ดร.สามารถ โพสต์FBเสนอแนวทาง แก้หนี้รถไฟสไตล์ญี่ปุ่น
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/325/1629681/dfdf.jpgดร.สามารถ โพสต์FBเสนอแนวทาง แก้หนี้รถไฟสไตล์ญี่ปุ่น

    ดร.สามารถ โพสต์FBเสนอแนวทาง แก้หนี้รถไฟสไตล์ญี่ปุ่น

    2014-07-14T11:17:20+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    วันนี้(14ก.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.ปชป.และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรถไฟไทย โดยใช้โมเดลของการบริหารงานของรถไฟประเทศญี่ปุ่น มีใจความดังนี้

    แก้หนี้รถไฟสไตล์ญี่ปุ่น

    เมื่อวาน (12 ก.ค. 57) ผมโพสต์เรื่อง "แก้หนี้รถไฟสไตล์อินเดีย" มาวันนี้ผมขอพูดถึงการ "แก้หนี้รถไฟสไตล์ญี่ปุ่น"

    การรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น หรือ JNR เป็นรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านการเงินเป็นเวลาหลายปีก่อนการแปรรูปในปี พ.ศ. 2530 JNR เริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 แม้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการปรับปรุงต่างๆ นานา รวมทั้งการขึ้นค่าโดยสารถึง 11 ครั้ง ในช่วงเวลา 13 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2529 แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขาดทุนได้ สุดท้ายจึงต้องใช้มาตรการแปรรูป โดยการตั้งบริษัทขนส่งผู้โดยสารขึ้นมา 6 บริษัท กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ และบริษัทขนส่งสินค้า 1 บริษัท รับผิดชอบการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ

    ก่อนการแปรรูปพนักงานของ JNR ส่วนมากไม่คิดว่าจะสามารถดำเนินกิจการรถไฟให้มีกำไรได้ เพราะประสบการณ์ในอดีตของเขาได้เห็นแต่การขาดทุนมาโดยตลอดแม้มีการขึ้นค่าโดยสารหลายครั้งแล้วก็ตาม แผนคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัททั้งเจ็ดที่แสดงว่ามีผลกำไร ถูกตั้งคำถามจากสื่อมวลชนมากมายที่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม การแปรรูป JNR ประสบผลสำเร็จด้วยความพยายามหลายประการ อาทิ

    1. การสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานโดยเปลี่ยนความคิดเก่าๆ ที่ว่า "รัฐบาลจะเลี้ยงดูเรา" เป็น "เราต้องเลี้ยงตัวเอง" พร้อมกับสร้างความมั่นใจว่า เขาจะสามารถนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยสองมือของเขา ด้วยเหตุนี้ พนักงานของบริษัทรถไฟจึงร่วมแรงร่วมใจกันส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการ และพยายามลดค่าใช้จ่าย มีกิจกรรมอาสาสมัครหลายอย่างเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท

    2. กระจายอำนาจการสั่งการไปสู่หน่วยงานในพื้นที่ เพราะเห็นว่ากิจการรถไฟต้องอาศัยการบริหารงานในพื้นที่เป็นหลัก ต่างกับในยุค JNR ที่พนักงานต้องฟังคำสั่งจากส่วนกลาง การมีอำนาจในการบริหารหน่วยงานในพื้นที่ทำให้มีโอกาสปรับปรุงกิจการรถไฟได้มากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนตารางการเดินรถให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ มีการจัดกิจกรรมที่สามารถจูงใจผู้ใช้บริการขึ้นที่สถานี เช่น คอนเสิร์ต และนิทรรศการ เป็นต้น

    3. กระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับสหภาพแรงงาน ในยุค JNR ผู้บริหารกับสหภาพแรงงานมีปัญหาการขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ ซึ่งมีหลายครั้งที่เป็นเรื่องไร้สาระ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเจรจากันอย่างลับๆ หลังฉาก เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคล หลังจากการแปรรูปทั้งผู้บริหารและสหภาพแรงงานมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างบริษัทให้แข็งแกร่ง มีการลงนามในข้อตกลงที่จะให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความเป็นเลิศให้บริษัท และจะร่วมหาทางแก้ข้อขัดแย้งที่อาจจะมีด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพ

    ในยุค JNR ผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการขึ้นค่าโดยสารทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา มีการประท้วงของสหภาพแรงงาน และพนักงานไม่มีจิตสำนึกการให้บริการที่ดี แต่หลังจากการแปรรูปปรากฏว่า ผู้โดยสารที่เลิกใช้บริการรถไฟในยุค JNR ได้กลับมาใช้รถไฟอีกครั้ง เพราะคุณภาพการให้บริการดีขึ้น ตารางการเดินรถตรงตามความต้องการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานี มีตู้โดยสารที่แสนสบาย ในขณะที่ค่าโดยสารในช่วงแรกของการแปรรูปยังคงอยู่ในอัตราเดิมเท่ากับอัตราก่อนการแปรรูป เป็นผลให้กิจการรถไฟมีผลประกอบการดีกว่าในช่วงก่อนการแปรรูปมาก

    สำหรับรถไฟไทยซึ่งมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่น้อย หากเขาเหล่านั้นมีโอกาสได้แสดงฝีมือ และหากได้ผู้บริหารที่ดี มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สุขของผู้โดยสาร ไม่สนองความต้องการทางการเมืองเป็นหลัก ที่สำคัญ จะต้องได้รับความร่วมมือจากสหภาพแรงงานเป็นอย่างดี ผมมั่นใจว่าชาว รฟท. จะสามารถขับเคลื่อนรถไฟไทยไปสู่อนาคตที่สดใสได้ ในโอกาสที่ รฟท. มีประธานบอร์ดคนใหม่ ขอเอาใจช่วยด้วยครับ

    หาก รฟท. เลือกสิ่งดีๆ จากการแก้หนี้รถไฟของญี่ปุ่นและอินเดีย รวมทั้งรถไฟของประเทศอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวความคิดของเราเอง คุณคิดว่าเราจะมีโอกาสได้ใช้รถไฟไทยที่ดีไหมครับ