ศิปล์แห่งแผ่นดิน - วัดสีสะเกด เวียงจันทน์

ศิปล์แห่งแผ่นดิน - วัดสีสะเกด เวียงจันทน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมืองวังเวียง ธรรมชาติสวยงามด้วยเขาหินปูนสูงตระหง่านมีให้ชื่นชม และให้หวั่นไหว เพราะมีสัมปทานซีเมนต์

ลำน้ำซองใสสะอาด รินไหลหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินอันงดงามทรงเสน่ห์

// //

ตัวเมืองวังเวียง เคลื่อนไหวคึกคัก และคลุ้งไปด้วยฝุ่นแห่งความเปลี่ยนแปลง สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ยามค่ำคืนอบอวลไปด้วยสีแสงเสียง มีทั้งด้านสว่าง และมุมมืดสลัว มีสะพานแขวนมากมายทอดข้ามลำน้ำซอง นำผู้คนไปสู่ความสำเริงสำราญอย่างสุดเหวี่ยงของอีกฟากฝั่ง ฝรั่งมังค่ามีอิสรเสรีอย่างเต็มที่ ร้องรำทำเพลง ดื่ม กิน เสพ กัน บนสวรรค์ชั้นวังเวียง

สิบสองชั่วโมง กับการเดินทาง มาถึงเวียงจันทน์

เมืองหลวงที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้าม อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จุดแรกที่ต้องไปชมคือ พระธาตุหลวง ซึ่งเป็นทั้งศาสนสถานสำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจแห่งชาวลาว ด้านหน้าองค์พระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ประทับนั่งบนฐานบัลลังก์ แลเห็นเด่นสง่าโดยมีพระธาตุหลวงสีทองอร่ามเป็นฉากหลัง

สถานที่สำคัญต่อมาคือ หอพระแก้ว ตั้งอยู่ใกล้กับ หอคำ หรือทำเนียบประเทศ ถนนเชษฐาธิราช แต่เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา

ตรงข้ามกัอีกฝั่งฟากถนนเชษฐาธิราช คือ วัดสีสะเกด ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุวงศ์ เดิมชื่อวัด สตสหัสฺสาราม ความหมายว่า วัดเจ็ดแสน ที่น่าสนใจคือ วัดนั้นเป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายในคราวที่กองทัพสยามบุกเข้ายึดครองเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2371 ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ วัดนี้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในระเบียงที่รายรอบพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปมากมายกว่า 6 พันองค์ ประดิษฐานอยู่ ภายในบริเวณวัด มีหอไตรที่มีทรงหลังคาแบบพม่า

ด้านหลังพระอุโบสถมีรางไม้รูปพญานาค เหมือนที่พบได้ทั่วไปตามวัดต่างๆ ของลาว รางไม้นี้ใช้ในพิธีสรงน้ำพระในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เช่นเดียวกับไทยเรา

ที่เขียนถึงวัดสีสะเกด ก็เพราะรู้สึกแปลกตาที่ได้เห็นพระอุโบสถแบบรัตนโกสินทร์ซึ่งอยู่ในสภาพเดิม (มีการบูรณะน้อยมาก) ดูเข้มขลังแสดงพลังแห่งอดีตได้อย่างวิเศษ พาให้ย้อนรำลึกถึงความสุข ความเศร้า ความรัก ความชัง ความสูญเสีย ตั้งแต่ครั้งที่ผืนแผ่นดินยังไม่ถูกขีดเส้นเขตแดน

การมาเยี่ยมยาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากได้ชื่นชมธรรมชาติ ป่าเขา สายน้ำ บ้านเรือน ศิลปะ แล้วยังเหมือนได้สลายเส้นเขตแดน ได้ก้าวพ้นการแบ่งเขาแบ่งเรา ได้รู้สึกเชื่อมโยงผูกพัน ด้วยทั้งภาษา วัฒนธรรม อาหารการกิน ชีวิตความป็นอยู่ของเราทั้งสองนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันมาก่อน จะมีการแบ่งแยกด้วยเส้นเขตแดน

วัดสีสะเกด เป็นสถาปัตยกรรมแบบสยาม ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินลาว หากมองด้วยสายตา และหัวใจที่เข้าถึงความดี ความงาม เยี่ยงผู้เข้าถึงพุทธศาสนาแล้ว วัดแห่งนี้ให้ความรู้สึกสงบสันต์ยิ่งนัก

วัดสีสะเกดยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชลาว (ปัจจุบันเรียกว่า ประธานคณะสงฆ์ลาว แห่งองค์กรพุทธศาสนสัมพันธ์ หรือ อพส.)

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

ตะลุยข่าว - 388 ศพสึนามิ...ยังไม่ได้กลับบ้าน

แม้พิบัติภัยสึนามิจะผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี ทว่าภาพความเสียหาย การล้มตาย และสูญหายไปของคนอันเป็นที่รัก ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเหมือนภาพฝันร้ายในคืนที่แสนยุ่งเหยิง หลายครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับมหันตภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และธุรกิจ เสียงหวีดร้องโหยหวนและร่ำไห้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ยังคงก้องอยู่ในมโนสำนึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook