ศาลรับหาวิธีดูแลขรก.พลเรือน

ศาลรับหาวิธีดูแลขรก.พลเรือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า จากการที่ตนและนายประหยัด พิมพา นักวิชาการ 8 ว สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ยื่นฟ้องนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ได้ลงนามในกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551 พร้อมทั้งฟ้องนายกรัฐมนตรี รมว.การคลัง รมว.ศึกษาธิการ เลขาธิการ ก.พ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้พิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและหามาตรการ หรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ระงับ หรือเพิกถอนคำสั่งในกฎ ก.พ.ดังกล่าว เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งที่เลือกปฏิบัติ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ทำให้ข้าราชการพลเรือน 7 ว และ 8 ว ที่ถูกจัดอยู่ในสายงานตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ จาก 19 กระทรวง และ 1 องค์กรอิสระ รวม 34,317 คน ไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 3,500 และ 5,600 บาท นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีวินิจฉัยแล้วว่าให้ยกคำขอไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะฉุกเฉิน แต่ศาลฯได้รับที่จะพิจารณาในการกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ระงับ หรือเพิกถอนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎ ก.พ.ตามที่ผู้ฟ้องยื่นขอ ซึ่งจะมีการพิจารณาและออกคำสั่งต่อไป

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ยังมีข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)อีก 14,000 คน และ สังกัดสถาบันอุดมศึกษา ประมาณ 12,000 คน รวมถึงข้าราชการสายงานตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีก 39,220 นาย ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ด้วย ซึ่งการจัดนักวิชาการ (ว) และวิชาชีพ (วช) มาอยู่ในแท่งเดียวกัน โดยให้สาย วช ได้รับเงินประจำตำแหน่ง แต่สาย ว ไม่ได้รับถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และจากการพิจารณางบฯปี 2552 พบว่า รัฐบาลได้ตั้งงบฯหมวดแผนงานบริหารบุคลากรภาครัฐไว้ 178,760 ล้านบาท ดังนั้นถ้าบริหารงบฯ อย่างทั่วถึงก็น่าที่จะเพียงพอต่อข้าราชการพลเรือนที่ตกหล่น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook