ชาวพัทลุงหารายได้เสริมทำนาในทะเลสาบ
ชาวบ้านริมทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ใช้วิกฤติช่วงน้ำทะเลสาบลดลง ปลูกข้าวระยะสั้น
ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงริมทะเลสาบสงขลา ฝั่งจังหวัดพัทลุง ท้องที่ หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตออกเรือหาปลาเป็นอาชีพหลัก คิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งทะเลสาบเพื่อเป็นผลผลิตเลี้ยงครอบครัว โดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวกว่า 9 กิโลเมตร ถ่ายทอดความรู้วิธีการปลูกข้าวในทะเลสาบมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งใช้วิกฤติช่วงน้ำทะเลสาบลดลง ปลูกข้าวระยะสั้นไว้คาดว่าการทำนาข้าวแบบนี้ มีแห่งเดียวในประเทศไทย
นางเอียด ทองช่วย อายุ 56 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้การทำนาข้าวในทะเลสาบจากบรรพบุรุษ เปิดเผยว่า ตนทำนาข้าว จำนวน 2 ไร่ บริเวณดังกล่าวเป็นเวลากว่า 40 ปี แล้ว และยังมีเพื่อนบ้านอีกจำนวนหลายครัวเรือนทำนาข้าวบริเวณนี้รวมแล้วเกือบ 200 ไร่ ตามแนวยาวริมฝั่งทะเลสาบของหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร 1 ปี สามารถทำนาข้าวได้ 1 ครั้ง คือการทำข้าวนาปรัง โดยเริ่มปักดำตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตปลายเดือนกันยายนของทุกปี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนจากเทือกเขามีปริมาณน้อย หากเกินเวลาดังกล่าวจะไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเน่าเปื่อยเสียหาย ที่ช่วงนี้สามารถทำนาข้าวได้ เพราะทะเลสาบไม่มีคลื่นลม เรียกว่า ช่วงลมพลัด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ในช่วงเดือนกันยายน นั้น เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จด้วย เพราะหลังจากเดือนกันยายน แล้ว จะเข้าสู่ช่วงลมนอก แล้วทะเลสาบสงขลา จะมีคลื่นลมแรง หากเก็บเกี่ยวไม่เสร็จข้าวจะเสียหายหมด