เปิดชื่อ ว่าที่ 4 นายกรัฐมนตรี เฉพาะกิจ ดับความขัดแย้ง

เปิดชื่อ ว่าที่ 4 นายกรัฐมนตรี เฉพาะกิจ ดับความขัดแย้ง

เปิดชื่อ ว่าที่ 4 นายกรัฐมนตรี เฉพาะกิจ ดับความขัดแย้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา หลังคนไทยตกอยู่ภายในการบังคับของกฎอัยการศึก บางมาตรามีการปล่อยชื่อ นายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ นายกฯเฉพาะกิจ ผ่านสื่อ เสมือนเป็นการหยั่งกระแสความนิยม

จากการรวบรวม ล่าสุดพบว่า มี 4 รายชื่อที่กองเชียร์ และแฟนคลับ ให้การสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา ดังนี้

 

 

1. ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งเพิ่งย้ายจากปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2557 หลังครบวาระ (2553-2557) เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม (11 พ.ย. 2548-2551) อธิบดีกรมคุมประพฤติ (2544-2548) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม (2543-2544) ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด (2539-2543) อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.2540) ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด (2537-2539) และเลขานุการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานอัยการสูงสุด (2536-2537)

ดร. กิตติพงษ์ เกิด 13 กันยายน พ.ศ. 2501 สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บันฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านกฎหมายการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ปริญญาเอกด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐอเมริกา

นายกิตติพงษ์ยังมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อื่น เช่น เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิองค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทย กรรมการสมาคมกฎหมายแห่งเอเชียและแปซิฟิก (LAWASIA) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะทำงานเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป


2. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

หรือ "บิ๊กตู่" ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน เป็นผู้ประกาศกฏอัยการศึกเมื่อเวลา 3.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2497 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ( ตท.12) นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23

เริ่มต้นรับราชการที่หน่วย "ทหารเสือราชินี" ( กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ.) ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ( ผบ.ร.21 พัน.2 รอ.) เป็นเสนาธิการกรมฯ รองผู้บังคับกรม และขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯ ตามลำดับ ก่อนจะย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ( พล.ร.2 รอ.) และเป็นผู้บัญชาการกองพลฯ ต่อจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ในยุคที่ "บิ๊กป๊อก" พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นแม่ทัพภาค และ "บิ๊กบัง" พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่นำโดยบิ๊กบังนั้น "บิ๊กตู่"ซึ่งขณะนั้นมียศพลตรี เป็นนายทหารคนหนึ่งที่มีบทบาทในการยึดอำนาจจากอดีตนายกฯทักษิณ โดยรับคำสั่งตรงจาก "บิ๊กป๊อก" ซึ่งว่ากันว่าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนิทกันมาก เมื่อ "บิ๊กป๊อก"ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก "บิ๊กตู่" ก็ได้เลื่อนยศเป็น "พลโท" และครองตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 สืบต่อมา รวมถึงการได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คมช. เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ,รองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ( ภายหลังจากได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้ว ) และเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา พ.ศ. 2554

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ต่อจากพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน


3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนที่ 22 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ประวัติศึกษาโรงเรียนประสาทปัญญา และ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2517 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2519 ในเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นนายประสารเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เจรจากับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คนเป็นผลลำเร็จ ระดับปริญญาโท จบคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ปี พ.ศ. 2521 ปริญญาโทและเอก ด้านการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา


หลังจบเป็นนักวิจัยอยู่ที่ International Food Policy Research Institute, Washington, D.C. เป็นระยะเวลา 2 ปี จึงกลับมายังประเทศไทย เริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน หลังจากนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน


ตำแหน่งอื่นๆ ที่ดร.ประสานเคยทำงาน เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย (TBA) ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในธุรกิจธนาคารและตลาดการเงิน

ดร.ประสาร ได้รับรางวัล Central Bank Governor of the Year for Asia จากวารสาร Emerging Markets ในเครือ Euromoney Group เมื่อเดือนกันยายน 2554 และได้รับรางวัลนักการเงินแห่งปี จากวารสารการเงินธนาคาร เมื่อเดือนธันวาคม 2555


4. นายพลากร สุวรรณรัตน์


ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 อดีตคำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นยังเคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และเคยเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวงกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรรมการธนาคารออมสิน


เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของนายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (นามเดิม ม.ร.ว.ประสารสุวรรณ ทองแถม) นายพลากรสมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ


นายพลากร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท M.A.I.A.(international affair ,Southeast Asia Studies) จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ และผ่านการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 37 (2537)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย กรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และรองประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook