IAEAตรวจไม่พบกัมมันตภาพรังสีที่โตเกียว

IAEAตรวจไม่พบกัมมันตภาพรังสีที่โตเกียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลว่า ปส. ได้รับแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งระบุถึง ผลกระทบจากเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ (Fukushima Daiichi) ว่า จากการตรวจวัดสภาพอากาศในวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่พบวัสดุกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน และซีเซียม บริเวณใกล้กรุงโตเกียว

IAEA ยังรายงานผลการตรวจวัดผู้คน 150 คน โดยรอบที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และคนในเมืองที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พบว่า 23 คน ต้องได้รับการชำระล้างการเปรอะเปื้อนทางรังสี เนื่องจากวัดการเปรอะเปื้อนได้สูงกว่า 13,000 ซีพีเอ็ม (ซีพีเอ็ม เป็นหน่วยวัดระดับการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ต้องถูกกำจัดออกไป)

ส่วนปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ 4 ซึ่งเกิดเหตุไฟไหม้ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นั้น ในช่วงแรกมีการยืนยันว่า วัดระดับรังสีได้ 400 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ต่อมา ได้วัดรังสีที่ประตูทางเข้าหลัก ณ เวลา 07.00 น. วันที่ 15 มี.ค. ตามเวลาในประเทศไทย วัดได้ 11.9 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง จากนั้นในจุดเดียวกัน ณ เวลา 13.00 น. ระดับรังสีลดลงเหลือ 0.6 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

ส่วนการให้ประชาชนอยู่ในบริเวณที่พักอาศัย ได้ขยายขอบเขตเป็นระยะ 30 กิโลเมตร โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนบริเวณที่จำเป็นต้องมีการอพยพยังคงเดิม ที่ระยะ 20 กิโลเมตร โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook