ยืนยัน! กะหล่ำปลีปมนำเข้า ติดเชื้ออีโคไล

ยืนยัน! กะหล่ำปลีปมนำเข้า ติดเชื้ออีโคไล

ยืนยัน! กะหล่ำปลีปมนำเข้า ติดเชื้ออีโคไล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

11 มิ.ย. - นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าจากการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการด้านอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบกะหล่ำปลีปมที่นำเข้ามาจากยุโรปตอนเหนือ มีการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล ซึ่งจะต้องนำโคโลนีที่ได้ส่งให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ตรวจสอบต่อไปว่า ตัวอย่างเชื้อดังกล่าว เป็นเชื้ออีโคไลที่เป็นพิษหรือไม่ และเป็นเชื้ออีโคไล โอ 104 หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 3-5 วัน จึงจะทราบผล

อย่างไรก็ตาม การพบเชื้ออีโคไลในผักผลไม้ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในผักผลไม้ล้วนมีการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นอีโคไลที่ไม่มีพิษ หรือหากมีก็สามารถทำลายพิษได้ ด้วยการนำไปปรุงให้สุก ในความร้อน 70 องศาเซลเซียส ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และหมั่นล้างมือ รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง หรือรับประทานผลไม้สด ควรล้างทำความสะอาด และปอกเปลือกเพื่อความปลอดภัย สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบเชื้ออีโคไลนั้น ในการตรวจเพาะเชื้อให้ได้โคโลนี และการตรวจหาสารพิษ และชนิดของเชื้อแบคทีเรียนั้น จะต้องใช้เวลารวม 7-10 วัน จึงจะทราบผล

ขณะที่ด้าน นายไรน์ฮาร์ด เบอร์เกอร์ ผู้อำนวยการสถาบันโรเบิร์ต โคช ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคของเยอรมนี เปิดเผยว่า มีข้อมูลใหม่ที่ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 30 คน และล้มป่วยราว 3,000 คน อีกทั้งสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกผักทั่วทวีปยุโรป คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ น่าจะมีแหล่งที่มาจากถั่วงอกมากที่สุด

นายเบอร์เกอร์ กล่าวว่า ต้นเหตุมาจากถั่วงอก ซึ่งพบว่าผู้ที่บริโภคถั่วงอกมีโอกาสท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด หรือมีสัญญาณของการติดเชื้ออีโคไลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภคถึง 9 เท่า ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากผลการศึกษาประชาชนกว่า 100 คน ที่ล้มป่วยหลังจากรับประทานอาหารในภัตตาคาร

ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคของเยอรมนีเชื่อว่า ต้นกำเนิดของการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล มาจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งในรัฐโลว์เออร์แซกโซนี ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ผลการตรวจผักหลายชนิดในฟาร์ม เช่น มะเขือเทศ แตงกวา และผักกาดหอม ได้ผลเป็นลบ แต่ก็มีหลักฐานที่ยังคงบ่งชี้ว่า ฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งที่มาของการปนเปื้อนเชื้ออีโคไลในถั่วงอก - สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook