นักการเมือง ต้องเปลี่ยน ต้องเป็นตัวแทนของประชาชน อย่างแท้จริง

นักการเมือง ต้องเปลี่ยน ต้องเป็นตัวแทนของประชาชน อย่างแท้จริง

นักการเมือง ต้องเปลี่ยน ต้องเป็นตัวแทนของประชาชน อย่างแท้จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงที่ออกมาบ่นโวยวาย เสียงดังหลัง สปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ที่ผ่านมา มากที่สุด คือ "นักการเมือง" และเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่แปลกในประเทศนี้ เพราะ ก่อนหน้าการลงมติ ก็บรรดา นักการเมืองเหล่านี้แหละที่ออกมาโพทนา ให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเสีย หากผ่านในชั้น สปช.มาได้ จะไปรณรงค์ในการลงประชามติของประชาชนให้คว่ำรัฐธรรมนูญเสีย

ครั้นพอผลการลงมติของ สปช.ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือ คว่ำร่างไป นักการเมือง เหล่านั้น ก็ออกมาโวยวาย ให้เหตุผลต่างๆนานาโยนความผิดต่างๆ และเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบ และเผยธาตุแท้ของตัวเองออกมาคือ เร่งนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ที่ตัวเองคิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุดมาใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

การแสดงจุดยืนกลับไปกลับมา ยึดเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเสมือนเรื่องปรกติของบรรดานักการเมือง ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่เคยรับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่นำมาซึ่งความเสื่อมถอย ทำให้คนไม่ศรัทธานักการเมือง ในปัจจุบัน

สิ่งที่สะท้อนถึงความไร้ศรัทธาต่อนักการเมือง ก็คือ ประชาชนทั่วไปไม่รู้สึกถึงความสูญเสียหรือ ออกอาการเฉยๆ ต่อ การร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไป เป็นผลให้ รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในการบริหารงานตามขั้นตอนอย่างที่นักกฎหมายแจง คือ อย่างน้อย อีก 20 เดือน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กระแสความรู้สึกเฉยๆ หรือ แอบยินดี ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะกลับไปสู่แนวทางตามระบอบประชาธิปไตย ตามที่ฝ่ายนักวิชาการบางส่วน และนักการเมืองเรียกร้องต้องการนั้น น่าสนใจยิ่ง เป็นเพราะอะไรถึงเกิดภาวะแบบนี้ขึ้นได้

ใช่หรือไม่ ที่ผ่านมา บทบาทของนักการเมืองไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับประชาชนได้เลย แม้ว่าพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยจะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดกว่า 80 ปีที่ผ่านมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีบางช่วงบางตอน ระบอบทหารเข้ามากุมอำนาจ แต่สังคมไทยได้เรียนรู้และต่อสู้ในเรื่องระบอบประชาธิปไตยมานาน

ในช่วงหลังหากนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2535 จนถึงรัฐประหาร 2549 และ รัฐประหาร 2557 ที่ผ่านมา เรามีช่วงของการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เป็นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยมาไม่น้อย เราผ่านการเลือกตัวแทนให้เข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เราเลือก "นักการเมือง" ให้เป็นตัวแทนของเราในการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติ มานับ 10 ปี ก่อนมีการรัฐประหาร

แต่สิ่งที่นักการเมือง ที่มักอ้างตัวว่า เป็นตัวแทน เป็นสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชน มักทำให้ประชาชนผิดหวัง สร้างความเสื่อมศรัทธา ทำลายความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นในตัวเอง ในระบอบลงไปทุกวัน เราเห็นนักการเมือง เข้ามาแล้วไม่เคยรักษาสัญญาประชาคม เข้ามาแล้วแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง สร้างความเสียหายให้กับประเทศ

ล่าสุด เราถึงกับเห็นว่า นักการเมือง เข้ามาสร้างความขัดแย้ง สร้างความรุนแรง ความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราเห็นนักการเมือง ที่เป็นหัวหน้าของกลุ่มการเมือง นำ มวลชนบุกเผาทำลายข้าวของ เผาบ้านเผาเมือง เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เห็นการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน

สิ่งเหล่านี้หรือไม่ ที่ทำให้ ประชาชนเสื่อมถอยและไม่ศรัทธา นักการเมือง รู้สึก เขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองของบ้านเมืองได้เลย..?

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาจากการสำรวจของ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) ที่วิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) มีผลออกมาว่า ความนิยมความชื่นชอบของประชาชนต่อผู้นำ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ถึงมีความนิยมทิ้งห่างผู้นำทางการเมือง อย่าง อดีตนายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น

เป็นเรื่องน่าคิด ต่อไปในข้างหน้า ในการเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย "นักการเมือง" ที่เป็นตัวแทน ของการเข้ามาใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย จะเป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามาใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงหรือไม่...หากนักการเมืองยังยึดกับแนวทางเดิม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง และเมื่อเข้ามาแสวงหารผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องเหมือนเดิม

หากนักการเมือง ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ...หนทางในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไทยก็ยังคงห่างไกล แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าก็ตาม....

เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook