ค่าไฟฟ้าพุ่งอีก! เอฟทีงวดสุดท้ายปีนี้

ค่าไฟฟ้าพุ่งอีก! เอฟทีงวดสุดท้ายปีนี้

ค่าไฟฟ้าพุ่งอีก! เอฟทีงวดสุดท้ายปีนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

29 ก.ค. - ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที งวดสุดท้ายพุ่งขึ้นอีก ตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงในไตรมาส 2 ปีนี้ จะสะท้อนในต้นทุนงวดสุดท้ายปีหน้า ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นห่วงต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตพุ่งหากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้ามากเกินไป แจงต้นทุนจากถ่านหินถูกกว่า

ในงานเสวนา "ไฟฟ้าไทยในอนาคต" ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน กฟผ. ยอมรับว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีในงวดหน้า (ก.ย.-ต.ค.) จะปรับสูงขึ้นอีกตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน แต่จะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณา นอกจากนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทียังเหลือค้างที่ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อนในงวดนี้ 19 สต./หน่วย จากที่ต้นทุนปรับขึ้นจริง 57 สต. รวมเป็นวงเงินที่ กฟผ.รับภาระแทนประชาชน 14,000 ล้านบาท โดยคงต้องรอมติ กกพ.ให้ชัดเจนว่า จะจ่ายคืนต่อ กฟผ.อย่างไร จากที่ กกพ. เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าจะเกลี่ยคืนเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือคิดค่าไฟฟ้าจากเอฟที งวดละประมาณ 8 สต./หน่วย ส่วนต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลงในไตรมาสที่ 2 ปีนี้จะไปสะท้อนในต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายปีหน้า

ทั้งนี้ ในงานเสวนาฯ ยังระบุด้วยว่า การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงและลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากที่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึงร้อนละ 70 ดังนั้น จึงควรจะกระจายไปยังถ่านหินสะอาด ซึ่งมีสำรองถึง 200 ปี ต้นทุนถูกกว่าและสามารถจัดการปัญหามลภาวะได้ ในขณะที่ ก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะหมดลงในกว่า 10 ปีข้างหน้า และประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดยหากเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าจากราคาถ่านหินในปัจจุบันที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน พบว่ามีต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณ 2.30 บาท/หน่วย แต่แอลเอ็นจีมีราคาสูงถึง 16-18 สตางค์ต่อหน่วย มีผลต่อต้นทุนไฟฟ้าสูงถึง 5 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย

ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กฟผ.จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง รวม 3,200 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดจะสร้างในพื้นที่ภาคใต้ โรงแรกจะเข้าระบบปี 2562 อยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่หลังจากนั้นจะทยอยเข้าระบบทุก 3 ปี สาเหตุที่เลือกในพื้นที่ภาคใต้ก็เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ต่อปี กำลังผลิตไม่เพียงพอต้องส่งจากพื้นที่ภาคกลางทำให้เกิดปัญหาความสูญเสียของระบบส่งไฟฟ้า โดยปัจจุบันนี้โรงไฟฟ้าในภาคใต้มีกำลังผลิตเพียง 2,100 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีถึง 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งในขณะนี้ กฟผ.ได้ศึกษาพื้นที่และทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ควบคู่กันไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก กกพ.เกลี่ยค่าไฟฟ้า คืน แก่ กฟผ. 1 ปีจะทำให้ค่าไฟฟ้างวดใหม่ปรับขึ้นอย่างต่ำ 8 สต./หน่วย โดยค่าไฟฟ้าเอฟทีนอกจากจะผันแปรตามค่าก๊าซฯ ที่ผันแปรตามน้ำมันแล้ว ยังขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าหากสูงกว่าแผนประมาณการณ์ต้นทุนจะต่ำลง โดยเอฟทีงวดที่ผ่านมา คำนวณจากค่าเงิน 30.92 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ราคาก๊าซธรรมชาติ 301.28 บาทต่อล้านบีทียู เบื้องต้นคาดราคาก๊าซเพิ่มอีก 10 บาทต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 6 สต.ต่อหน่วย ในขณะที่ กฟผ. ระบุไม่สามารถรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าเกิน 2 หมื่นล้านบาท ไม่เช่นนั้นกระทบฐานะการเงิน - สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook