น.ศ.วิพากษ์ปัญหาสุขภาพ พืชผัก-ปนเปื้อนสารเคมี

น.ศ.วิพากษ์ปัญหาสุขภาพ พืชผัก-ปนเปื้อนสารเคมี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เวทีวิพากษ์

สุพจน์ สอนสมนึก

ด้วยการดำเนินชีวิตของผู้คนเมืองใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลาและภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เผชิญกับมลภาวะอยู่ทุกวี่วัน ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนเหล่านี้โดยตรง เป็นปัญหาสุขภาพแอบแฝงอยู่ในร่างกายคนเมืองโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะด้านอาหารที่รับประทานทุกวัน ที่มีความเสี่ยงในเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีที่มีการนำเข้าปีละจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรสน.) จึงนำเอาปัญหานี้มาพูดคุยเพื่อเป็นแนวทางว่าควรหลีกเลี่ยงอย่างไร

เริ่มจาก น.ส.แววดาว สิงห์จันทร์ อายุ 23 ปี ชั้นปีที่ 3 สาขาก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรสน. บอกว่า เคยสอบถามและติดตามในตลาดสดสกลนครและหลายอำเภอ พบว่าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่มาจำหน่ายจำพวกพืชผักและผลไม้ มาจากตลาดแห่งหนึ่งในจ.อุดรธานี เป็นตลาดสินค้าทางการเกษตรขนาดใหญ่ของจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งในแต่ละวันมีปริมาณสินค้าทางการเกษตรกว่า 500 ตันมาพักที่ตลาดในจุดนี้ จากนั้นก็จะถูกส่งขายไปตามจังหวัดใกล้เคียง โดยมีรถยนต์พ่อค้าขายปลีกและส่งมารับอีกทอดหนึ่ง นั้นหมายความว่าสินค้าเหล่านั้นมาจากหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาคือการบริโภคว่าจะทราบได้อย่างไรว่าพืชผักเหล่านั้นมีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ จากการสำรวจผู้ที่นำพืชผักเข้ามาจำหน่ายในตลาดสด 5 แห่งในสกลนครมาตรวจสอบพบว่า พืชผักที่พบยาฆ่าแมลงปนเปื้อนได้แก่ พริกสด กระเทียม และคะน้า ทำให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายต่อผู้บริโภค

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและจัดการก่อนที่จะบริโภคควรทำให้สะอาด โดยการล้างและทำตามหลักสุขอนามัยก็จะช่วยได้บ้าง ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยก็มาจากการบริโภคที่ไม่ระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น การขาดความเข้าใจก็ทำให้เป็นความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง การบริโภคทุกครั้งไม่ใช่ตามใจปาก และเห็นว่าสินค้ามีสีสันสวยงามและสดนั้นน่าจะมีอันตรายแฝงอยู่ จึงน่าจะมีการแนะนำและร่วมรณรงค์ลดการใช้สารเคมี และหันมาช่วยกันสร้างสังคมการเกษตรที่ไม่มีสารเคมี ยังช่วยภาวะโลกร้อนสิ่งแวดล้อมอีกด้วย น.ส.แววดาวกล่าว

น.ส.ณัฐจมาภรณ์ หลินปาก อายุ 22 ปี ชั้นปีที่ 3 สาขาก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มร.สน. เปิดเผยว่า ผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคพืชผักที่มีสารเคมีมีมากมาย โดยเฉพาะการที่บริโภคอะไรที่สวยงาม เช่น ผัก-ผลไม้ เพราะหากผลไม้ที่มีผิวสวยดี อาจจะแฝงไปด้วยสารเคมี เมื่อเรารับประทานจะต้องทำความสะอาดก่อน ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีจนน่ากลัว ทราบมาว่าในพื้นที่เขตอีสานตอนบน การขุดเจาะน้ำบาดาลลึกต้องเกิน 9 เมตร จึงจะพ้นการซึมลึกหรือการตกค้างสารเคมี แสดงว่าภายใต้ความลึกแค่ 9 เมตรจะมีสารเคมีตกค้างอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นการสั่งสมมากี่ปี จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ปริมาณพืชผักที่ไหลเข้าไปในแต่ละจังหวัดก็หมายถึงการเข้าไปของสารเคมีเหล่านั้นด้วย

จึงอยากบอกว่าการรับประทานอาหารหากไม่เลือกสรรให้ดีอาจมีการบริโภคสารเคมีที่ตกค้างเข้าไปด้วย รายงานการเจ็บป่วยและการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มสูงจึงน่าจะมีส่วนในจำนวนนี้ สิ่งที่อยากให้จัดการทันทีก็คือลดการนำเข้าสารเคมี ทราบมาว่าประเทศที่ผลิตสารเคมีเหล่านั้นในประเทศที่ผลิตกลับไม่ให้ใช้สารเคมี มีเพียงประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้นที่นำเข้ามาและทำร้ายคนในประเทศนั้น การสร้างความเข้าใจ และให้ความรู้ของพิษภัยสารเคมี จึงน่าจะเป็นหนทางที่ป้องกันโรคร้ายและสารเคมีเหล่านั้นมาทำร้ายคนไทย เริ่มต้นวันนี้ดีกว่าไม่ทำ น.ส.ณัฐจมาภรณ์กล่าว

นายนัฐวุฒิ โคตรบรม อายุ 21 ปี ชั้นปีที่ 3 สาขาก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรสน.บอกว่า สังเกตจากการเจ็บป่วยของคนในปัจจุบัน น่าจะมาจากการรับประทานหรือการกินที่มักง่ายและเอาเปรียบของผู้ผลิต การใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพของรัฐบาลปีหนึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยที่รัฐต้องเป็นภาระ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขก็คือ กฎหมายการนำเข้าสารเคมีหรือการใช้สารเคมีเฉพาะพืชบางชนิดเท่านั้น ไม่ใช่หาซื้อง่าย จนทำให้คนไทยอายุสั้น เรื่องนี้รัฐบาลต้องเอาจริง หากไม่เช่นนั้นแม่น้ำ ลำคลอง ก็จะเต็มไปด้วยมลพิษ

น.ส.ณัฐยานี ทศสะ อายุ 20 ปี ชั้นปีที่ 2 โปรแกรมภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรสน. ให้ความเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดจากการ บริโภคพืชผักที่มีสารเคมีปนเปื้อนนั้นทำให้ร่างกายสะสมมลพิษ ในปีหนึ่งรัฐต้องสูญเสียเงินในส่วนนี้จำนวนไม่น้อย ถึงวันนี้มองว่าพืชผักที่มีการนำเข้ามาจำหน่าย บอกได้เลยว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีแน่นอน เคยมีการแนะนำพระสงฆ์บางวัดไปตรวจร่างกาย พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือด ทั้งที่พระไม่เคยไปปลูกพืชผักอะไร แต่จากการสอบถามพระเณรนั้นพบว่าฉันส้มตำมะละกอเป็นประจำและผักสดด้วย น่าจะเป็นสาเหตุของการสะสมสารเคมี แต่ยิ่งในรายที่เป็นเกษตรกรยิ่งน่าจะมีความเสี่ยงกว่านั้น สิ่งที่ควรแก้ไขก็คือการรณรงค์และช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ปลูกผู้ผลิตลดสารเคมีลง และกลุ่มผู้บริโภคก็หันมาซื้อสินค้าที่ไม่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะหน่วยงานทางราชการต้องออกมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องและทันที

น.ส.พรพรรณ บันเทิงใจ อายุ 22 ปี ชั้นปีที่ 3 โปรแกรมภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรสน. กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขที่มีการนำเข้าพืชผักในสกลนคร และสินค้าเหล่านั้นพบว่ามียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่ด้วย ยิ่งทำให้เกิดความกลัว และต้องระมัดระวังการกินการบริโภค สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็คือการปลูกพืชผักเหล่านั้นกินเอง ซึ่งในบ้านทำอย่างนี้มานานและไม่กลัว หากจะซื้อผักเหล่านั้นก็จะให้วิธีเลือกผักที่มีแมลงกัดหรือแทะ เพราะเชื่อว่ามียาปนเปื้อนน้อย

การใช้สารเคมีในประเทศไทยมีการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อีกอย่างกฎหมายเอาผิดกับเรื่องนี้ก็เบาและไม่เคยมีการบังคับใช้ รัฐบาลเองหรือทุกคนบอกว่าวันนี้โลกเรามีปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อมเสียไป น่าจะมาจากการใช้สารเคมีส่วนหนึ่ง หากเราลดสารเคมีลงได้ก็ทำให้ลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน แต่เรารณรงค์แต่ปลูกต้นไม้ แต่การรณรงค์เรื่องการใช้สารเคมีมีน้อย และที่สำคัญการเอาผิดหรือกฎหมายในเรื่องการใช้สารเคมีแทบจะไม่มี วันนี้สารเคมีกับเกษตรกรและคนในเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้ คือ การสร้างความเข้าใจพิษร้ายของสารเคมี ออกกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจังกับการนำสารเคมีเข้ามาใช้ หากทำได้เชื่อว่า โรคภัยจากโรงงานในเมืองย่อมไม่ส่งผลกระทบคนในชนบท แน่นอนเพราะสารเคมีคือ มัจจุราช ที่มองไม่เห็นตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook