ความวิบัติจาก “ตรรกะวิบัติ”

ความวิบัติจาก “ตรรกะวิบัติ”

ความวิบัติจาก “ตรรกะวิบัติ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีปรากฏการณ์ทางสังคมการเมือง ที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อมีการสร้างคำขึ้นมาในสังคมการเมืองในช่วงนี้คือ "ตรรกะวิบัติ" โดยพยายามอธิบายถึง พฤติกรรมของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ออกมาให้ความเห็นหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆว่า เป็นการสร้าง "ตรรกะวิบัติ" ขึ้นมาในสังคมไทย

แล้วอะไรคือ "ตรรกะวิบัติ" ..? หากพิจารณาตามคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติหรือประดิษฐ์ขึ้นมา มาจากคำสองคือ ตรรกะ กับ วิบัติ ซึ่งผมจะพยายามสรุปความหมายของคำที่ถูกสร้างขึ้นมาว่า หมายถึง "ชุดความคิดที่อธิบายข้อเท็จจริงที่ผิดเพี้ยนที่ทำให้เกิดความฉิบหาย"

การอธิบายเรื่อง ตรรกะ เป็นเรื่องยากพอสมควร มีตัวอย่างที่พยายามค้นหาการอธิบายที่ง่ายๆมานำเสนอ ซึ่งไปพบจากการค้นในกูเกิลน่าสนใจทีเดียวลองดูตัวอย่างกันนะครับ

ตรรกะ คืออะไร?

"ในห้องเรียนวันหนึ่ง ไอสไตน์ถามนักเรียนว่า
" มีคนซ่อมปล่องไฟสองคน กําลังซ่อมปล่องไฟเก่า
พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟ
ปรากฏว่า คนหนึ่งตัวสะอาด
อีกคนตัวเลอะเทอะ เต็มไปด้วยเขม่า
ขอถามหน่อยว่า คนไหนจะไปอาบน้ำก่อน "

นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า
" ก็ต้องคนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควันสิครับ "

ไอสไตน์ พูดว่า
" งั้นเหรอ คุณลองคิดดูให้ดีนะ
คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน
เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน
ตัวเขาเองก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่ๆ เลย

ส่วนอีกคน เห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่า
ตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน
ตอนนี้ ผมขอถามพวกคุณอีกครั้งว่า
ใครที่จะไปอาบน้ำก่อนกันแน่ "

นักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยความตื่นเต้นว่า
" อ้อ ! ผมรู้แล้ว พอคนตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก
ก็นึกว่าตัวเองต้องสกปรกแน่ แต่คนที่ตัวสกปรก
เห็นอีกคนสะอาด ก็นึกว่าตัวเองไม่สกปรกเลย
ดังนั้นคนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่เลย
..... ถูกไหมครับ...."

ไอสไตน์มองไปที่นักเรียนทุกคน นักเรียนทุกคน
ต่างเห็นด้วยกับคําตอบนี้
ไอสไตน์ ค่อยๆ พูดขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล
" คําตอบนี้ก็ผิด ทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน
จะเป็นไปได้ไงที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก
นี่แหละที่เขาเรียกว่า " ตรรก " "
เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนําจนสะดุด
ก็จะไม่สามารถแยกแยะและหาเหตุผล
แห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้ นั่นคือ " ตรรก "

จะหาตรรกได้ก็ต้อง กระโดดออกมาจาก " พันธนาการของความเคยชิน "
หลบเลี่ยงจาก " กับดักทางความคิด "
หลีกหนีจาก " สิ่งที่ทําให้หลงทางจากความรู้จริง "
ขจัด " ทิฐิแห่งกมลสันดาน "

จะหา ตรรก ได้ก็ต่อเมื่อ คุณสลัดหมากทั้งหมด
ที่คนเขาจัดฉาก วางล่อคุณไว้

ข้อเขียนข้างบนมีการลอกต่อๆกันปรากฏในหลายกระทู้บนหลายเวปไซต์ ในเวลาจำกัดไม่สามารถค้นได้ว่า ใครเป็นคนนำเสนอและสรุปความเห็นไว้ ทำให้ไม่สามารถยกเครดิตให้กับคนเขียนได้ แต่ต้องถือเป็นข้อเสนอ และบทสรุปที่น่าสนใจ และสามารถนำมาอธิบาย การประดิษฐ์คำ "ตรรกะวิบัติ" ได้ดีทีเดียว

จะว่าไปแล้ว การสร้างคำ "ตรรกะวิบัติ" ก็เป็นการสร้างชุดความคิดขึ้นมาชุดหนึ่งของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการปิดล้อมความคิดของคนให้มองข้อเท็จจริงตามที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

การนำเสนอ "ตรรกะวิบัติ" จึงเป็นการประดิษฐ์ชุดความจริงชุดหนึ่ง ที่ต้องการปกป้องตนเองและพวกพ้อง ทำให้การนำเสนอข้อเท็จจริงอีกฝ่าย เป็นชุดความจริงที่ผิดเพี้ยน ไม่จริง เป็นการเสนอความจริงที่ทำให้เกิดความฉิบหาย โดยไม่ต้องการให้มีการสืบค้นข้อเท็จจริง ความจริง ขึ้นมาโต้แย้งเท่านั้น

ลองกลับไปดูเหตุการณ์ที่มีความใช้ตรรกะวิบัติ ปิดล้อมความจริงดูได้ในหลายเรื่อง แล้วลองตรึกตรองดูว่า เรากำลังถูกตรรกะวิบัติที่เขาสร้างขึ้นมาปิดล้อมความจริงหรือไม่ ไม่ว่านโยบายรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหาย หลายแสนล้าน? การเชิดชูนักโทษหนีคุกหนีคดีผ่านสื่อเพื่อสร้างพื้นที่ความทรงจำ ? ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้น่าสนใจยิ่ง หาก ชุดความคิดของคนที่สร้าง ตรรกะวิบัติเพื่อปิดล้อมความจริง เป็นชุดความคิดหลักที่ปิดล้อมสังคมได้จริง เมื่อนั้น ความวิบัติย่อมบังเกิดจากตรรกะวิบัติ อย่างแน่นอน...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook