ทำไมชนชั้นกลางปฏิเสธภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ?

ทำไมชนชั้นกลางปฏิเสธภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ?

ทำไมชนชั้นกลางปฏิเสธภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนคนชั้นกลางจะหายใจทั่วท้องได้อีกระยะ รอลุ้นกันใหม่ว่า ตกลง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะออกมาอย่างไร หลังจากกระทรวงการคลัง ใส่เกียร์ถอย ของทบทวนอัตราภาษีใหม่ จากที่ได้ประกาศอัตราภาษีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาหยั่งกระแส แต่แล้วกระแสคัดค้าน ไม่เห็นด้วยค่อนข้างหนาหู โดยเฉพาะชนชั้นกลาง และ มีข่าวแว่วๆว่า บรรดา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คัดค้านในเรื่องนี้มากเสียกว่าภาษีมรดก ที่ค้างเติ่งอยู่ในขณะนี้ เสียอีก

กระแสไม่เห็นด้วยหากดูจากผลการสำรวจของคนออนไลน์ ผ่าน Sanook! Poll ที่เปิดสอบถามความเห็นในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 58 ล่าสุดมีผู้ร่วมแสดงความเห็น(5มี.ค.58 เวลา 18.00 น.) 1988 คน ผลปรากฏว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 91 % เห็นด้วยเพียง 9 % เท่านั้น

จริงๆ แล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร มีหลักการอย่างไร ทำไมคนถึงไม่ตอบรับนโยบายภาษีนี้ ....?

ก่อนอื่นบอกได้เลยว่า ไม่ว่านโยบายภาษีใดๆก็ตาม หากมีการนำมาใช้จัดเก็บหรือปรับปรุงใหม่ แล้วทำให้คนรู้สึกว่าต้องเสียภาษี ไม่มีภาษีใดในโลกที่คนจะตอบรับ....เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ..

แล้วทำไมคนถึงรู้สึกไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก...ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร...?

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษี ที่กระทรวงการคลังพยายามจะปรับปรุงมานานหลายยุคหลายสมัย เท่าที่จำได้และได้ยินนโยบายนี้มาก็ร่วม 20 ปีแล้ว

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความพยายามจะปรับปรุงภาษีเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับ ภาษีบำรุงท้องที่เข้าด้วยกัน โดยปัจจุบันภาษีทั้งสองนี้มีการใช้และจัดเก็บอยู่แล้ว

โดยหลักภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะเก็บจากโรงเรือนและที่ดินของเจ้าของที่นำไปหาประโยชน์เช่นให้เช่า ทำเป็นที่เก็บสินค้า หรือใช้เพื่อการพาณิชย์เป็นต้นโดยมีอัตราภาษีสูงถึง 12.5% ส่วน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยยกเว้นไม่มีการจัดเก็บภาษี

ขณะที่ ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นฐานภาษีสำคัญในการนำรายได้มาให้ท้องถิ่นสำหรับพัฒนาท้องถิ่นเอง จะเก็บภาษีจาก ฐานของที่ดิน โดยหลัก ทุกคนที่เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมาอัตราค่อนข้างต่ำ และมีถึง 34 อัตรา โดยที่ดินที่ทำการเกษตรไม้ล้มลุก หากเจ้าของที่ดินทำเองจะเสียภาษีไม่เกินไร่ละ 5 บาทเท่านั้น

ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังมองว่า จำนวนภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บได้ค่อนข้างต่ำ ขณะภาษีโรงเรือนก็มีฐานสูงเกินไป ทำให้รายได้ไม่เพียงพอสำหรับท้องถิ่นในการพัฒนาตัวเอง และไม่เกิดความเป็นธรรมจึงควรปรับปรุงภาษีเสียใหม่ จึงเป็นที่มาของ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเอง

สำหรับหลักการ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลังได้คิดไว้คือต้องการลดอัตราภาษีที่มีหลายอัตราลง โดยให้จัดเก็บจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐโดยจัดเก็บจากราคาประเมินทุนทรัพย์ประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุดตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีเพดานอัตราภาษีที่เรียกเก็บ 3 อัตรา คือ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกินร้อยละ 0.5 ที่อยู่อาศัยโดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ไม่เกินร้อยละ 0.1 และที่เกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05

ซึ่งการจัดทำภาษีใหม่นี้ครอบคลุมฐานกว้างขึ้นจัดทำราคากลางที่สะท้อนราคาแท้จริงมากขึ้น แต่อัตราลดลง แต่หลังจากมีการกำหนดออกมา มีกระแสคัดค้านและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลังได้ออกมาเปรยว่า

จะมีการปรับลดอัตราภาษีลงมาครึ่งหนึ่งคือ ที่ดินการเกษตรกำหนดเพดานจัดเก็บ 0.25% ที่อยู่อาศัยเพดานจัดเก็บ 0.5% ที่ดินพาณิชยกรรม เพดานจัดเก็บ 2%

ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่ากำหนดอัตราจัดเก็บในขั้นแรกคือ 0.5% หากไม่ทำประโยชน์ จะเพิ่มอีก 1 เท่า ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 2%

เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเด็นที่กระทบวงกว้างโดยเฉพาะคนชั้นกลาง ก็คือ การจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย แม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีการออกหลักการว่า ที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาทจะเสียภาษีครึ่งหนึ่งของเพดาน หรือ 0.25 %จากเพดาน 0.5% ก็ตาม

ทั้งนี้หากคิดเป็นเม็ดเงินต่อปี สำหรับคนที่มีที่อยู่อาศัย1 ล้านบาทเท่ากับต้องเสียภาษี 2. 5 พันบาทต่อปี ซึ่งก็ดูไม่สูงมากนัก แต่ ปัจจุบันมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ราคาบ้าน ที่จำเป็นต้องผ่อน และราคาปัจจุบันก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 ล้านบาททั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงทุกคนต้องมีภาระสำหรับเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก มันจึงเป็นผลทางจิตวิทยาที่ต้องไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาษีเป็นธรรมดา

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกระทรวงการคลังไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจถึงเหตุผล ความจำเป็นให้กับประชาชนในวงกว้างได้ทราบใช่หรือไม่ ...?

หรือ เป็นเพราะ ประชาชนคนชั้นกลางรู้สึกไม่อยากเสียภาษี เป็นภาระเพิ่ม เพราะเห็นว่า เมื่อเสียภาษีไปแล้ว นักการเมือง หรือ คนที่มาบริหารประเทศไม่ได้นำภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างจริงจัง ...

เรื่องเหล่านี้กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของเรื่องต้องกลับไปทบทวนใหม่ ว่าจะสร้างความเข้าใจอย่างไร และที่สำคัญ ในส่วนที่ดินที่ถูกกว้านไปไว้ในมือของเจ้าที่ดินโดยไม่ได้ทำประโยชน์ หวังจะเก็งกำไร ภาษีนี้มีส่วนเข้าไปจัดการและสามารถกระจายพื้นฐานของการทำกินได้จริงหรือไม่..เป็นสิ่งที่ต้องตอบคำถามของสังคมให้เข้าใจ เพื่อจะได้เต็มใจเสียภาษีมาช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป...................

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook