ทีวีดิจิทัลล้มเหลวจริงหรือ? กสทช? หรือ ผู้ประมูล? ผิดแผน?

ทีวีดิจิทัลล้มเหลวจริงหรือ? กสทช? หรือ ผู้ประมูล? ผิดแผน?

ทีวีดิจิทัลล้มเหลวจริงหรือ? กสทช? หรือ ผู้ประมูล? ผิดแผน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความพิเศษ

หลังจากที่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ทีวีดิจิทัล เริ่มมีผู้ประกอบการรายหนึ่ง ตัดสินใจคืนใบอนุญาต 

หลายเสียงบ่นว่า โครงข่ายยังไม่ครอบคลุมบ้าง, การแจกคูปองแลกกล่องมีปัญหาบ้าง, เรตติ้งยังไม่มีหรือไม่น่าเชื่อถือบ้าง ฯลฯ

แท้จริงแล้วเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ? หรือเป็นเพียงการแก้ต่างของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพื่อผลักปัญหาออกจากตัวเอง?

เราจะพาไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานของทีวีในประเทศไทยกันว่า ถึงวันนี้แล้ว สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร

ก่อนอื่น เราต้องมาทำความรู้จัก "ทีวีดิจิทัล" กันก่อนว่ามันคืออะไรกันแน่?

"ทีวีดิจิทัล" คือ "ฟรีทีวีระดับชาติ" ที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทาน มาเป็นการประมูลเพื่อรับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ "ทีวีระดับชาติ"

ความสำคัญของ "ทีวีระดับชาติ" คือ ทีวีพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ในทุกช่องทางการรับชม ไม่ว่าจะเป็น ช่องทาง เสาก้างปลา, จานดาวเทียม, เคเบิ้ล ฯลฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการรับชม

ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงระบบส่งสัญญานการออกอากาศ จากแบบเดิม คือ อนาล็อก เป็น การส่งสัญญานการออกอากาศแบบดิจิทัล จึงเป็นเหตุให้เรียก "ฟรีทีวี"ในระบบใหม่นี้ว่า "ทีวีดิจิทัล"

-ยุคก่อนมีทีวีดิจิทัล-

เดิมการทำธุรกิจฟรีทีวี นั้นเป็นตลาดที่ปิด คือ เป็นธุรกิจ สัปทาน มีช่องจำกัด คือเดิมมีอยู่ 4 ช่อง มีพื้นที่การซื้อขายโฆษณาอยู่จำกัด เมื่อพื้นที่การซื้อขายมีอยู่จำกัด การเลือกซื้อโฆษณาจึงกระจุกตัวอยู่เพียง 4 ช่อง

ต่อมา เมื่อยุคทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลเบ่งบาน บ้านที่มีดาวเทียมและเคเบิ้ลกว่า 50% ของประชากรในประเทศ ก็มีช่องให้เลือกชมเป็นร้อยๆ ช่อง แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น จานแดง, จานดำ, จานเหลือง, จานส้ม หรือเคเบิ้ลท้องถิ่นเองก็ตาม

ทำให้ในแง่การแข่งขันทำช่องทีวี ก็มีการแข่งขันกันพอสมควรอยู่แล้ว ขึ้นกับเนื้อหาว่า ถูกใจผู้ชมแค่ไหน ลองนึกภาพตามดูง่ายๆ ยุคที่การเมืองร้อนแรง ทุกๆ เช้าและค่ำ ช่องการเมืองทั้งหลาย น่าจะแย่งผู้ชมรายการข่าวจากช่อง 3, 5, 7, 9,11, TPBS ไปไม่น้อย เพราะผู้ชมได้ฟัง หรือ ได้ดูในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

จะส่งข่าว สื่อสาร รวมพลนัดคนจนเต็มถนน ไม่ว่าจะการเมืองสีไหน ก็ใช้ช่องทีวีดาวเทียม นี่ล่ะ เป็นพลังหลักในการสื่อสารไปที่ผู้ชม ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า ช่องทีวีดาวเทียมหากมีเนื้อหาที่ตรงใจผู้ชม ก็มีคนดูจำนวนมหาศาล หรือในอีกความหมายหนึ่งคือสามารถ แย่งคนดูจาก ช่องฟรีทีวีเดิม อย่าง 3, 5, 7, 9, 11, TPBS ไปได้ด้วยนั่นเอง

ในเชิงธุรกิจแล้ว แต้มต่อทางธุรกิจ ที่ "ฟรีทีวีเดิม" อย่าง 3, 5, 7, 9, 11, TPBS ยังมีในยุคนั้น คือ
ช่องทีวีดาวเทียมนั้น ไม่สามารถไปอยู่ได้ในจานทุกสี หรือเคเบิ้ลทุกเจ้า เพราะมีหลายค่ายหลายบริษัท บางกล่อง บางค่าย ไม่อนุญาตให้ ช่องทีวีดาวเทียมบางช่องไปอยู่ในกล่องตนเอง เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างและกีดกันคู่แข่งที่ทำช่องทีวีดาวเทียม

จุดนี้เองเป็น แต้มต่อที่สำคัญ ทำให้ "ฟรีทีวีเดิม" ยังมีการเข้าถึงผู้ชมที่มากกว่า ทีวีดาวเทียม ในอดีต

และเมื่อสำรวจการรับชมกันจริงๆ ก็จะพบว่า ผู้ชมทีวีทางเคเบิ้ลและดาวเทียมส่วนใหญ่ ดูทีวีกันประจำอยู่ประมาณ 20-30 ช่อง จากร้อยกว่าช่อง

อาจจะด้วยผลสำรวจนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ ทำให้ กสทช เอง ตัดสินใจเปิดประมูล "ฟรีทีวีใหม่" หรือ ที่เรียกว่า "ทีวีดิจิทัล" สูงถึง 24 ช่อง
โดยเชิญชวนกึ่งๆ รับปากผู้ประกอบการทุกรายว่า จะมีคนดูตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ โดยอาศัยกฏ Must Carry คือบังคับว่า จานดาวเทียมทุกสี ทุกยี่ห้อ และเคเบิ้ลทุกราย ต้องมีช่อง "ทีวีดิจิทัล" ไปออกอากาศ ซึ่งแปลว่า ในตอนนั้นคนสามารถเข้าถึง "ช่องทีวีดิจิทัล" ได้ทันที ผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ลทั่วประเทศ อย่างน้อย 50% ตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ

และ กสทช ยังกึ่งบังคับอีกว่า "ฟรีทีวีเดิม" (3, 5, 7, 9, 11, TPBS) จะต้องยกเลิกการออกอากาศ บนดาวเทียมและเคเบิ้ล เพื่อให้ทุกๆ ช่องฟรีทีวีเดิมมาออกอากาศในใบอนุญาตใหม่ คือ ทีวีดิจิทัล (จึงเกิดกรณีช่อง 3 ที่มีแผนจะไม่ออกคู่ขนาน ต้องยอมมาออกคู่ขนาน เพราะห่วงคนดูทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ล นั่นเอง)

-ยุคทีวีดิจิทัล-
หลังจากนั้น การประมูลทีวีดิจิทัลจึงกำเนิดขึ้น และทีวีดิจิทัล ก็ได้กำเนิดขึ้น...

ในแง่ธุรกิจ ผู้ประกอบการแต่ละรายก็ประเมินรายได้กันเองว่าจะมีรายได้กันเท่าไหร่ จนได้ งบประมาณในการได้มาของ ใบอนุญาตของแต่ละเจ้า และจบลงที่ ราคาประมูล วิ่งไปสูงพอสมควร คาดว่า เนื่องจากผู้ประกอบการเกือบทุกราย น่าจะคิดว่าตนเองเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมทีวี
แม้จะมีช่องมากถึง 24 ช่อง ก็มีโอกาสที่เงินโฆษณาที่เคยกระจุกตัวอยู่เพียง 4 ช่อง อาจกระจายตัวไปทั้ง 24 ช่อง

โดยอาจมี บางรายลืมคิดไปว่ายังมีช่องทีวีดาวเทียมอีกร่วมร้อยช่อง ก็ยังคงออกอากาศอยู่บนดาวเทียม แม้จะมีข้อจำกัดที่มากกว่าก็ตาม (แต่ก็มีต้นทุนในการออกอากาศน้อยกว่ามาก)
หรือ ผู้ประกอบการบางคนอาจฝันไกล ไปถึงขั้นที่ว่า เมื่อทีวีดิจิทัลออกอากาศ ผู้ชมจะเลิกติดจานดาวเทียมหรือเคเบิ้ล หันไปติดกล่องดิจิทัลพร้อมเสาก้างปลาแทน เพราะมีคูปองสนับสนุน

เมื่อทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศจริง คูปองเริ่มแจกจริง โลกแห่งความจริงจึงเกิดขึ้น จะตรงกับประมาณการทางธุรกิจ ก่อนประมูลของผู้เข้าประมูล แต่ละเจ้าหรือเปล่าไม่อาจทราบได้ แต่การลงทุนทางธุรกิจล้วนมีความเสี่ยง ประเมินแม่น ก็ประสบความสำเร้จ ประเมินผิด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นธรรมดาของธุรกิจ

มาดูกันว่า มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ บ้าง หลังจากทีวีดิจิทัล เริ่มออกอากาศ และส่งผลอย่างไรในเชิงธุรกิจ ของทีวีดิจิทัล

การรับชมทีวี หลังทีวีดิจิทัลออกอากาศเป็นอย่างไร? คูปองใช้ได้แค่ไหน? คนเลิกดูทีวีผ่านจานดาวเทียมจริงหรือเปล่า?

จากข้อมูล การรับชมของผู้ชมทีวี ในปัจจุบัน พบว่า
ผู้ชมในประเทศไทยทุกพื้นที่ทุกจังหวัด รับชมทีวีผ่านจานดาวเทียมและเคเบิ้ล สูงถึง 70%,
รับชมผ่านทรูวิชั่น 8%, รับชมผ่านกล่องดิจิทัล (ต่อกับเสาก้างปลาหรือหนวดกุ้ง) อยู่ 7%
และรับชมผ่านระบบเดิม (อนาล็อก หรือเสาก้างปลาไม่มีกล่องมาต่อ) อยู่เพียง 15%

จะเห็นว่า ผู้ชมทีวี ผ่านจานดาวเทียม และเคเบิ้ลกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลยแถมเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ

คำถามต่อมาคือ ทำไมผู้ชมจึงไม่รับชมทีวีผ่านกล่องดิจิทัล(เสา), ทำไมไม่ใช้คูปอง? โครงข่ายทีวีภาคพื้นดินมีปัญหาจริงหรือ?

ทำไมผู้ชมถึงไม่ใช้คูปอง?

จากข้อมูลการรับชมทีวีของประชากรไทย นั้นได้บ่งชี้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชมรับชมทีวี ผ่าน ดาวเทียม, เคเบิ้ล และทรูวิชั่น อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่ง จึงไม่มีแรงจูงใจเพียงพอที่จะไปรับคูปอง หรือนำคูปองไปแลก เพราะว่าสามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลได้อยู่แล้ว,

อีกเหตุผลหนึ่งคือ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และยุ่งยาก เพราะแม้จะนำคูปองไปแลกกล่องทีวีดิจิทัลได้เลย แต่ในหลายๆ บ้านนั้น ไม่มีเสาก้างปลาเหลืออยู่แล้ว ถ้าจะรับชม "ทีวีดิจิทัล" ต้องซื้อเสาก้างปลา หรือหนวดกุ้งเพิ่มมาอีก จึงเริ่มเกิดความยุ่งยากขึ้น

ประชาชนในปัจจุบัน อยู่ในสภาพแวดล้อมของสินค้าที่เรียกว่า easy to used (ต้องการเสียบปุ๊บ ติดปั๊บ) เมื่อมีความยุ่งยากเกิดขึ้น (เช่นต้องติดเสาก้างปลาใหม่ ใช้หนวดกุ้งรับช่องไม่ครบในบางพื้นที่) และรับชมได้อยู่แล้วผ่านจานดาวเทียม เคเบิ้ล หรือ ทรูวิชั่น หรือจานสารพัดสี จึงขาดแรงจูงใจ ในการไปหาซื้อกล่องดิจิทัล หรือกระทั่งนำคูปองไปแลกกล่องดิจิทัล เพราะโดยส่วนมากรับชมได้อยู่แล้วในทันที

ในแง่การแข่งขัน ทาง Hardware (กล่องดิจิทัล) มีผู้ประกอบการผลิตกล่องหลายรายเก็งกำไรกันล่วงหน้าว่า เมื่อคูปองแจกแล้ว ก็คาดการณ์ว่าคนจะต้องแห่เอาไปแลกกล่องกันเป็นจำนวนมาก
(หลายคนก็เชื่อเช่นนั้น เพราะคิดว่า คนไทยนิยมของฟรี เพียงแต่กรณีนี้มันไม่ฟรีเสียทีเดียว เพราะราคากล่องดิจิทัล รวมเสาก้างปลา และคูปองไม่พอดีกัน จึงต้องจ่ายส่วนต่าง ประกอบกับดูผ่านดาวเทียมหรือเคเบิ้ลได้อยู่แล้วจึงขี้เกียจไปแลก) ผลที่ออกมาจึงไม่เป็นไปตามคาดการณ์

มีบริษัทฯ ในตลาดหุ้นบางบริษัทฯที่ประมาณการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า ราคาหุ้นพุ่งแรงอย่งไม่น่าเชื่อ และหล่นลงมาอย่างน่าตกใจหลังผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามคาดการณ์

ในอีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ในแง่ Hardware มันเกิดการแข่งขันขึ้นทันที "กล่องดิจิทัล" มาพร้อม คูปอง มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ผู้ประกอบการกล่อง ดาวเทียมและเคเบิ้ล ดังนั้น ผู้ประกอบการกล่องดาวเทียมและเคเบิ้ล จึงทำการตลาด โดยการลดแลกแจกแถม ประชมสัมพันธ์กันเต็มที่ มีช่องทีวีให้ดูมากกว่าหลายเจ้า มีฟุตบอลหรือช่องดังๆ ให้ดูในราคาถูก หรือกระทั่งให้ดูฟรี และอาศัยกระแส "ทีวีดิจิทัล" ว่า ติดดาวเทียมหรือเคเบิ้ลก็ดูทีวีดิจิทัลได้ แถมมีช่องให้ดูมากกว่าพร้อมความคมชัดสูงเช่นเดียวกัน ด้วยโครงสร้างต้นทุนกล่องที่ถูกกว่า เพราะกล่องดาวเทียมใช้ดูทีวีกันเกือบทุกประเทศในโลก ส่วนกล่องดิจิทัล (เสา) นั้น ยังมีอยู่ไม่ครบทุกประเทศ

สุดท้าย กล่องดาวเทียมก็ยังเติบโตได้ต่อ จนช่วงหนึ่ง มีข้อถกเถียงกันว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ให้ใช้คูปองแลกกล่องดาวเทียมไปเลยดีไหม? เพราะดูทีวีดิจิทัลได้ทันทีทั่วประเทศ แต่ก็ถูกค้านโดยผู้ผลิตกล่องดิจิทัล (เสา) จนเรื่องเงียบหายไป

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้การรับชม "ทีวีดิจิทัล" ผ่านโครงข่ายภาคพื้นดิน และการสนใจแลกคูปอง ไม่เป็นไปตามคาด กล่องทีวีดิจิทัล ขายไม่ดีอย่างที่หลายๆ คนประเมินไว้ก่อนหน้า

นี่อาจะเป็นเหตุผลหลัก ที่ผู้ประกอบการ รายที่มีปัญหาอยู่ คิดจะทิ้งใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และหันกลับไปทำทีวีดาวเทียม เหตุเพราะต้นทุนการทำทีวีดาวเทียมต่ำกว่ามาก และจำนวนผู้ชมที่รับชมทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ลกลับเพิ่มขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดที่มากกว่าก็ตาม

โครงข่ายภาคพื้นดินมีปัญหาจริงหรือ?

จากข้อมูลของผู้ให้บริการโครงข่าย ทั้ง MCOT, ททบ, TPBS ล้วนได้แจ้งว่า ได้ขยายโครงข่ายภาคพื้นดินไปเกือบ 80% ของพื้นที่รับชมทั่วประเทศแล้ว ยกเว้นแต่โครงข่ายของ NBT เพียงเท่านั้น

ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริง น่าจะมาจาก ผู้ชมส่วนมากไม่ได้รับชม "ทีวี" ผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินกันเป็นส่วนมาก มากกว่าปัญหาเรื่องการครอบคลุมของโครงข่ายภาคพื้นดิน

เหมือนสมัยที่มี "ฟรีทีวี"เพียง 6 ช่อง ผู้ชมส่วนมากก็รับชม "ฟรีทีวี" ผ่านดาวเทียม, เคเบิ้ล หรือ ทรูวิชั่น กันมากนั่นเอง ลองนึกย้อนไปสมัย บอลยูโรจอดำ บนจานดาวเทียม ทำให้ขาดผู้รับชมไปค่อนประเทศ

ดังนั้นแล้ว ในภาพรวมตามความเป็นจริง จะพบว่า ช่อง "ทีวีดิจิทัล" รับชมได้แล้วทั่วประเทศ เพียงแต่อาศัยรับชมผ่านเคเบิ้ลและดาวเทียมเป็นหลัก เพียงเท่านั้นเอง

ในส่วนของ กสทช เองที่ผ่านมา ก็ได้ พยายามกำกับดูแล โครงข่ายภาคพื้นดินแล้ว และออกระเบียบ "Must Carry" เพื่อให้รับชมได้รวดเร็วแล้ว

หากเพียงแต่ อาจจะบกพร่องในแง่การประชาสัมพันธ์ และไม่เข้าใจผู้บริโภค และการแข่งขันในภาพ รวม เพราะในภาพรวม ที่เกิดขึ้นทั้งช่อง, ทั้งทีวีดิจิทัล, ทีวีอนาล็อก ทีวีดาวเทียม รวมไปถึงทีวีออนไลน์ ล้วนแข่งขันกันเต็มที่เพื่อดึงคนดู

การแก้ปัญหาของ กสทช ส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่ ทีวีดิจิทัล
โดยเหตุผลที่ว่า กลัวผู้ประกอบการที่มาประมูลไปแล้วเกิดปัญหา ทำธุรกิจไปต่อไม่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง การทำธุรกิจล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งแต่ละรายจะต้องประเมินความเสี่ยงและสภาพตลาดไว้รอบด้าน หากแต่ที่ผ่านมาใบอนุญาตทีวี เป็นการสัมปทาน มันจึงยังไม่เคยมีการแข่งขันสูงในแบบ การประมูลช่องทีวีจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน

กสทช อาจจะห่วงว่า ผู้ประกอบการที่ขายกล่องดิจิทัล (เสา) ที่คาดว่าจะได้ผลประโยขน์จากคูปองรับแลก เกิดปัญหา จึงพยายาม สื่อสารและรณรงค์ ไปที่ โครงข่ายภาคพื้นดินเป็นหลัก ด้วยเหตุผล ที่ว่าโครงข่ายภาคพื้นดินควรจะเป็นการับชมหลัก

ทั้งๆ ที่ ผู้บริโภค ส่วนมากไปได้รับชมทีวีในทางนั้น จึงเป็นการสื่อสาร ที่ไม่เข้าใจผู้บริโภคเลย เพราะ ผู้บริโภค/ผู้ชมไม่ได้สนใจว่ามันคือทีวีดิจิทัล หรือ ทีวีอะไร หากแต่เขาได้ชมในสิ่งที่เขาชื่นชอบ ในช่องทางที่เขาสะดวกที่สุดเสียมากกว่า หลายคนได้รับชมทีวีดิจิทัลแล้วแต่อาจคิดว่าเป็นทีวีดาวเทียมเสียด้วยซ้ำ

ในขณะเดียวกัน ในด้านการแข่งขัน ทาง Hardware และ Platform นั้น มันมีการแข่งขันกันอยู่ในทีระหว่าง ภาคพื้นดิน, ดาวเทียม, เคเบิ้ล และอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ละ Platform นั้นกำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรง

ทั้งกล่องดูทีวีผ่านโครงข่ายภาคพื้นดิน, กล่องดูทีวีผ่านดาวเทียม, กล่องดูทีวีผ่านเคเบิ้ล และกำลังจะเกิดกล่องดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมให้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วย

แว่วๆ มาว่า อาจจะมีการ ยกเลิก Must Carry และเคเบิ้ล ในอีก 3 ปี ซึ่งหากผู้บริโภคส่วนมาก ยังรับชมทีวีผ่านเคเบิ้ลหรือดาวเทียมอยู่ นั่นก็แปลว่า กสทช กำลัง จะผลักภาระกลับมาที่ผู้บริโภค และบังคับพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ไปรับชมทีวีจากโครงข่ายภาคพื้นดิน เพื่อที่ ช่องทีวีดิจิทัล จะได้มีผู้แข่งขันน้อยลง ผู้ประกอบการอาจจะได้มีโอกาสรอดมากขึ้น

และยังแว่วๆ มาอีกว่า อาจจะมีเก็บค่าธรรมเนียมคนขายกล่องดาวเทียมเพิ่มขึ้น เพื่อให้กล่องดิจิทัล(เสา) แข่งขันได้ (ภาระค่าธรรมเนียมก็จะไปตกที่ผู้บริโภคอีกนั่นล่ะ) เพื่อที่จะจำกัดการเติบโตของดาวเทียมโดยไม่ได้นึกถึง พฤติกรรมผู้บริโภคเลย โดยมีความหวังว่า ผู้บริโภคเองจะเปลี่ยนพฤติกรรม ชมทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ลไปที่โครงข่ายภาคพื้นดินแทน

ทั้งๆ ที่สภาพการแข่งขันในปัจจุบัน ผู้ชมชมทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ล นั้นมีอยู่ถึง 70% ของประชากรประเทศ และกำลังเริ่มจะปรับพฤติกรรมไปชมทีวีซ้ำทางอินเทอร์เน็ตกันเสียเป็นส่วนมาก
โครงข่ายภาคพื้นดินดูจะเป็นตัวเสริมเสียมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของ กสทช อย่างชัดเจน ที่อยากผลักดันให้โครงข่ายภาคพื้นดินเป็นช่องทางการรับชมหลัก

ดูเหมือนว่า กสทช เอง จะสนใจดูแล ผู้ประกอบการ มากกว่าสนใจพฤติกรรมผู้บริโภคเสียอีก
จะเห็นได้ว่า กสทช เอง ก็มีความพยายามเต็มที่แล้ว ในการช่วยเหลือ, ดูแลและให้ความหวัง ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อย่างเต็มที่ แม้จะทราบดีอยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ทุกธุรกิจล้วนมีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับกันทั้งนั้น

Rating (ความนิยม)?

เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด ว่าเรตติ้งน่าเชื่อถือแค่ไหน ใช้ได้จริงหรือเปล่า มีเรตติ้งแล้วหรือยัง?
สภาพในปัจจุบัน ธุรกิจทีวี แข่งขันกันด้วยเรตติ้ง การมีเรตติ้ง นำมาซึ่งรายได้ เพราะธุรกิจ "ฟรีทีวี" มีรายได้ทางเดียว คือโฆษณา ดังนั้นทุกสถานี ก็จะต้องอาศัยเรตติ้งนี่แหละเป็นตัวชี้วัดความนิยม

คำถามคือ เรตติ้งน่าเชื่อถือแค่ไหน หลายคนตั้งคำถาม กับเรตติ้งที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาก บางส่วนอ้างไปถึงขนาดที่ว่า เรตติ้งทีวีดิจิตัล ยังไม่มีการวัด ซึ่งไม่จริง

เพราะในความเป็นจริง ระบบเรตติ้งในปัจจุบัน เขาวัดทุกช่องทางการรับชม ทั้งเสาก้างปลา เคเบิ้ล ดาวเทียม และกล่องดิจิทัล แว่วๆ มาว่ากำลังจะเริ่มวัด การับชมทางออนไลน์รวมเข้าไปด้วย เพราะพฤติกรรมผู้ชมเริ่มเกิดขึ้นแล้ว (จะเห็นว่าอุตสาหกรรมทีวีเขาสนใจพฤติกรรมผู้ชมหรือผู้บริโภคกันเป็นหลัก)

ดังนั้น ระบบเรตติ้งทีวีดิจิทัล จึงเกิดขึ้นแล้ว (เพราะมียอดผู้ชมผ่าน ดาวเทียม,เคเบิ้ล และกล่องดิจิทัล)

ส่วนความน่าเชื่อถือ โดยภาพรวม อาจจะต้องยอมรับว่า เนื้อหารายการที่โดนใจผู้ชมส่วนมาก(Mass) นั้น ระบบเรตติ้งค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สังเกตได้จาก การที่ มีการถ่ายทอดกีฬานัดสำคัญๆ ที่คนไทยต้องชม ไม่ว่าจะอยู่ที่ช่องไหน อนาล็อก หรือ ดิจิทัล เรตติ้งก็จะขึ้นสูงในทันที เช่นฟุตบอล ซีเกมส์ ในช่อง 3, 5, 7, 9, 11 หรือ มวยบัวขาวในช่องอย่าง workpoint, บอลโลกในช่องไทยรัฐ ฯลฯ
มันก็พอจะสะท้อนให้เห็นว่า มันพอมีความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง และ ยืนยันได้ว่า ทีวีดิจิทัลมีคนดูมากแล้ว เนื้อหาที่นำเสนอกันต่างหาก ที่ยังไม่ถูกใจผู้ชมเพียงพอถึงขนาดทำให้เปลี่ยนจากความเคยชินในการรับชมทีวีช่องเดิม

ที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมเขาก็ใช้กันอยู่เพื่อซื้อขายโฆษณา แว่วๆ ว่ากำลังจะมีการจัดตั้งหน่วยงาน เรตติ้งขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง โดยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่า การทำระบบเรตติ้งนั้นต้องใช้เงิน เพื่อสร้างระบบในการสำรวจสถิติ ทีนี้ ถ้ากลุ่มตัวอย่างไม่มากพอ รายการที่มีเนื้อหา เฉพาะกลุ่ม อาจจะแทบหาเรตติ้งไม่เจอ

วิธีแก้ จึงอาจจะต้อง เพิ่มกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้นอีก เพื่อที่ว่า เนื้อหาที่หลากหลายขึ้น อาจจะมีโอกาสได้มี เรตติ้งกันบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้ว เนื้อหารายการทีวีก็ยังจะวนอยู่ในภาพเดิม เพราะรายการที่มีเนื้อหาเฉพาะ อาจจับเรตติ้งได้ยาก

ดังนั้น แล้ว หาก กสทช เอง ต้องการสนับสนุน เนื้อหาที่หลากหลาย อาจจะต้องมาช่วยส่งเสริม การลงทุนในเรื่องของการทำระบบเรตติ้ง ไม่ใช่ปล่อยให้อุตสาหกรรม/ธุรกิจทำกันไปเอง เพราะสุดท้ายแล้ว อุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจ เขาต้องทำธุรกิจ

ถ้าเรตติ้งน้อย เขาก็จำเป็นต้องปรับเนื้อหาไปตามเรตติ้ง ดังนั้นแล้ว หาก กสทช อยากสนับสนุน ด้านเนื้อหา ก็ควรจะสนับสนุนเรื่องการสร้างระบบเรตติ้ง ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
เพราะเรตติ้ง คือ ตัวสะท้อนความนิยมของคนดู ถ้ารายการที่ มีเรตติ้งดี แปลว่า คนดูส่วนมากชอบดูแบบนี้

ทั้งหมดนี้ ถ้าลอง ดูกันดีๆ น่าจะพบคำตอบว่า ความล้มเหลวเรื่อง ทีวีดิจิทัล ที่พูดๆ กันอยู่ มันจริงหรือ? หรือ เกิดจากอะไร กันแน่?

คำตอบนั้น น่าจะอยู่ที่ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เกี่ยวกับพฤติกรรม ผู้บริโภคทั้งระบบเสียมากกว่า ว่า กสทช และผู้ประกอบการ เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคแค่ไหน ทั้งในด้านช่องทางการรับชมที่เป็นอยู่และกำลังเปลี่ยนไป หรือทั้งในด้านเนื้อหา ที่ผู้บริโภคนิยมชมชอบ

นอกจากนี้ว่ากันว่า ในระยะยาวแล้วหาก ผู้ประกอบการรายไหนยังไม่สามารถ สร้างผู้ชมของตนเองได้ นอกจากที่จะต้องแข่งขันกัน 24 ช่อง และทีวีดาวเทียมอีกร้อยกว่าช่องแล้ว ยังต้องแข่งขันกับ เนื้อหาออนไลน์ไร้การควบคุมอีกเป็นล้านเนื้อหาต่อวันทางอินเทอร์เน็ตและมือถืออีกจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นอยู่และปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ทั้ง กสทช และ ผู้ประกอบการ เอง พร้อมและเข้าใจแค่ไหนในการแข่งขันไร้พรหมแดนที่มากไปกว่า คำว่า "ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน" ที่กำลังพูดถึงกันอยู่

"อินไซด์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook