กรณ์ลองของ ดันร่างกม.ภาษีที่ดิน ศึกษาภาษีมรดก บัณฑูรให้คลัง-ธปท.คุยอัตราดบ.กันเอง

กรณ์ลองของ ดันร่างกม.ภาษีที่ดิน ศึกษาภาษีมรดก บัณฑูรให้คลัง-ธปท.คุยอัตราดบ.กันเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรณ์ลองของ ดันร่างกม.ภาษีที่ดินอีกรอบ พร้อมศึกษาภาษีมรดก อ้างถูกท้า เสนอเมื่อใดรัฐบาลล้มทุกที สศค.หลังจากนี้รายจ่ายรัฐบาน ต้องขยายฐานหารายได้เพิ่ม บัณฑูร ให้คลัง-ธปท.ถกให้ดี อยากเห็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ แล้วหาวิธีการแก้ไข แบงก์พร้อมทำตามนโยบาย ท่องเที่ยวชี้เลื่อนวันหยุดยาวทำยาก รมว.คลังผลักดันกฎหมายภาษีที่ดิน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 มกราคม ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปและมอบนโยบายแก่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า เบื้องต้น สศค. ได้รายงานถึงภารกิจเร่งด่วน ที่จะดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ การผลักดันกฎหมายการเงินการคลัง เช่น ร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ที่จะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการนำสินค้าทุน สินค้าคงคลังมาใช้เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ และการดำเนินการเกี่ยวกับร่างกฎหมายการติดตามทวงหนี้อย่างเป็นธรรม ให้รับทราบ

นายกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สศค. ยังได้เสนอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีในระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง สศค. รายงานว่า เสนอมาทุกรัฐบาล แต่พอถึงขั้นพิจารณาร่างกฎหมายในรัฐสภา รัฐบาลมักจะหมดอำนาจไปเสียก่อน ดังนั้น ตนเห็นว่าหากพิจารณาแล้วมีความเหมาะสมก็จะผลักดันอีกครั้ง ส่วนภาษีมรดกยังอยู่ระหว่างการศึกษาของ สศค.

ทาง สศค. มีการท้าทายว่า ที่ผ่านมามีภาษีตัวหนึ่งเสนอเมื่อไร รัฐบาลล้มทุกที นั่นคือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถ้าดูแล้วเหมาะสม ผมว่าจะลองของดู ที่ผ่านมาเสนอทีไรสภาล่มตลอด แต่คิดว่าประเทศถึงเวลาที่จะพิจารณาภาษีนี้สักที ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีคงต้องรอดูข้อเสนอของ สศค. ก่อนว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เรื่องภาษีแทนที่จะแก้ทีละประเภท ก็น่าจะหยิบมาดูทั้งหมด รวมถึงการศึกษาแนวทางพัฒนาตลาดทุนให้เป็นจริงด้วย

ตั้งกองทุนช่วยแรงงานนอกระบบ

นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย กลุ่มอาชีพอิสระทั่วไป ทาง สศค.กำลังศึกษาเพื่อให้มีการตั้งกองทุนมาดูแลสมาชิกในระยะยาวเหมือนกับกองทุนประกันสังคม สำหรับขนาดกองทุนจะเป็นเท่าใด มีหลักการดำเนินการกองทุนอย่างไร ต้องให้ สศค.ทำการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบมีอยู่กว่า 20 ล้านคน หากมีระบบขึ้นมาดูแลในเรื่องสวัสดิการยามชราจะเป็นเรื่องที่ดี โดย สศค. มีแนวคิดที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลตรงนี้ เพราะมีงบประมาณเพียงพอ และที่สำคัญแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มักจะอยู่ในชนบท ทั้งนี้ ได้ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วยพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปี 2552 นี้ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั้น สศค.ศึกษาโดยมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งประเมินว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา ดังนั้นจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม ทั้งภาษีประเภทใหม่และการปรับขยายฐานภาษีเดิมที่จัดเก็บอยู่แล้ว รวมถึงปรับภาษีบางประเภทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ อย่างไรก็ดี รายละเอียดทั้งหมด สศค. จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาอีกครั้ง

กระทรวงพาณิชย์จับมือหอการค้าตั้งทีมแก้ส่งออก

ที่หอการค้าไทย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมหารือร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทยฯ ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและปัญหาที่เอกชนต้องการให้ภาครัฐให้การช่วยเหลือ

หลังการหารือ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมหอการค้าไทยกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำงานร่วมในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า โดยภารกิจเร่งด่วนคือ การดูแลการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องสองเดือนและอาจส่งผลต่อการส่งออกในปี 2552 รวมถึงการจัดทำศูนย์เตือนระวังล่วงหน้า เพื่อแจ้งภัยล่วงหน้าถึงปัญหาหรือการใช้เงื่อนไขที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศผู้นำเข้าจนกระทบ

ต่อการส่งออกไทย รวมทั้งได้หยิบยกเรื่อการลักลอบนำเข้าข้าวโพด ซึ่งการห้ามเพาะปลูกหรือชะลอการนำเข้าคงทำได้ยาก ต้องมีการวางแผนและดูแลการนำเข้าให้รัดกุม ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดจนเกษตรกรในประเทศเดือดร้อน

เอกชนเสนอเพิ่มงบโรดโชว์ตลาดรอง-ใหม่

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า เอกชนเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เพิ่มงบฯส่งเสริมการส่งออก และให้ความสำคัญกับการจัดโรดโชว์ในตลาดรองและตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดยุโรปตะวันออก โดยเอกชนยังมองว่าตลาดส่งออกยังมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหารที่ยังขยายตัวได้ดี แต่ต้องได้รับการสนับสนุน

นายศิริพลกล่าวว่า จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าชายแดน เพื่อใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนมากขึ้น โดยส่งเสริมและป้องกันอุปสรรคต่างๆ นอกจากนี้เอกชนได้เสนอเข้มงวดมาตรการดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีและสัญญาคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับประเทศติดชายแดนเป็นพิเศษในช่วงรับจำนำ เพื่อไม่เกิดปัญหาการลักลอบและสวมสิทธิข้าวโพดในปัจจุบัน

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ที่มี

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณานำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นบัญชีควบคุม และใช้มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายก่อนได้รับอนุญาต เหมือนข้าว ปาล์มน้ำมัน และกระเทียม

เลขาฯสศช.เผยการผลิตลดลงต่ำสุดรอบ5ปี

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กล่าวถึงการส่งออกเดือนธันวาคม 2551 ที่ติดลบ 14.6%ว่า คาดการณ์กันไว้แล้วว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกจะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยลดลงหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี ซึ่งทุกประเทศประสบปัญหาเหมือนกันหมด โดยปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้กำลังการผลิตที่ล่าสุดปรับลดลงมาอยู่ที่ 61.2% จากเดิม 73.1% ลดมากที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งมีผลโดยตรงต่อภาคแรงงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการปรับลดเวลาทำงาน หรือลดค่าจ้างแรงงาน หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการมาแก้ปัญหาเลย โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาจทำให้แรงงานมีรายได้หายไป 5-9 หมื่นล้านบาท จากปกติที่แรงงานมีรายได้ 6 แสนล้านบาทต่อปี

บัณฑูรให้คลัง-ธปท.คุยกันเอง ดบ.

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดส่วนดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ว่า ถ้าภาครัฐเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ไม่เหมาะสม การลดดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อการชี้นำดอกเบี้ยไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลต้องการ ก็ต้องเข้ามาดูวามสมดุล ซึ่งมีวิธีการจัดการ คือ 1.ให้ธนาคารัฐนำทางลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วดูว่าตลาดจะตามหรือไม่หากโดนธนาคารรัฐกดดัน

เพราะในตลาดเสรี หากระบบมีปัญหา รัฐก็ต้องเข้ามาดูแล 2. กำหนดอัตราดอกเบี้ยไปเลย ซึ่งต้องคิดให้ดี เพราะเกี่ยวข้องกับกลไกตลาด

โจทย์นี้ทั้งคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องถกกันว่า ราคาที่ความเหมาะสมควรจะอยู่ตรงไหน ระบบเสรีไม่ใช่คำตอบเสมอไป เพราะไม่มีอะไรที่เสรี 100% หรือรัฐบาลดูแลทั้ง 100% เช่น สหรัฐอเมริกา เมื่อมีปัญหารัฐบาลก็ต้องเข้ามาแทรกแซงเช่นกัน ซึ่งขณะนี้รัฐยังไม่แทรกแซง แต่แทรกแซงด้วยคำพูดก่อน ต้องคิดให้ดีว่าจะแทรกแซงตรงไหน และแทรกแซงให้ดี สถาบันการเงินพร้อมปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว นายบัญฑูร กล่าว

รัฐมนตรีว่าการคลังให้ธนาคารร่วมรับผิดชอบ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ข้อเสนอให้ธนาคารพาริชย์ลดส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่จะลดหรือไม่ ขึ้นกับการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่ส่วนต่างที่สูงจะกระทบต่อลูกค้าของธนาคารเอง ส่วนสถาบันการเงินของรัฐ มีบทบาทได้เพียงบางส่วน เพราะส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่เป็นของธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่กี่แห่ง เรื่องนี้ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ใช่รอให้คนอื่นทำก่อน

นายกฯท่องเที่ยวไทยชี้เลื่อนวันหยุดต่อเนื่องทำยาก

นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)กล่าวถึงมาตรการเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้ต่อเนื่องกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า หากทำได้จริงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีวันหยุดต่อเนื่องอย่างน้อย 5 วัน อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทำได้ยาก เพราะวันหยุดนักขัตฤกษ์ส่วนใหญ่เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนา ที่กำหนดวันไว้แน่นอน อาจจะเลื่อนไม่ได้

นางสาวมัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ(สทน.)กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่องกับวันหยุดปกติ เพื่อให้เกิดวันหยุดยาว เนื่องจากวันหยุดส่วนใหญ่เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งจะต้องมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับวันนั้น จะเลื่อนเป็นวันอื่นไม่ได้ แม้การหยุดยาวจะส่งผลดีกับการท่องเที่ยว แต่เป็นช่วงปีใหม่และสงกรานต์ก็เพียงพอแล้ว หากหยุดหลายครั้งจะกระทบกับเรื่องของการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย

ัััััััั

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook