มสด.เปิดเวทีวิพากษ์ ครูแบบไหน-ถูกใจวัยโจ๋

มสด.เปิดเวทีวิพากษ์ ครูแบบไหน-ถูกใจวัยโจ๋

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เวทีวิพากษ์

ปาเจรา จริยาโหนติ คุณุตตะรานุสาสะกา เสียงสวดมนต์ที่ขับขาน อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า วันครู หรือ วันที่ 16 ม.ค. ของทุกปี ประเพณีที่แสดงถึงความเคารพ นอบน้อมต่อครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกคราหนึ่ง แต่จากแรงเสียดทานจากสังคมที่ ครู ต้องเผชิญอันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น อาจทำให้บางครั้งครูบางส่วนออกอาการแกว่ง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปบ้าง จนอาจทำให้ชื่อเสียงของครูหม่นหมองไปบ้าง อย่างไรก็ตามการสอบถามทัศนคติที่มีต่อครูจากสังคม โดยเฉพาะ วัยรุ่น...วัยโจ๋ น่าจะเป็นวิธีที่วัดกระแสความรู้สึกที่สังคมมีต่อครูได้อย่างชัดเจนที่สุด

น.ส.นาตยา อธิวาสนขันติ หรือ น้องส้ม นักศึกษาหลักสูตรอังกฤษธุรกิจ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับครูว่า ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ สำหรับตนเองนั้นรู้สึกประทับใจครูที่เคยสอนในระดับชั้นมัธยมฯมาก เนื่องจากคุณครูคนนี้ขณะที่มาสอนนั้นไม่สบาย ป่วยเป็นโรคมะเร็งแต่ก็มาสอนปกติ ตนเองและเพื่อนๆ เคยถามว่าทำไมคุณครูไม่พักผ่อน แต่คุณครูท่านนี้ตอบว่า ครูรักในอาชีพครู อยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและยังอยากถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้กับนักเรียนก่อนที่จะไม่มีโอกาสอีกต่อไป จากคำตอบนี้ทำให้ตนเองและเพื่อนๆ คิดได้และตั้งใจเรียนกันทุกคน และระลึกถึงความเสียสละและอดทนของคุณครูท่านนี้ตลอดมา กลายเป็นจิตสำนึกที่ดี ที่ตนเองก็นำมาใช้จนถึงปัจจุบันนี้ด้วยว่า ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดก่อน

น.ส.เฉลิมลักษณ์ ภาคเจริญ หรือ น้องแหมว นักศึกษาหลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 3 มสด. กล่าวถึงลักษณะของครูที่ตนเองชอบว่า อยากได้ครูที่ตั้งใจสอน เข้าใจและเป็นกันเองกับนักเรียน มีความรับผิดชอบ ยุติธรรม ตรงเวลา เสียสละมีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร่าเริงแจ่มใส สุภาพ มีอารมณ์ขัน มีวิธีสอนแปลกๆ ที่ดึงดูดให้เรียน ให้คำแนะนำและเอา ใจใส่ดูแลผู้เรียน สำหรับวันครูที่ 16 มกราคมนี้ตนเองตั้งใจระลึกถึงพระคุณครูทุกท่าน ถึงแม้จะไม่สามารถกลับไปกราบหรือนำพวงมาลัยไปให้ด้วยตัวเองได้ แต่สิ่งที่ทำได้ ณ ขณะนี้คือ การตั้งใจเรียนให้ประสบความสำเร็จและเป็นคนดีของสังคม ตามที่คุณครูทุกท่านได้เคยอบรมสั่งสอนมา

นายจิรเสกข์ กนกนัครา หรือ น้องบอล นักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มสด. กล่าวถึงครูว่า ตนเองรักและเคารพครูทุกท่านที่เคยสอนมา แต่จะประทับใจคุณครูผู้สอนอยู่ 1 ท่าน ซึ่งเป็นคุณครูสอนภาษาต่างประเทศ สิ่งที่ประทับใจมิรู้ลืมคือ ท่านเป็นผู้มีความขยันอดทน มีความตรงต่อเวลา เข้าสอนทุกครั้งไม่เคยเข้าสายเลย ท่านให้ความรัก ความเอาใจใส่ ห่วงใยลูกศิษย์ทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งท่านจะเป็นครูที่ดุบ้าง แต่ก็เข้าใจ เพราะท่านมีความปรารถนาดีอยากให้ลูกศิษย์ทุกคนเป็นคนดี สำหรับความคาดหวังที่อยากให้ครูในอนาคตเป็นอย่างไรนั้น ตนเองมองว่า ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป ครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ครูต้องเก่งและสามารถถ่ายทอดความเก่งให้กับผู้เรียนให้มีความเก่งไปด้วย ให้ความรู้ควบคู่ความบันเทิง เข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียน มีอารมณ์ขัน มีความเป็นกันเองเป็นมิตรที่ดี ที่สำคัญต้องมีความรักในอาชีพครูมีความเสียสละและอดทน เนื่องจากครูมีรายได้น้อย และอยากฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับครู ส่งเสริมสวัสดิการและค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับครูผู้สร้างอนาคตของประเทศชาติด้วย

ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า อยากให้วิชาชีพครูได้รับการยอมรับจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชนและผู้ปกครองมากขึ้น แต่การจะเป็นที่ยอมรับได้นั้น ครูเองต้องเป็นผู้ปฏิบัติได้อย่างมืออาชีพ ต้องพัฒนาตนเองให้เก่ง และสามารถทำให้เด็กเก่งได้ด้วย การทำให้คนในประเทศมีคุณภาพสูง สามารถคิด ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ และสามารถไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป และอยากฝากรัฐบาลให้ดูแลการผลิตครู และความเป็นอยู่ของครูให้ดีขึ้น นอกจากนี้ตนเองตั้งใจผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนให้ทุนสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเป็นครู เมื่อศึกษาจบแล้วก็จะให้บรรจุ ในระหว่างเรียนให้ผู้เรียนรู้วิธีการทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะ ฝึกทำผลงานจริง เมื่อปฏิบัติงานครบ 6 ปีพร้อมส่งผลงาน จะให้เป็นครูชำนาญการ และครูชำนาญการพิเศษทันที ซึ่งตนเองมองว่าอยากจะยกระดับและศักดิ์ศรีของครูให้มีรายได้ดี ไม่มีหนี้สิน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครูผู้เสียสละและมุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดีต่อไป

เสียงสะท้อนจากข้างต้นนี้ คือภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใด? แต่ถึงอย่างไร ครู ก็ยังเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องของคนในสังคมไทยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง...จากอิทธิพลของยุคแห่งการจัดการความรู้ หรือ K.M. ที่ทำให้องค์ความรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น ย่อมส่งผลให้ ครู อาจจำเป็นต้องมีการปรับตัว พัฒนาความรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเองให้สมเป็น ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาครู ตามคำขวัญ วันครูปี 2552

คงไม่ถึงขนาดต้องปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง วงการครู เพียงแค่ ปรับปรุง เพียงเล็กน้อย ก็น่าจะทำให้ได้ครูที่ถูกใจสังคม...ถูกใจวัยโจ๋ ได้ไม่ยาก...ไม่เชื่อก็ต้องลองทำดู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook