีก 20 ปี โดยต้องสอดคล้องทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพราะจะมีการแข่งขันมากขึ้น .......
.......การพัฒนาประเทศจะถูกล็อกด้วยกฎหมายกติกาต่างๆ จำนวนมาก ช่วงที่ผ่านมาเราก็ทำเฉยๆ ไว้ แต่พอรื้อออกมาจึงรู้ว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ได้ทำ ตอนนี้ก็ต้องมาเร่งแก้ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี..............
...........ทำอย่างไรเราจะอยู่ร่วมกันได้ ทุกอย่างก็ต้องด้วยกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ทำให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน แต่จะให้ร่ำรวยเท่ากันคงยาก

ในขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ......

......การวางแผนยุทธศาสตร์จะมีการวางทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เชื่อว่าหากสามารถทำได้ตามแผนจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 10 ปี......

.......จะมุ่งเน้นให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตมุ่งเน้นด้านการศึกษาและสังคม

จากทิศทางตามที่นายกรัฐมนตรีและ เลขาฯสภาพัฒน์ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ต้องการพัฒนาให้ประเทศหลุดพ้นจากฐานะประเทศผู้มีรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง ....? ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

หรือพอจะสรุปประเด็นสำคัญของแผนพัฒน์ฉบับที่12 คือ เน้น รายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้ว เรื่องดังกล่าว เป็นเป้าหมาย เป็นทิศทางของประเทศที่ถูกวางไว้มาโดยตลอด

ในแง่ของรายได้ ในภาพรวมถือว่า ประเทศได้พัฒนาในเรื่องของการสร้างรายได้ขยับขึ้นมาโดยตลอด ตามการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้นมาโดยตลอดการพัฒนาที่ผ่านมา แต่ที่สำคัญและเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่มีการแก้ไขจัดการยากที่สุดก็คือ... "การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม"

การลดความเหลื่อมล้ำ และ การสร้างความเป็นธรรม ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก อยากที่ทราบกันว่าในเชิงโครงสร้างของรายได้ของประเทศไทยเราอยู่ในโครงสร้างที่เรียกว่า "คนรวยกระจุก คนจนกระจาย"

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนรวย ได้อาศัยความได้เปรียบทั้งในเรื่องของทุน การเข้าถึงทรัพยากร โอกาสต่างๆ สั่งสม สะสมความมั่งคั่งขยายทุนขยายโอกาสสร้างความมั่งคั่งขึ้นไปไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกัน ทุนร่ำรวยเหล่านี้ก็ดูดเอาทรัพยากรทั้งมวลเอาเขามาไว้ในมือตัวเอง สร้างเครือข่ายสร้างอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องการใช้ทรัพยากร การสร้างระเบียบ ที่เอื้ออำนวยต่อตัวเองไว้มากมาย ทำให้ยิ่งได้เปรียบในการแสวงหารายได้ แสวงหาความร่ำรวยยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องการการแก้ไข อย่างจริงจังและต้องใช้อำนาจการตัดสินใจที่ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวม อย่างแท้จริง

มีปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างเช่นในเรื่อง การค้าที่เป็นธรรม เราอาจจะกล่าวอ้างได้ว่า เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรี ใครใคร่ค้าๆ ใครใคร่ขายๆ แต่แท้จริงแล้ว การแข่งขันในทางการค้ายังมีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ร้านค้าปลีก

ที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ ถูกปล่อยให้มีการขยายตัวอย่างมากมาย ไม่มีขีดจำกัด รุกเข้าไปทุกถิ่น เบียดร้านค้าท้องถิ่นที่เป็นทุนเล็กทุนน้อยจนถอยร่นล้มหายตายจากไปจำนวนมาก กลุ่มทุนเหล่านี้มีความได้เปรียบในทุกทางเพราะเป็นเครือข่ายของทุนที่มีการผูกขาดสินค้าตั้งแต่ขั้นต้นที่เรียกว่าต้นน้ำยันปลายน้ำ และยังขยายการบริการที่ครอบคลุมในทุกแขนงสร้างความได้เปรียบในทุกๆ ด้าน

ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด..?

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook