ผบ.ทบ.ปัดถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.

ผบ.ทบ.ปัดถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.

ผบ.ทบ.ปัดถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

19 ก.ย. - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวกองทัพบกได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว ว่า ไม่ได้เป็นการถอนกำลังออกจากพื้นที่ แต่เป็นการปรับกำลังที่อยู่นอกพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็นกลับหน่วยเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งเป็นอำนาจแม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการทหารบก สามารถวางกำลังได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนพื้นที่ A B C D 4.6 ตารางกิโลเมตรยืนยันว่าเป็นกำลังที่อยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด

ส่วนกรณีที่จะนำ MOU ปี 2544 กลับมาใช้ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะศึกษารายละเอียดของกฎหมายว่าจะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี จะเข้ามาดูแลงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า ต้องดูกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ และต้องดูว่าองค์กรนี้จัดสายการบังคับบัญชาอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ว่า พล.อ.พัลลภ จะอยู่ตรงไหน

"บางตำแหน่งสั่งการได้ บางตำแหน่งสั่งการอะไรไม่ได้ ต้องไปดูข้อกฎหมายแล้วกัน ผมไม่ขัดข้อง ใครจะมาใครจะไป เพราะเราเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้ อย่าคิดว่า กอ.รมน.เป็นองค์กรที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ทำงานอยู่ในกรอบของนายกรัฐมนตรี ที่บางส่วนก็สั่งการโดยตรง บางส่วนก็สั่งผ่านลงมาที่ รอง ผอ.รมน.คือ ผู้บัญชาการทหารบก ทำอะไรต้องผ่านคณะกรรมการอำนวยการซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่าง ๆ และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะไปสั่งให้ไปทำงานการเมืองได้ มันหมดสมัยแล้ว ทุกส่วนต้องติดตามให้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว กอ.รมน.ไม่ใช่องค์กรของทหาร แต่เป็นองค์กรพิเศษที่ประกอบด้วยพลเรือน ตำรวจ ทหาร การทำอะไรก็ตามต้องเป็นมติของคณะกรรมการอำนวยการ สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

ด้าน พล.ต.ดิฏพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.ได้ทำหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีมาประชุมเพื่อรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจของ กอ.รมน. และเพื่อมอบนโยบายการทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ส่วนกรณีกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้ง พล.อ.พัลลภเป็น ผอ.รมน.นั้น กอ.รมน. มี พ.ร.บ.ที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. ซึ่งไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าใจกรอบของ กอ.รมน.มากน้อยเพียงใด ซึ่งคงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีมาฟังบรรยายสรุปของ กอ.รมน. ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว - สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook