กลุ่มแพทย์ยื่นจม.ถึงนายกฯแก้ปัญหาหมอ-ประกันสุขภาพ

กลุ่มแพทย์ยื่นจม.ถึงนายกฯแก้ปัญหาหมอ-ประกันสุขภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ในฐานะประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2552 เพื่อร้องเรียนเรื่องปัญหาเรื้อรังของกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางการแก้ไข โดยจดหมายระบุว่า..

ช่วงปีใหม่นี้ สังเกตเห็นได้ว่าแต่ละวงการหรือหน่วยงานต่างๆได้สรุปปัญหาอุปสรรคและผลงานของหน่วยงานหรือวงการนั้นๆ รวมทั้งข้อคิดเห็นในการแก้ปัญหา ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขมาหลายปี เห็นว่ามีปัญหาเรื้อรังของวงการแพทย์และสาธารณสุขที่รอการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่คู่กับวงการนี้มานาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดี นับได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่รอการเยียวยาจากรัฐบาลหลายชุดแล้ว แต่ก็ไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรม

จึงขอเสนอปัญหาเหล่านี้ให้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพ ดังต่อไปนี้ โดยแยกเป็นปัญหา 2ด้านคือ ปัญหาด้านสาธารณสุขและปัญหาด้านการแพทย์

ปัญหาสาธารณสุขที่เด่นชัดมีดังนี้

1.ระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ระบบ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ประกันตนทั้งรวยและจนต้องจ่ายเงินเพื่อประกันสุขภาพ แต่ประชาชนบัตรทองทั้งจนและรวยไม่ต้องจ่ายเงินเลยในการประกันสุขภาพ ส่วนข้าราชการยอมทนทำงานเงินเดือนน้อยจึงจะได้รับสิทธิ์ประกันสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังก่อให้เกิดการใช้ยาและการตรวจรักษามากเกินความจำเป็นเพราะประชาชน(บางคน)ไม่ตระหนักในคุณค่าและราคาของการรักษา (มาเรียกร้องของฟรี) ในขณะที่โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาดสภาพคล่องทางการเงิน

2.ประชาชนเสี่ยงต่อความเสียหายจากการไปโรงพยาบาล พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล นำไปสู่การตรวจรักษาที่อาจไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ และประชาชนเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

3.นมและ อาหารมีการปนเปื้อนสารพิษและยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีแต่งสี แต่งกลิ่น ปนเปื้อนเชื้อรา ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผ้บริโภค

4. เนื่องจากปัญหายาราคาแพง ต้องมีการทำ CL ยา เนื่องจากปัญหายาราคาแพง ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินค่ายาให้ประชาชนบัตรทองได้ครอบคลุมทุกโรค

5..การโฆษณาสุราและการควบคุมการดื่มสุราไม่ให้ไปก่อการทำร้ายร่างกาย อาชญากรรมอื่นๆ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจร เพราะประชาชนขาดจิตสำนึกในการรับผิดชอบและไม่เคารพกฎหมาย

6.ปัญหาสิ่งเสพติด การปราบปรามการค้าและการเสพสิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาให้เกิดอาชญากรรมต่อเนื่อง

7.โรคเอดส์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่นและการทำแท้ง ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและล้มตายของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต

8.ปัญหาการบาดเจ็บและอุบัติเหตุจาการจราจร โดยเฉพาะการดื่มสุรา การใช้สารเสพติดในเทศกาลที่ควรมีความสุข กลับต้องมีการรายงานสถิติผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย ทุกปี เพราะไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ได้

9. ประชาชนไม่สนใจหรือละเลยในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค เพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือไม่มีความรู้ดีพอที่จะสร้างสุขภาพและป้องกันโรค หรือดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยง่ายๆได้ด้วยตนเอง จึงผลักภาระเหล่านี้ให้โรงพยาบาล เพราะถือว่าตนเองมีสิทธิรับยา/การรักษาฟรีตลอดเวลา

10.การประกันสุขภาพไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม แทนที่จะให้สิทธิการฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองโรคที่สามารถทำได้ กลับให้สิทธิในการรักษาโรคเท่านั้น

สำหรับปัญหาด้านการแพทย์มี

1.โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะระบบการเงินต้องรับตามค่าหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งงบประมาณค่าหัวนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนอยู่แล้วแต่กลับถูกสปสรือกระทรวงสาธารณสุขหักไว้เป็นเงินเดือนข้าราชการอีกด้วย ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน และต้องนำเงินคงคลัง(เงินบำรุงโรงพยาบาล) มาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย จนเงินนี้ไม่มีเหลือ ทำให้โรงพยาบาลขาดเงินที่จะมาปรับปรุงและพัฒนาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และขาดเงินจ่ายค่าทำงานนอกเวลาราชการของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงทั้งปี

2.ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล(ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.อยากเห็นประจักษ์ กรุณาไปดูได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ หรือที่โรงพยาบาลแถวๆอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิดูก็ได้) ผู้ป่วยต้องเสียเวลารอนาน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (เพราะเสียเวลาทำมาหากิน) ในขณะที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องรีบเร่งทำงาน เพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยทุกคน ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดและความเข้าใจผิดของประชาชน ประชาชนเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ อันนำไปสู่การฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น

3.การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ตามปกติจำนวนบุคลากรทางการแพทย์มีน้อยอยู่แล้ว แต่เมื่อประชาชนมาโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้แพทย์มีภาระงานมากต้องทำงานสัปดาห์ละ 80-122 ชั่วโมง มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละ 2- 4 นาที เพราะต้องตรวจผู้ป่วยวันละ 100 คนขึ้นไป ส่งผลให้แพทย์ลาออกมากขึ้น จำนวนแพทย์ที่เหลืออยู่ก็ต้องทำงานหนักขึ้น จึงส่งผลไปยังปัญหาในข้อ 4

4.แพทย์ลาออกอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์ไปหางานทำในโรงพยาบาลเอกชนได้ง่ายและได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าทำงานให้กระทรวงสาธารณสุขถึง 10 เท่า และมีภาระงานน้อยกว่า เลือกสถานที่และเวลาการทำงานได้ ทำให้แพทย์ที่ยังไม่ลาออกต้องทำงานเพิ่มขึ้นเกิดความเครียดและอึดอัดคับข้องใจ เสี่ยงต่อความผิดพลาดและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยคดีอาญา เสี่ยงต่อการถูกตัดสินจำคุกทั้งๆที่ตั้งใจจะรักษาประชาชน

นอกจาก เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ เพียงหนึ่งในสิบของที่เอกชนจ่ายให้แพทย์แล้ว แพทย์ยังมีภาระงานมาก เสี่ยงอันตรายต่อการถูกฟ้องและถูกจำคุก ทำให้ลาออกมากขึ้นทุกปี ทำให้แพทย์ที่ยังเหลืออยู่ต้องรับภาระงานมากขึ้น ต้องรีบเร่งในการตรวจรักษาประชาชน เกิดความเสี่ยงต่อการขาดมาตรฐานที่ดีทางการแพทย์ ประชาชนเสี่ยงอันตรายมากขึ้น แพทย์เสี่ยงถูกฟ้องมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเสี่ยงต่อการจ่ายเงินชดเชยมากขึ้น เป็นวงจรที่เลวร้ายกัดกร่อนทำลายระบบการบริการทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีมาตรฐานตกต่ำลงทุกวัน เพราะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงส่วนหนึ่งก็จะลาออกไปอยู่เอกชน ที่มีภาระงานน้อยและค่าตอบแทนสูง มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องน้อย

5.การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆเช่นพยาบาลมีน้อย ไม่พอทำงาน แต่ก็ไม่มีอัตราการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ จึงทำให้พยาบาลลาออกอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งๆที่มีภาระรับผิดชอบมากมายจนเสี่ยงต่อความผิดพลาดและอันตรายของผู้ป่วยเช่นเดียวกัน บุคลากรอื่นๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์และเทคนิเชียนต่างๆก็มีน้อย ทำให้การตรวจรักษาล่าช้า ผู้ป่วยต้องรอผลการตรวจยาวนาน ประชาชนต้องเสียเวลายาวนานในการไปโรงพยาบาล

6..ประชาชนฟ้องร้องและโกรธเคืองแพทย์มากขึ้น เพราะประชาชนคิดว่าบัตรทองอาจได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อการรักษาไม่ได้ผล(ทั้งๆที่อาจเกิดจากโรคแทรกซ้อน หรือการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้น หรือโรคไม่ตอบสนองต่อยา) โดยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์หรือโรงพยาบาล ประชาชนก็จะกล่าวโทษแพทย์ไว้ก่อน ซึ่งทำให้คดีฟ้องร้องแพทย์มีมากขึ้น จนนำไปสู่คำกล่าวว่า เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น จนนำไปสู่การตั้งศูนย์สันติวิธีเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่คิดหาทางป้องกันการฟ้องร้องโดยการจัดการให้ประชาชนสามารถสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และสามารถดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง โดยมีส่วนร่วมรับผิดชอบการจ่ายเงินในการได้หลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยลดจำนวนการเจ็บป่วยและการมาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์มีเวลาตรวกษาผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน จะป้องกันความผิดพลาดและความไม่เข้าใจของผู้ป่วยลงได้

7.ประชาชนได้รับความเสียหายจาการตรวจรักษามากขึ้น เนื่องจากปัญหาการชาดแคลนแพทย์และ.การกระจายตัวของแพทย์ ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ทำให้การรักษาและการผ่าตัดบางอย่างอาจจะไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย ซึ่งจะต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีเครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสม แต่ก็ยังขาดรถและอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรักษาต่อที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทำให้เสี่ยงอันตรายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอีกด้วย

8. การตั้งกองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ อาจก่อให้เกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องมากขึ้น เพราะประชาชนจะเข้าใจผิดว่า อาการเจ็บป่วยที่รักษาไม่หายหรือพิการ หรือตายนั้น น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์และการรักษาเสมอไป โดยลืมนึกไปว่ามีความเจ็บป่วย หรืออาการของหลายโรค ที่แพทย์ที่ดีที่สุดก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้

สิ่งที่ควรทำก็คือการตั้งกองทุนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เพื่อให้โรงพยาบาลจ่ายเงินชดเชยในกรณีเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นความผิดของแพทย์ โดยไม่ต้องให้ประชาชนร้องเรียนหรือฟ้องร้อง เพื่อลดปัญหาคดีความทางการแพทย์

9.การจัดสรรบุคลากรแพทย์โดยการบังคับให้ไปทำงานชดใช้ทุนตามชนบทที่ห่างไกล แทนการสร้างแรงจูงใจให้อยากทำงาน ทำให้แพทย์ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน เพราะอยู่ในประเทศเสรี แต่ถูกบังคับตามสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีสิทธิ์ขอย้ายสับเปลี่ยนกันได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แพทย์บางคนต้องเลือกการลาออกจากราชการ

10.การจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ ทั้งอัตราเงินเดือนและอัตราค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการของบุคลากรทางการแพทย์ไม่เป็นไปตามภาระงาน และต่ำกว่าภาคเอกชนอย่างที่สุด โดยที่แพทย์ต้องถูกกำหนดให้ทำงานรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยได้รับค่าตอบแทนต่ำและบางแห่งก็ได้รับน้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการ(มีแต่ตัวเลข ไม่มีเม็ดเงิน เพราะระเบียบให้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาล)

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทางการแพทย์

1.การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.การปฏิรูประบบบริการทางการแพทย์แบบการแพทย์พอเพียง

3.การพัฒนาการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ โดยการจัดสรรตำแหน่ง เงินเดือน และค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเปรียบเทียบได้กับราคาตลาด (ตามแนวทางของสำนักงานข้าราชการพลเรือน)

4.การตั้งกองทุนเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วย

5.การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว เพื่อลดการเจ็บป่วยและลดการไปโรงพยาบาล

โดยฝากความหวังไว้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองของกระทรวงสาธารณสุข ว่าทั้งหลายจะใช้ความรู้ ความสามารถ และความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องและจริงจังแก้ปัญหาทางการสาธารณสุขและการแพทย์ได้สำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทยทุกคนได้อย่างยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook