ป๋าเต็ด ยุทธนา: จะโพสต์รูปเสื้อวงจนกว่าจะได้จัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง | Sanook Music

ป๋าเต็ด ยุทธนา: จะโพสต์รูปเสื้อวงจนกว่าจะได้จัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง

ป๋าเต็ด ยุทธนา: จะโพสต์รูปเสื้อวงจนกว่าจะได้จัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • เสื้อวงดนตรี นอกจากจะเป็นแฟชั่นแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสร้างแบรนด์และสร้างรายได้ให้กับวงดนตรีด้วย
  • แคมเปญ “จะโพสต์เสื้อวงวันละตัวจนกว่าจะได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง” ไม่ได้หวังแคมเปญการเมือง แต่เกิดขึ้นเพื่อรอคอยวันที่จะได้จัดคอนเสิร์ต และทำให้วงดนตรีหลายวงเป็นที่รู้จักและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเสื้อวง
  • ในมุมของป๋าเต็ด เชื่อว่าคนปรับตัวรับมือโควิดได้ดีขึ้น ทำให้เกิดความหวังที่จะได้จัดคอนเสิร์ต เพียงแต่รัฐต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนให้กับผู้ประกอบการ
  • ป๋าเต็ดเชื่อว่าคอนเสิร์ตออนไลน์จะยังคงมีอยู่ต่อไป เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมคอนเสิร์ตกลุ่มอื่นๆ และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการจัดคอนเสิร์ตมากขึ้น

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลกอย่างสิ้นเชิงในทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการคอนเสิร์ต ที่เผชิญผลกระทบอย่างรุนแรงและต้องดิ้นรนเอาตัวรอด เพื่อรอวันที่จะได้กลับคืนสู่วิถีผู้สร้างบรรยากาศการฟังเพลง ให้เหล่าคนรักดนตรีได้ดื่มด่ำกับแสงสีเสียง

ก่อนที่จะถึงวันนั้น Sanook ได้พูดคุยกับ “ยุทธนา บุญอ้อม” หรือ “ดีเจป๋าเต็ด” หนึ่งในผู้จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีแถวหน้าอย่าง Fat Festival และ Big Mountain ถึงการรอคอยที่จะได้จัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง ผ่านแคมเปญส่วนตัว #DJTedTShirtChallenge #จะโพสต์เสื้อวงวันละตัวจนกว่าจะได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง

ยุทธนา บุญอ้อม (ป๋าเต็ด)ยุทธนา บุญอ้อม (ป๋าเต็ด)

“เสื้อวง” ความหมายที่มากกว่าเครื่องแต่งกาย

เสื้อยืดลายวงดนตรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เสื้อวง” ถือเป็นไอเท็มประเภท “ของมันต้องมี” สำหรับคนฟังเพลงส่วนใหญ่ ซึ่งเสื้อวงเหล่านี้เป็นเหมือนของที่ระลึก ที่เชื่อมโยงแฟนเพลงกับวงโปรดไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้ชอบฟังเพลง แต่สวมใส่เสื้อวงเพราะความสวยงามหรือเป็นแฟชั่น แต่ในมุมมองของคนในวงการเพลงอย่างป๋าเต็ด เสื้อวงมีหน้าที่ที่มากกว่านั้น

มันเป็นการเสริมสร้างแบรนดิ้งให้กับวง จะเห็นได้ว่าหลายวงเรารู้จักวงนั้นผ่านโลโก้ของเขา หรือผ่านเสื้อสวยๆ ของเขา โดยที่บางทีเรายังไม่เคยฟังเพลงของเขาเลยนะครับ อย่างในอดีต โลโก้วงที่โด่งดังแล้วก็คลาสสิกมากก็อย่างเช่น The Rolling Stones ที่มีรูปปากแล้วก็ลิ้นโผล่ออกมา เสิร์ชโลโก้ The Rolling Stones จะเห็นใน Google เต็มไปหมดแน่นอน ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับว่า เสื้อวงมีผลทำให้แบรนดิ้งเหล่านี้มันถูกยืดระยะของการเป็นที่รู้จักต่อไปได้นานๆ”

อีกด้านหนึ่งมันคือเรื่องของรายได้ หลายๆ ครั้งมันเป็นธุรกิจเลยครับ ที่ชัดเจนมากเลยก็คือ สมมติวงต่างประเทศมาทัวร์บ้านเรา เราก็จะไปซื้อเสื้อของเขาที่วางขายอยู่ข้างหน้า ซึ่งหลายครั้งก็แพงมากนะครับ ปกติเราไม่ซื้อเสื้อยืดตัวละพันกว่าบาทใส่ แต่พอเป็นคอนเสิร์ตของวงที่เราชอบมาเล่น แล้วยิ่งรู้ว่านี่มันเป็น Official Product ที่ศิลปินเขาเอามาขายเอง มันยิ่งกลายเป็นของที่ระลึก เป็นความผูกพันที่เรามีต่อศิลปิน ตัวละพันกว่าบาทเราก็ยอมซื้อ”

นอกจากนี้ ป๋าเต็ดยังเล่าจากประสบการณ์การทำงานจัดคอนเสิร์ตว่า วงดนตรีหลายวงของไทย นอกจากจะขายซีดีเพลงของตัวเองแล้ว ยังขายเสื้อวงไปด้วย ซึ่งก็ทำให้ป๋าเต็ดเกิดไอเดียจัดงาน T-shirt Festival เชิญวงดนตรีมาขายเสื้อวงตัวเองอย่างเดียว จนกระทั่งพัฒนาเป็นงาน Cat T-shirt ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ศิลปินไทยไม่สามารถออกทัวร์คอนเสิร์ต หรือไปแสดงตามงานอีเวนต์ได้อย่างเต็มที่ เสื้อวงก็เป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

“โดยเฉพาะในโลกวันนี้ที่การซื้อซีดี คาสเซ็ต แผ่นเสียงมันมีปริมาณน้อยลงทุกที คนเราส่วนใหญ่ฟังเพลงผ่าน YouTube ผ่าน Spotify ดังนั้น การซื้อเสื้อวงก็เลยเป็นหนทางหนึ่งที่เขาได้จับต้องผลิตภัณฑ์จากศิลปิน มันเลยทำให้หลายวงทีเดียวเลย เท่าที่ผมทราบคือไม่ใช่ธุรกิจธรรมดา เรียกว่าเป็นล่ำเป็นสันเลย ในเรื่องของการทำเสื้อวงขาย” ป๋าเต็ดกล่าว

ป๋าเต็ดถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีคอลเลคชันเสื้อวงดนตรีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก เขาเล่าว่า เสื้อวงของดนตรีแต่ละแนวก็จะมีสไตล์แตกต่างกันออกไป เช่น แนวเมทัล ก็จะมีการออกแบบกราฟิก ภาพลักษณ์ เส้นสาย ที่เฉพาะตัวและมีรายละเอียดเยอะ ในขณะที่เสื้อวงยุคอัลเทอร์เนทีฟจะมีลักษณะเรียบง่ายกว่า

“สมมติอย่าง OASIS แค่เป็นโลโก้ชื่อวงง่ายๆ เลยก็มี หรือบางคนอาจจะชอบเสื้อวงแบบที่มีรูปศิลปินอยู่ อีกลักษณะหนึ่งที่ฮิตกันก็คือเอาภาพปกมาเป็นเสื้อวงเลย อย่างตัวที่ยอดนิยมเลยก็เช่นหน้าปกเด็กลอยน้ำของ Nirvana อัลบั้ม Nevermind ที่ทุกคนชื่นชอบกัน คือชอบทั้งในแง่ที่ว่าชอบอัลบั้มนี้ ชอบในแง่ที่ว่าปกอัลบั้มนี้มันก็สวยด้วย พอมันอยู่ด้วยกันมันก็เลยยิ่งดีเข้าไปใหญ่”

นอกจากนี้ เสื้อวงอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือเสื้อทัวร์คอนเสิร์ต ซึ่งแต่ละวงจะออกแบบให้มีรายชื่อเมืองที่ศิลปินไปทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ด้านหลังเสื้อ และนำมาขายเป็นของที่ระลึกให้กับแฟนเพลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คุณค่าของเสื้อวงดนตรีก็ไม่ได้มีแค่การออกแบบที่สวยงาม หรือวาระสำคัญของวงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ “ความหายาก” และเรื่องราวเบื้องหลังของเสื้อนั้นๆ มาเป็นตัวกำหนดคุณค่าและมูลค่าของเสื้อ โดยป๋าเต็ดยกตัวอย่างเสื้อของวงกรันจ์ในตำนานอย่าง Nirvana ซึ่งสนนราคาอยู่ที่หลักล้านบาททีเดียว

“กรณีเสื้อ Nirvana ตัวนั้นมันพิเศษตรงที่ว่า ปกติแล้ว เคิร์ท โคเบน จะไม่ใส่เสื้อวงตัวเอง แต่บังเอิญมันมีครั้งหนึ่งที่เขาไปทัวร์ยุโรป แล้วเขาทำเสื้อวง คล้ายๆ เสื้อสตาฟของการทัวร์ยุโรปครั้งนั้น แล้วเขาก็ทำอยู่ไม่กี่ตัว แล้วบังเอิญมันมีอยู่รูปหนึ่งที่เหมือนกับเขายืนคุยกับสตาฟอยู่ แล้วเขาใส่เสื้อวงตัวนี้ด้วย มันก็เลยทำให้ โห... นี่มันเสื้อ Nirvana เวอร์ชั่นที่เคิร์ท โคเบน ใส่ ถึงแม้มันไม่ใช่ตัวที่เขาใส่นะ ซึ่งถ้าใครพิสูจน์ทราบได้ว่าตัวนั้นคือตัวไหน มันคงราคาสูงมาก แต่แค่เสื้อตัวเดียวกันกับที่เคิร์ท โคเบน ใส่ และเป็นที่รู้กันว่าเสื้อตัวนี้ทำออกมาน้อยมาก เพราะทำแจกเฉพาะทีมงาน มันก็เลยทำให้เสื้อตัวนี้มีราคาแพงมาก” ป๋าเต็ดเล่า

เสื้อวงกับการทำงานของป๋าเต็ด

นอกจากความสำคัญในแง่แบรนดิ้งและรายได้ของศิลปิน เสื้อวงยังสามารถทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของคนในวงการเพลงด้วย สำหรับป๋าเต็ด มีเสื้อ 3 ตัว ที่เขาเลือกมาบอกเล่าถึงการทำงานของเขา

“ตัวนี้ก็เป็นเสื้อจากคอนเสิร์ตอัสนี - วสันต์ 26 ปี บ้าหอบฟาง ตอนที่ถ่ายภาพนี้เราก็ได้ไปยืนดูเบื้องหลัง เราเห็นภาพนี้ตั้งแต่ตอนที่ถ่ายออกมาเป็นเสื้อ มันก็เป็นธรรมดาที่เราทำคอนเสิร์ตไหน เสื้อนั้นก็จะเป็นคล้ายๆ กับที่ระลึกให้กับการทำงานของเราครั้งนั้น เวลาเห็นเสื้อตัวนี้เราก็จะนึกถึงบรรยากาศการทำงาน” ป๋าเต็ดโชว์ภาพเสื้อของศิลปินรุ่นใหญ่ ขวัญใจจิ๊กโก๋อกหักให้ทีมงานดู

เสื้อยืดอีกตัวหนึ่งที่ป๋าเต็ดรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก คือเสื้อของนักร้องป็อปสาวหน้าใส “อิงค์ วรันธร เปานิล” ที่ป๋าเต็ดเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นเสื้อที่หายากและราคาแพงมาก

“ตัวนี้มันพิเศษตรงที่อิงค์เขาส่งมาให้ตั้งแต่ตอนนั้น คือเราไม่รู้หรอกว่ามันหายาก เขาส่งมาให้ตั้งแต่ตอนที่มันออกใหม่ๆ เราก็ชอบ ก็เก็บไว้ ไม่เคยใส่เลย พอมาเริ่มโปรเจ็กต์นี้ ผมก็เลยใส่เป็นตัวที่สองของโปรเจ็กต์เลย พอใส่ไป ปึ้ง! คนก็คอมเมนต์กันใหญ่เลย โห... ตัวนี้ตัวหายากเลย เราก็ไม่รู้”

เสื้อยืดวงตัวที่ 3 เป็นเสื้อลายกางเกงในสีชมพู ที่ระลึกจากคอนเสิร์ต “ผงาดง้ำค้ำโลก” ของวงร็อกที่มีโชว์ที่จัดจ้านที่สุดวงหนึ่งของไทยอย่าง Paradox

“เวลาเราเห็นเสื้อตัวนี้ เราจะนึกถึงบรรยากาศของการคิดงาน Paradox เป็นวงดนตรีบ้าอะไรวะ ทำกางเกงในแจก คนมาซื้อบัตร เราทำกางเกงในแจก แต่ว่าคนที่ซื้อบัตรพันใบแรกไม่ทัน เราก็เลยทำเสื้อที่เป็นรูปกางเกงใน แล้วก็ขายอีกทีหนึ่ง” ป๋าเต็ดเล่า

“จะโพสต์เสื้อวงวันละตัวจนกว่าจะได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง”

เมื่อช่วงปลายปี 2021 ป๋าเต็ดได้เริ่มโปรเจ็กต์ส่วนตัวในเพจ DJ ป๋าเต็ด ที่มีชื่อว่า #DJTedTShirtChallenge #จะโพสต์เสื้อวงวันละตัวจนกว่าจะได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง ซึ่งป๋าเต็ดยืนยันว่า แคมเปญนี้ไม่ใช่การประท้วงรัฐบาล แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรอเวลาที่จะได้จัดคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นงานที่เขารัก

“มันเริ่มจากปลายปีที่แล้ว สถานการณ์โอมิครอนยังไม่มา มันเป็นสถานการณ์ที่เรากำลังจะกลับสู่สภาพปกติแล้ว ปีนี้ทั้งปีเราคงจะได้จัดคอนเสิร์ตกันแบบเต็มรูปแบบ หลังจากที่ห่างหายกันไปเกือบ 2 ปี วางแผนไว้หมดแล้ว งานแรกที่จะจัดคือปลายมกราคมนี้ ก็คือเฉพาะ 3 เดือนแรก มีประมาณ 5 – 6 งาน วันแรกที่ผมโพสต์ วันที่ 3 ธันวาคม เพราะว่าเรามั่นใจว่าเดี๋ยวปลายมกราคมเราก็เริ่มจัดแล้วไง เราก็นับดู เสื้อในตู้เหลือเฟือ ก็เลยคิดว่าทำเล่นๆ ดีกว่า”

ไม่กี่วันหลังจากนั้น เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนัก จนทำให้ทีมงานของป๋าเต็ดตัดสินใจทยอยเลื่อนงานคอนเสิร์ต ความหวังที่จะจัดคอนเสิร์ต 5 – 6 งาน ใน 3 เดือนแรกของปี 2022 เป็นอันจบลง เหลือเพียงหมุดหมายเดียวคือเทศกาลดนตรี “นั่งเล” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งทำให้ป๋าเต็ดต้องไปค้นหาเสื้อวงที่มีอยู่เพิ่มเติม และโพสต์รูปเสื้อวงต่อไป

ป๋าเต็ดเล่าว่า หลังจากที่โพสต์รูปเสื้อของวงต่างๆ ก็จะมีแฟนเพลงเข้ามาขอซื้อ หรือถามหาแหล่งที่ซื้อ โดยทุกครั้งที่โพสต์ เขาจะแท็กเพจของศิลปิน หรือใส่ลิ้งก์เพลงของวงนั้นๆ เพื่อให้ลูกเพจได้เข้าไปติดตามผลงานของวง ส่งผลให้วงดนตรีหลายวงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมียอดสั่งซื้อเสื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งเสื้อวงรุ่นเก่า ก็มีคนตามหามากขึ้น ส่งผลให้เสื้อนั้นๆ มีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ณ วันนี้ ป๋าเต็ดได้โพสต์รูปเสื้อยืดวงแล้วเกือบ 150 ตัว และแม้ว่าจะได้จัดคอนเสิร์ตในวันที่ 30 เมษายนนี้แล้ว เขาก็จะยังคงโพสต์รูปเสื้อวงต่อไป เพื่อให้ศิลปินในวงการเพลงได้เป็นที่รู้จักและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นี่มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาพูดกันว่าเวลาคนที่เสียงดัง พูดอะไรก็ตาม พูดเรื่องเดียวกัน ทำเรื่องเดียวกัน มันก็จะมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่า มันก็เลยอยู่ที่คนที่เสียงดังทั้งหลาย คนที่เป็นคนสาธารณะทั้งหลายว่าจะเลือกใช้เสียงของเราไปในเรื่องใด มันไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกันก็ได้ พูดในเรื่องที่เขาอิน ที่เขาถนัดที่จะพูด อย่างผมอยู่ในวงการเพลงมานาน ผมก็จะพูดเรื่องวงการเพลงเยอะหน่อย” ป๋าเต็ดกล่าว

คอนเสิร์ตในสถานการณ์โควิด

สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานและรายได้ของศิลปินเท่านั้น แต่ในโลกของคอนเสิร์ตและอีเวนต์นั้นเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอย่างป๋าเต็ดเอง ผู้ให้บริการอุปกรณ์ด้านแสงสีเสียง เวที จอ เจ้าหน้าที่เวที พนักงานติดตั้งเวที ที่ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างรายวัน รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารตามงานอีเวนต์ ไม่ได้มีหน้าร้าน และผู้ผลิตสินค้าที่ระลึกต่างๆ

“เราไม่ได้จัดงานอะไรเลยมาตั้งแต่ Big Mountain ครั้งล่าสุด ซึ่งก็คือปลายปี 2563 ตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว” ป๋าเต็ดกล่าว

ป๋าเต็ดเล่าว่า โดยปกติคนทำอีเวนต์และคอนเสิร์ตจะมี 2 ร่าง ร่างหนึ่งคือการนั่งทำงานในออฟฟิศ คิดคอนเซ็ปต์ เตรียมงาน ติดต่อ ทำเอกสาร และอีกร่างหนึ่งคือการลงไปหน้างานจริง และควบคุมจัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามแผน ทว่าในสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้เขาและทีมงานต้องคิดงานใหม่และเลื่อนวันงานไปเรื่อยๆ ก็ส่งผลต่อจิตใจไม่น้อยทีเดียว

“เวลาที่มันคิดแล้วเลื่อน คิดแล้วเลื่อน แล้วไม่ได้ทำสักที ส่งผลทางด้านจิตใจนะครับ มันทำให้รู้สึกว่าจะได้ทำไหมเนี่ย เราควรจะคิดเต็มที่ไหมวะ หรือเรารอให้ได้ทำชัวร์ๆ ก่อนแล้วค่อยเต็มที่ เราเลยต้องกระตุ้นซึ่งกันและกัน ต้องพยายามคิดอยู่เสมอว่ามันกำลังจะกลับมาได้จัด เพื่อที่จะทำให้ไฟมันไม่มอด” ป๋าเต็ดเล่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะยังคงระบาดอยู่ แต่ป๋าเต็ดมองว่า สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากผู้คนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 โดยการกักตัวอยู่ที่บ้านหรือฮอสพิเทล และกินยารักษา รวมทั้งมีแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเข้าสู่พื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก อย่างอีเวนต์ต่างๆ เช่น การฉีดวัคซีน 2 เข็มขึ้นไป ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR ยืนยันก่อนเข้างาน และหลายคนก็ตรวจ ATK เป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชิน ทำให้ป๋าเต็ดมองเห็นแนวโน้มในการจัดคอนเสิร์ตในระยะยาวชัดเจนขึ้น

ที่เขาเรียกว่า New Normal คืออันนี้เลยนะ และต่อให้โควิดมันหมดสนิทจริงๆ ผมก็เชื่อว่าบางอย่างมันอาจจะยังคงค้างอยู่ด้วยซ้ำไป มันอาจจะไม่ต้องตรวจ ATK กัน แต่ผมเชื่อว่ามันอาจจะต้องมีมาตรการเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด ที่ล้างมือในงานคงจะมีเยอะเป็นเรื่องปกติ การมีจุดให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือ มันอาจจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเลยตลอดกาลก็ได้”

สำหรับคนจัดคอนเสิร์ตอย่างป๋าเต็ด สิ่งที่เขาและผู้ประกอบการคนอื่นๆ กังวลเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของการแพร่เชื้อหรือมาตรฐานที่เข้มงวด แต่พวกเขาต้องการมาตรฐานที่ชัดเจนเพียงมาตรฐานเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้

“เราไม่ได้กลัวมาตรฐานที่เข้มงวด เรากลัวมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ” ป๋าเต็ดย้ำ

อนาคตของคอนเสิร์ต

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคอนเสิร์ตนั้น เราพบว่าในช่วงที่คอนเสิร์ตจริงไม่สามารถจัดได้ ก็เกิดคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือ virtual concert ขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อรรถรสเท่ากับการชมคอนเสิร์ตในฮอลล์หรือในพื้นที่กลางแจ้ง แต่คอนเสิร์ตในโลกเสมือนนี้ก็ตอบโจทย์คนฟังเพลงได้บางส่วน และป๋าเต็ดมองว่า คอนเสิร์ตประเภทนี้จะยังคงอยู่ต่อไป และอาจจะมีพัฒนาการหรือความสะดวกสบายมากขึ้น

“มันเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง และเราเชื่อว่ามันจะสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนอีกแบบหนึ่งด้วยซ้ำไป จะมีคนแบบที่ไม่ชอบไปดูคอนเสิร์ต ไม่ชอบคนเยอะ หรือบางคน บัตรแพง ต้องบินไปดูต่างประเทศ หรือเอาแค่อยู่ต่างจังหวัด ต้องบินมาดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ มันก็ไม่สะดวก ค่าใช้จ่ายสูง virtual concert มันก็ชดเชยได้ แล้วในขณะเดียวกัน virtual concert ก็ทำอะไรบางอย่างที่คอนเสิร์ตจริงทำไม่ได้ เช่น อาจจะคุยกับศิลปินได้ บางคอนเสิร์ตเขาให้แชทได้ บางคอนเสิร์ตสามารถที่จะพูดคุยกันโดยตรงเลย”

“และที่สำคัญก็คือ ในช่วงเวลาที่เรามาเจอกันแน่นๆ ไม่ได้ ในช่วงโควิด แต่ virtual concert อาจจะทำได้ ดังนั้น มันเป็นอีกประเภทหนึ่ง มันไม่เหมือน มันแทนกันไม่ได้ และมันไม่ควรจะเอามาแทนกันด้วย มันมีแต่จะเติบโตไปทั้งสองทาง virtual concert เติบโตขึ้นแน่นอน แต่ว่าคอนเสิร์ตแบบ on ground ไม่ตายแน่นอน” ป๋าเต็ดอธิบาย

นอกจากนี้ ป๋าเต็ดยังมองว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้ระบบตั๋วออนไลน์ หรือ E-Ticket ที่ทั้งรวดเร็ว ลดขั้นตอนยุ่งยาก และลดการสัมผัสระหว่างบุคคล รวมทั้งการสร้างระบบการติดตาม เพื่อใช้ในการติดตามผู้เข้าร่วมงานในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของงานได้ด้วย

“GMM Show นี่เรามีระบบที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง ชื่อว่า Field Wave ข้อมูลของคุณจะถูกบรรจุไว้ในริสท์แบนด์ แล้วในงาน เราสามารถติดตามได้ว่าคุณไปอยู่ที่ไหนในงานบ้าง ซึ่งอันนี้มันเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายนะครับ อย่างช่วงโควิด สมมติว่าคุณมารู้ภายหลังว่าคุณติด เรารู้เลยว่าคุณเดินไปตรงไหน แล้วเราสามารถแจ้งคนที่มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณในงานได้ หรือข้อมูลในการปรับปรุงให้งานดีขึ้น พวกนี้ผมว่ามันจะถูกเอามาใช้มากขึ้น” ป๋าเต็ดสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook