WMO เผยกัมมันตรังสีญี่ปุ่นออกชายฝั่งแล้ว

WMO เผยกัมมันตรังสีญี่ปุ่นออกชายฝั่งแล้ว

WMO เผยกัมมันตรังสีญี่ปุ่นออกชายฝั่งแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เผย สารกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกุชิมะ ถูกกระแสลมพัดออกนอกชายฝั่งแล้ว ด้าน เทปโก เผย ไฟไหม้ขึ้นอีกครั้งที่เตาปฏิกรณ์ที่ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หมายเลข 1 ในจ.ฟูกุชิมะ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Organization) เปิดเผยว่า สภาพแวดล้อมทางอุตุนิยมวิทยาในขณะนี้สามารถบ่งบอกได้ว่าสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะถูกกระแสลมพัดออกนอกชายฝั่งแล้ว แต่เตือนว่าอาจเกิดความผันผวนขึ้นได้เพราะระบบอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงยังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าอีก 2-3 วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

ด้านสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ยกระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 6 จาก 7 ตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอุบัติเหตุร้ายแรง โดยระดับขั้นความรุนแรงของอุบัติเหตุครั้งนี้อยู่ตรงกลางระหว่างอุบัติเหตุที่ทรี ไมล์ ไอแลนด์ รัฐเพนซิลเวเนียในปี 2522 ซึ่งมีความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 5 ส่วนอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอยู่ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด


ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว NHK ระบุเหตุเพลิงไหม้อีกครั้งที่เตาปฏิกรณ์ที่ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หมายเลข 1 ในจ.ฟูกุชิมะ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 05.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งไปยังนักผจญเพลิงและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วโดยในขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังพยายามควบคุมเพลิง

ส่วน ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมและการประสานงานให้ความช่วยเหลือไปยังประเทศญี่ปุ่นเร็วๆนี้

ขณะที่ สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า น้ำในบ่อเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ของเตาปฏิกรณ์หมาย 4 กำลังเดือดและหากแห้งไปแท่งเชื้อเพลิงก็ร้อนสร้างก๊าซไฮโดรเจนและจุดชนวนให้เกิดการระเบิดอีก ทำให้ต้องมีการเตรียมใช้เฮลิคอปเตอร์เทน้ำลงไปเพื่อควบคุมความร้อน

ขณะเดียวกัน ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) องค์กรเฝ้าระวังทางนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า แท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ 2 ณ โรงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะ มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด และอาจนำไปสู่การรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตราย

"หลังจากเกิดระเบิด ณ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 3 ท่อบรรจุแท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 อาจได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของท่อบรรจุแท่งเชื้อเพลิง" การแถลงของ IAEA

อย่างไรก็ตาม IAEA ยังคงเป็นห่วงสถานะของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ เนื่องจาก ยังต้องฉีดน้ำทะเล เพื่อลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 เช่นเดียวกับ การพยายามคืนพลังงานแก่พื้นที่ทั่วไดอิชิ ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานตัวเลขล่าสุดที่มีการยืนยันในเวลานี้สูงกว่า 10,000 คนที่เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่น

รายงานระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด 3,373 ราย และมีตัวเลขผู้สูญหายอีก 6,746 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงขึ้นอีก เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นการยืนยัน ณ เวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อวานนี้

โดย จังหวัดมิยากิ ยืนยันผู้เสียชีวิตมากที่สุด 1,619 ราย , อิวาเตะ 1,193 ราย และ ฟุกุชิมะ 506 ราย นอกจากนี้ บรรดาสื่อต่างประเทศ ยังหวั่นวิตกเกี่ยวกับ ภาวะปริมาณสารกัมมันตภาพรังสี ที่เริ่มสูงมากขึ้นในกรุงโตเกียวด้วย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook