รับมือน้ำเหนืออย่างไร ไม่ซ้ำ(ท่วม)ปี54

รับมือน้ำเหนืออย่างไร ไม่ซ้ำ(ท่วม)ปี54

รับมือน้ำเหนืออย่างไร ไม่ซ้ำ(ท่วม)ปี54
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



ทีมข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำบริเวณเขื่อนพระราม 6 ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 10 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเขื่อนพระราม 6 นี้ ถือเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำป่าสัก ที่คุ้งยางนม ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพังเหย จุดเชื่อมต่อระหว่าง จังหวัดเลย กับจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำจะไหลจากต้นน้ำถึงเขื่อนพระราม 6 โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แม่น้ำสายนี้ก็ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณแยกป้อมเพชร โดยเขื่อนพระราม 6 นี้ มีบานประตูเหล็กกว้างขนาด 12.50 เมตร สูง 7.80 เมตร จำนวน 5 ช่อง โครงยกเขื่อนวัดตั้งแต่พื้นท้องแม่น้ำขึ้นมาสูง 22.77 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดที่ระดับ 7.80 เมตร ระบายน้ำทิ้งท้ายเขื่อนได้สูงสุด 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ด้าน นายพรเทพ คำมทิตย์ สารวัตรกำนันตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับมอบหมาย จากนายอำเภอ ให้ติดตามสถานการณ์ระดับน้ำ เขื่อนพระราม 6 จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กล่าวกับทีมข่าวของเราว่า สถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่น่าเป็นกังวล โดยขณะนี้เขื่อนพระราม 6 เปิดประตูระบายน้ำเพียงแค่หนึ่งบาน โดยเปิดอยู่ที่ 830 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมปกติจะระบายได้สูงสุด 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งระดับน้ำหน้าเขื่อนขณะนี้ที่เวลา 12.00 น. วัดได้ 8.08 เมตร ท้ายเขื่อนวัดได้ 7.40 เมตร

สำหรับวิธีการรับมือกับน้ำที่จะไหลมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทางเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ใช้รถแทรกเตอร์ตักขยะ และผักตบชวา ที่ลอยมาตามน้ำ และขวางทางประตูระบายน้ำออก เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดีขึ้น ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ พบว่า ขณะนี้เขื่อนป่าสักฯ มีน้ำเพียง 40% ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณที่รับได้ทั้งหมด 110 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
ทั้งนี้ ผู้นำหมู่บ้านได้มีการออกประกาศเสียงตามสายตามหมู่บ้านต่าง เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเป็นระยะ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก โดยประชาชนริมฝั่งน้ำส่วนใหญ่ ได้เก็บของเตรียมอพยพขึ้นสู่ที่สูงบ้างแล้ว และถึงแม้สถานการณ์น้ำขณะนี้จะยังไม่น่าเป็นห่วง แต่เหตุการณ์เมื่อปี 2554 ก็เป็นเหมือนฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดอีก จึงมีการตื่นตัวเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม มาตรการรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่อาจตกหนักต่อเนื่อง และน้ำเหนือจะไหลลงมา ส่งผลกระทบถึงขั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนอย่างปี 2554 อีกหรือไม่ ในวันนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นำคณะลงพื้นที่ตรวจแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นนทบุรีจ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง โดย นายปลอดประสพ ได้กล่าวถึงผลการตรวจว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่น่าเป็นห่วง และจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ พายุจากคาบสมุทรแปซิฟิก ที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางตอนบน รวมถึงน้ำทะเลหนุนสูง ที่จะส่งผลต่อพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook