เส้นทางสู่เส้นชัย ''ทีวีไทย''...ทีวีสาธารณะ

เส้นทางสู่เส้นชัย ''ทีวีไทย''...ทีวีสาธารณะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นับจากวันที่ 15 มกราคม 2551 ซึ่งถือเป็นวันก่อตั้งทีวีสาธารณะ (TPBS : Thai Public Broadcasting Service) หรือสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยในปัจจุบันอย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าทีวีช่องนี้ ได้รับผลกระทบโดยถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะถูกมองว่า การเกิดขึ้นของทีวีช่องนี้ มีที่มาที่ไปจากการเมือง แม้ด้วยเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสถานี จะเป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ตาม

บรรลุภารกิจที่ท้าทาย

สิ่งที่ท้าทายผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ คือ การที่ต้องทำให้ทุกคนเห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน เพราะเหตุที่ ทีวีไทย ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของเอกชน กับผลประโยชน์ของรัฐ ทำให้คนไทยคาดหวังที่จะได้เห็นสถานีโทรทัศน์ ที่มีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวมาทับซ้อนกับตำแหน่งหน้าที่ การดำเนินงานที่มีประโยชน์สาธารณะ

นอกจากนี้ ในส่วนของเนื้อหารายการโดยเป้าหมายของการเกิดขึ้นของสถานี คือ การส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะสามารถเห็นเด่นชัดได้จริงหรือไม่ ในสถานีแห่งนี้ และผู้บริหารสถานีจะทำอย่างไร จึงจะสามารถทำให้คนดู ให้ความสนใจกับรายการในสถานี เพราะมีการตั้งโจทย์ไว้ก่อนแล้วว่า ทีวีสาธารณะ จะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่น่าเบื่อ ซึ่งคงไม่ต่างกับทีวีช่อง 11 ก่อนหน้านี้ ที่มีฐานคนดูน้อยมาก ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้บริหารจะทำอย่างไร

จากความท้าทายที่ว่า ผู้ที่ถูกท้าทายอย่างชัดเจน เห็นจะได้แก่ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรืออดีตผู้รักษาการผู้อำนวยการสถานี และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในฐานะของผู้บริหารสถานีโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ นายเทพชัย ถูกจับตามองตั้งแต่เริ่มแรก เพราะความเป็นอดีตผู้บริหารเครือเนชั่น ผู้คนต่างมองกันว่า จะมีคนเนชั่น เข้ามาร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์แห่งนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ นายเทพชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ตั้งแต่เริ่มแรกเลยว่า

การมาตรงนี้ถือเป็นความต้องการส่วนตัว ผมอยากทำทีวีสาธารณะ เพราะฉะนั้นผมต้องทำตัวเองให้โปร่งใส และไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ซึ่งก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ ได้ถูกทาบทามมาระยะหนึ่ง และได้ตัดสินใจในเวลาต่อมา เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันที่จะทำ การวางรากฐานในช่วง 6 เดือนแรกถือว่าสำคัญมาก หากเป๋เสียตั้งแต่ต้นก็ไม่ดีแล้ว ส่วนเรื่องของรายการจากกระแสตอบรับ ทั้งในแง่ของข่าว และรายการ ถือว่าทีวีไทย สอบผ่าน เพราะรายการที่นำเสนอหลายรายการ เป็นที่ชื่นชอบของคนดู ถึงขนาดมีการติดตามข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องนี้

นายเทพชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า พอใจกับเสียงตอบรับการเริ่มต้นปีแรกของ ทีวีไทย ซึ่งปีหน้าจะมีความสมบูรณ์แบบของความเป็นทีวีสาธารณะมากขึ้น ส่วนภารกิจด้านการทำให้สถานีแห่งนี้ เป็นส่วนร่วมกับภาคประชาชน ปีนี้ถือเป็นปีที่ทีวีไทย จะแสดงบทบาทในส่วนให้ประชาชนได้เห็นชัดเจนมากขึ้น

ทุ่ม100 ล.หนุนผู้ผลิตอิสระระดับชุมชน

ในวันที่ 12 มกราคมนี้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้จัดงานแถลงข่าวครบรอบ 1 ปี อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งรีแบรนด์ทีวีไทยครั้งใหญ่ โดยในงานนี้ จะมีทั้งการ เปิดตัวอัตลักษณ์ หรือโลโกใหม่ของสถานี พร้อมทั้งเปิด ชื่อ ทีวีไทย ซึ่งจะใช้เป็นชื่อเรียกสถานีโทรทัศน์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ

สำหรับโลโกใหม่ของสถานี จะเป็นโลโกที่แสดงถึงเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ใช้สีส้ม แสดงความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง การเคลื่อนไหว และความอบอุ่น ส่วนผังรายการที่จะมีการปรับใหม่ เริ่มจากการให้ความสำคัญกับเนื้อหา เช่น รายการข่าว จะให้ความสำคัญกับข่าวท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มากขึ้น ลดปริมาณข่าวประจำวันลง โดยสัดส่วนรายการของสถานี จะแบ่งเป็น รายการข่าว 45.25% รายการสารคดี 12.62% รายการสารประโยชน์ 16.14% รายการเด็กและเยาวชน 13.15% รายการสาระบันเทิง 12.02% และรายการกีฬา 0.83%

พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดสรรงบ 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตอิสระ และผู้ผลิตอิสระระดับชุมชน พร้อมทั้งปรับผังรายการ ซึ่งจะมีความหลากหลาย และตอบโจทย์ผู้ชมในทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ได้ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสื่อ ปฏิรูปประเทศไทย โดยต้นปี 2552 จะเริ่มโครงการนำร่อง เปิดพื้นที่ทีวีไทยให้เป็นรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตลอดวันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะร่วมกันตั้งโจทย์ รูปแบบรายการ และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการต่างๆ เสนอแผนเพื่อรับงบประมาณการผลิตรายการ

ส่วนการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับสถานี สถานีได้มีการผลักดันในระดับสถานีภูมิภาคให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมทำข่าวกับทีวีไทยมากขึ้น เช่น การพัฒนานักข่าวพลเมือง และการเปิดโครงการนำร่องที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมผลิตรายการ และยังมีแผนในการปรับปรุงสถานีภูมิภาคที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

บทพิสูจน์ขั้นต่อไปของสถานีทีวีสาธารณะแห่งแรกของไทยสถานีนี้ คงต้องรอดูผลตอบรับ จากรูปแบบรายการใหม่ๆ ที่ทางสถานีนำเสนอ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า ผลงานของ ทีวีไทย สามารถไปถึงเส้นชัยได้หรือเปล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook