เลขาฯศาลรธน.เผยมี3แนวทางวินิจฉัยร่างกู้2ลล.ขัดรธน.

เลขาฯศาลรธน.เผยมี3แนวทางวินิจฉัยร่างกู้2ลล.ขัดรธน.

เลขาฯศาลรธน.เผยมี3แนวทางวินิจฉัยร่างกู้2ลล.ขัดรธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เผย มี 3 แนวทางชี้ขาดคดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะช่วงบ่าย พิจารณา รับไม่รับคำร้องเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะหรือไม่

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงผลการวินิจฉัยคดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า อาจออกมา 3 แนวทาง อาทิ หากมติขององค์คณะตุลาการศาล ชี้ว่าคดีดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ จะถือว่าผิดในเรื่องของกระบวนการตราพระราชบัญญัติมิชอบ และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง ศาลอาจชี้ว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรที่ถูกร้อง จะต้องหยุดกระบวนการออกพระราชบัญญัติ และห้ามดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

สำหรับแนวทางสุดท้าย หากศาลชี้ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อาจให้หยุดดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. ไว้ก่อน ซึ่งศาลจะส่งกลับไปให้สภา ในฐานะเป็นองค์กรฝ่ายผู้เสนอยื่นคำร้อง ทั้งนี้ การพิจารณาอย่างไรต่อไปกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า ในช่วงบ่าย องค์คณะตุลาการศาล จะพิจารณาว่ามีอำนาจรับหรือไม่รับคำร้องการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะหรือไม่

 

'วิรัตน์'มั่นใจพ.ร.บ.เงินกู้2ลล.ขัดรธน.

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมาย และเป็นผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า วันนี้จะเดินทางไปศาล เพื่อฟังคำตัดสินด้วยตนเอง พร้อมกับ นายราเมศ รัตนะเชวง ทนายความ โดยมั่นใจว่า ศาลจะมีคำวินิจฉัยในส่วนของกระบวนการในการพิจารณาของสภา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการกดบัตรแทนกัน ส่วนเรื่องของเนื้อหา ก็ขัดกับกฎหมายอื่นๆ 3-4 ฉบับ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เพราะรัฐบาลสามารถกู้ตามปกติ ของปีงบประมาณได้ โดยจะกู้ได้ถึงปีละ 5 แสนล้านบาท แต่การพยายามออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา ทั้งในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงภาคประชาชน

ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยคิดขัดขวางการพัฒนาประเทศ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย เพราะหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน จะทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันใช้หนี้ นานถึง 50 ปี แต่อาจะเพิ่มเป็น 100 ปี หาก จีดีพีของประเทศขยายตัวไม่ถึง 6% พร้อมกับย้ำว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

ศาลรธน.แถลงวาจาก่อนตัดสินเงินกู้2ลล.

วันนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง คือการลงมติ ในคำร้องที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยคณะตุลาการแต่ละคน จะมีการแถลงด้วยวาจาก่อน ในเวลา 09.30 น. จากนั้นจึงจะลงมติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีปัญหา 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. และกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะหรือไม่

 

ชัชชาติเผยรบ.พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรธน.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมยอมรับทุกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีคำตัดสินร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ แต่ยืนยันว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลจะเป็นประโยชน์ และรัฐบาลได้ทำดีที่สุด เพราะ พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลชุดต่อไปก็สามารถใช้กรอบวงเงินนี้ได้ และ พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แต่เป็นการเตรียมกรอบวงเงินเพื่อใช้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามแผนระยะเวลา 7 ปี

ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าผลจะออกมาเป็นทางลบ แต่หากศาลวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ แต่โครงการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมจะต้องเดินหน้าต่อไป โดยสามารถใช้งบประมาณดำเนินการในรูปแบบ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ งบขาดดุล หรือการกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า หากศาลเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ แต่หากศาลให้เดินหน้าดำเนินการได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะสานต่อ


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook