แจ้งชะลอปลูกข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนแล้ง
![แจ้งชะลอปลูกข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนแล้ง](http://s.isanook.com/ns/0/ud/362/1811434/624522-01.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
อธิบดีกรมชล เผย ผลจากฝนตกน้อยกว่าปกติ จึงชะลอการปลูกข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยาออกไปก่อน จนกว่าฝนจะตกลงมา
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อต้นฤดูแล้งปี 2557/2558 มีปริมาณน้อย จึงได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกร ของดส่งน้ำเพื่อการทำนาปรัง พร้อมกับนําเสนอรัฐบาลให้ความเห็นชอบ และวางแผนใช้น้ำให้เหลือเพียงพอสําหรับสนับสนุนการทํานาปีตั้งแต่ต้นฤดูฝนปี 58 (น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) เมื่อต้นฤดูฝนจะมีน้ำรวมกันประมาณ 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวนาปรังไปกว่า 6.26 ล้านไร่ ทําให้มีการใช้น้ำเกินแผนไปถึง 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผนที่วางไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้จริง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ค. 58 จํานวน 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2557 จํานวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ค. 57 รวม 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร)
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าปกติมาก โดยในปี 2558 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วงฤดูฝน (1 พ.ค.-10 มิ.ย. 58) รวมกันเพียง 219 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 76 กรมชลประทาน ได้วิเคราะห์แล้ว จําเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้ได้จนถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล จึงเห็นควรให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 4.61 ล้านไร่ ออกไปก่อน จนกว่าจะถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล (วางแผนปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 7.45 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 2.84 ล้านไร่)
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะจัดสรรให้กับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยไม่ขาดแคลน