พัทลุงยังอ่วมน้ำท่วมหนัก 5 อำเภอ

พัทลุงยังอ่วมน้ำท่วมหนัก 5 อำเภอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์น้ำท่วม จ.พัทลุง ยังหนัก 5 อำเภอ ระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร หลายหมู่บ้านยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านยังรอการช่วยเหลือ

สถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมของจังหวัดพัทลุง ซึ่งขณะสามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน ล่าสุดฝนได้ทิ้งช่วง ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร สวนยางพารา สวนปาล์ม ในพื้นที่ ริมป่าเทือกเขาบรรทัด อ.กงหรา อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ อ.ตะโหมด ลดระดับลง ชาวบ้านที่อพยพอาศัยบ้านญาติ และศาลาหมู่บ้านเริ่มกลับ เข้าปัดกวาดที่อยู่อาศัยได้แล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ต.พญาขัน ต.ปรางหมู่ ต.ชัยบุรี ต.นาโหนด ต.ลำปำ อ.เมือง ต.ปันแต ต.แหลมโตนด ต.มะกอกเหนือ ต.พนางตุง ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน ต.หานโพธิ์ ต.เขาชัยสน ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน ต.ท่ามะเดื่อ ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ระดับน้ำยังสูง เกือบ 2 เมตร หลายหมู่บ้านยังคงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องใช้เรือในการเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อหาซื้ออาหารไว้รับประทาน และยังร้องขอน้ำดื่มที่สะอาดในอาการบริโภค ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม น้ำระบายไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้อย่างช้าๆ และสัตว์เลี้ยงอย่างโคเนื้อและโคนม เริ่มขาดหญ้าสด และอาหารแห้ง

ด้าน นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาอีกระลอก เนื่องจากน้ำเริ่มไหลลงสู่ทะเล โดยพื้นที่ 6 ตำบล ที่ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มสัญจรไปมาได้ เช่น อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นต้น รวมถึง ร.พ.กาญจนดิษฐ์ ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วนของความเสียหาย พบว่าส่วนใหญ่ถนนในแต่ละตำบลขาด แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสิ่งของ เพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกาะสมุย ผลจากฝนที่ตก เมื่อ 2 วันก่อน ทำให้มีน้ำท่วมขังบางส่วน ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคลื่นลมไม่สูงมาก ประชาชนและนักท่องเที่ยว ยังสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ

ขณะที่ นายแพทย์ กิตติ รัตนสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าศาลา เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ภายหลังจากโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นเวลา 100 ปี ในเช้าวันนี้ยังคงต้องหยุดบริการผู้ป่วย แม้ระดับน้ำจะลดลงแล้วก็ตาม เนื่องจาก ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องเร่งช่วยกันทำความสะอาด รวมถึง เช็ดล้างอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงต้องตรวจเช็ตระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทั้งหมด เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ทำการอพยพทั้งหมดไปรักษาต่อที่ ร.พ.สิชล ร.พ.ค่ายวชิราวุธ ร.พ.มหาราช และ ร.พ.เอกชนใกล้เคียง ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาในการรักษา เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีระบบส่งตัวผู้ป่วย เพื่อให้รักษาตามโรงพยาบาลอื่นได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาล ยังคงติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook