วิเคราะห์ดนตรี BamBam - Slow Mo จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี BamBam - Slow Mo จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี BamBam - Slow Mo จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบมแบม (ฺBamBam) ศิลปินชาวไทยผู้เป็นที่รักของแฟนคลับจากทั่วโลกกลับมาอีกครั้งพร้อมผลงานใหม่ที่จะมอบความสุขให้กับทุกคนกับบทเพลง Slow Mo ที่งานนี้ได้ Pink Sweat$ ที่ใครหลายคนรู้จักมาร่วมงานสร้างสรรค์ด้วย บอกเลยว่าเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่น่าสนใจที่ทำให้เพลงนี้เลิศ ปัง ฟังสนุก

 

Written by Pink Sweat$, Jayson DeZuzio, BamBam & 이스란 (Lee Seu Ran)

Composed by Pink Sweat$ & Jayson DeZuzio

Arranged by Pink Sweat$ & Jayson DeZuzio

Lyric by BamBam, 이스란 (Lee Seu Ran), Pink Sweat$ & Jayson DeZuzio


E♭ Major - 91 BPM

โครงสร้างเพลงของ Slow Mo

INTRO 0:12-0:23

VERSE 1 0:23-0:43

PRE-CHORUS 0:43-0:55

CHORUS 0:55-1:16

VERSE 2 1:16-1:37

PRE-CHORUS 1:37-1:48

CHORUS 1:48-2:10

INSTRU 2:10-2:20

CHORUS 2:20-2:41


unnamed

(INTRO 0:12-0:23)

เป็นการเปิดเริ่มเพลงมาได้อย่างคลาสสิกมากกับแนวเบสแบบย่ำเดี่ยวๆ พร้อมกับการลงจังหวะของกลอง Snare แนวเบสนี้เองจะกลายไปเป็นแนวดนตรีที่สำคัญที่สุดที่จะดำเนินไปแทบตลอดทั้งเพลง

แน่นอนว่า Walking bass อันนี้จะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าคีย์และคอร์ดของเพลงนี้ แต่โอ้โห เปิดมาก็เล่นเอางงอยู่นะ เมื่อโน้ตตัวที่ 3 ในนาทีที่ 0:17 ดันกระโดดขึ้นสูงแตกต่างจากโน้ตชุดอื่นไปถึง 1 ช่วงเสียงแทนที่จะเสียงต่ำและใกล้เคียงกันกับโน้ตก่อนหน้า ฟังไปหลายคนอาจจะมีอาการเหวอเล็กน้อยหรือสะดุ้งเบาๆ กับความไม่ทันได้ตั้งตัว อีกช็อตที่ทำให้ขมวดคิ้วเบาๆ คือการที่โน้ตตัวที่ 3 หรือโน้ต A♭ มันถูกเล่นไปยาวกว่าที่หลายคนคาดก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นโน้ตตัว F ในจังหวะที่มีความครึ่งๆ กลางๆ ตอนนาทีที่ 0:21 ทำให้สีสันของเพลงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน มันแบบ เอ๊ะ ยังไงนะ ไม่ได้แปลกขนาดนั้นหรอกแต่ก็เอ๊ะในใจนิดนึง สรุปมันจะเป็นคอร์ดอะไรกันแน่ ทิศทางของเพลงจะเป็นอย่างไรกันนะยังเดาไม่ค่อยได้เลย

VERSE 1 (0:23-0:43)

เข้าสู่ Verse แบบที่ผู้เขียนถึงกับต้องแอบกรี๊ดในการฟังครั้งแรก เราก็นึกว่าดนตรีจะมาแบบจัดเต็มเปลี่ยนไป ที่ไหนได้มันยังคงเบสไว้แบบเดิม เสียงร้องทำนองขึ้นมาแบบสบายๆ อยู่บนสเกลที่มีความชัดเจนบ่งบอกว่าเป็นคีย์ E♭ Major สดใส ไพเราะ ยิ่งกับประโยคแรกที่สองคำสุดท้าย (me still) ไปจบที่โน้ตตัว E♭ กับ D พอบวกกับวิธีการร้องที่ไม่ได้ต่อเนื่องกันมากแต่มีการแยกคำมันให้ความรู้สึกว่ากำลังล่องลอยขึ้นแต่ไปไม่ถึงที่สุด มันยังมีความไม่มั่นใจหลงเหลืออยู่ในการวนกลับลงมาของโน้ตนั้น ยิ่งมีการเพิ่มมาของเสียง Synth คล้ายกับเสียง Xylophone มันยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกสงสัย ใครรู้ น่าค้นหาเข้าไปอีก

ตัวอย่างเสียง Xylophone

Spanish Dance (Manuel de Falla). Xylophone solo

นาทีที่ 0:32 จะได้ยินเสียงของ Bar chimes ซึ่งน่าเสียดายที่เมื่อผู้เขียนได้ไปลองฟังแบบ audio กลับไม่มีเสียงนี้ แต่ถ้าหากดูจากใน MV ก็จะเห็นได้ว่าเสียงนี้เป็นตัวแทนของผีเสื้อ

ตัวอย่างเสียง Bar Chimes

LP Bar Chimes Concert LP511C

และแล้วเราก็เริ่มมีเสียงอื่นเข้ามาในครึ่งหลังของ Verse 1 ทั้งเสียงจากกลอง Kick Drum (Bass Drum) เสียงของ Sound effect สไลด์ที่คล้ายกับจะเลียนแบบเสียงถอนหายใจ (เช่นที่ 0:34) ที่มาให้เราได้ยินถึง 4 ครั้งแต่แต่ละครั้งมันมีความแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ เป็นรายละเอียดที่คนแต่งใส่ใจมากๆ และอีกเสียงที่สำคัญมากก็คือเสียงประสานของ Background vocals ซึ่งเข้ามาช่วยเติมเต็มให้เพลงมี Harmony หรือเสียงประสานครบสมบูรณ์ขึ้น น่าสนใจที่เมื่ออ่านเนื้อเพลงมันก็กล่าวถึงการที่เจ้าตัวเริ่มจะค้นพบตัวเอง ทุกอย่างในความคิดของเขาค่อยๆ กระจ่างแจ่มชัดขึ้นซึ่งตัวดนตรีเองก็นำเสนอจุดนี้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

PRE-CHORUS (0:43-0:55)

Melting slowly ค่อยๆ ละลายไปอย่างช้าๆ ดนตรีเองก็ราวกับว่าเสียงต่างๆ มันละลายหลอมรวมกันออกมาเป็นเสียงที่ล้อมรอบตัวเรา เสียง Synthesizer หรือเสียงสังเคราะห์ผสมผสานกันกับ Background vocals เสียงร้องประสานทำให้ดนตรีมีความหนา โอบอุ้มแนวร้องที่ร้องอย่างสบายๆ แม้จังหวะจะถี่เร็วขึ้น สลับการจบประโยคเดี๋ยวสูงขึ้นต่ำลงราวกับว่ามันยังมีความลังเลซ่อนอยู่ เป็นการค่อยๆ บิ๊วอัพอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

มีเสียงของเครื่องกระทบจังหวะสอดแทรกเบาๆ เพิ่มเข้าที่ก็ช่วยให้ท่อนนี้มันมีความกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวามากขึ้น

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงประโยคสุดท้ายนาทีที่ 0:52 ที่ผู้ฟังอาจรู้สึกว่าเอ๊ะ ทำไมทำนองมันมีความหม่นๆ เล็กน้อย นั่นเนื่องจากมันเป็นการนำโน้ตตัว F ที่เคยอยู่ในแนวเบสมาใส่อยู่ในช่วงทำนองแทน นอกจากนี้มันยังทำหน้าที่เป็นโน้ตตัวที่ 2 ของคีย์นี้ที่สร้างให้เกิดบรรยากาศและสีสันที่งงงวย แต่ก็อยู่ใกล้กับโน้ตหลักมาก แค่เอื้อมเท่านั้น

CHORUS (0:55-1:16)

โอ้โห เข้าสู่ท่อนคอรัสอย่างรวดเร็วว่องไวทันใจแบบไม่ทันได้ตั้งตัวเท่าไหร่ ทุกอย่างมันผ่านไปไวมากตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้ นึกว่าพรีคอรัสจะยาวกว่านี้อีกสักเท่าตัวด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ทำให้การเข้าสู่ท่อนฮุคเป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก โลกสว่างสดใสขึ้นมา ไวบ์ของเพลงเต็มไปด้วยความ Positive จากการกระโดดทำนองขึ้นไปอยู่ในช่วงเสียงสูงและสารพัดองค์ประกอบทางดนตรี บีตที่จัดเต็ม การเพิ่มเข้ามาของ Tamborine ที่ทำให้เพลงสนุกขึ้น

ตัวอย่างเสียง Tambourine

Edoardo Giachino Mr Tambourine Man Tamburello Basco

อีกสิ่งที่ชอบมากของท่อนนี้ก็คือเสียงร้อง Oh oh ที่สะท้อนกลับมาเหมือนเป็นการตอบรับจากสองฝ่าย แถมยังช่วยเติมเต็มช่องว่างของเพลงที่ทำนองร้องไม่ได้ร้องตลอดเวลาด้วย ช่างลงตัวกำลังดี

นอกจากนี้การสไลด์เสียงไปมาของแนวเบสก็มีความเชื่องช้า ไม่ได้รวดเร็วมากนัก มันยังช่วงสร้างบรรยากาศให้เข้ากับชื่อเพลง Slow Mo ได้เป็นอย่างดี น่าสนใจมากที่แนวเบสนี้ในมุมนึงมันแสดงออกถึงความหนักแน่น แข็งแรง แต่ก็มีความเชื่องช้า อุ้ยอ้าย และความชิลล์อยู่ในตัวเช่นกัน และนอกจากเสียงเบสก็ยังมีเสียงเอฟเฟคในช่วงเสียงสูงที่ก็สไลด์ขึ้น-ลงฟังดูกวนๆ เช่นกัน.. แต่แม้ดนตรีจะเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้ไปกลบหรือลดความสำคัญแนวร้องที่ร้องแบบสบายๆ ลงเลย อื้อหือ คนแต่งช่างเก่งจริงๆ

VERSE 2 (1:16-1:37)

แม้ทำนองจะคล้ายกับ Verse แรก แต่ตัวดนตรีกลับไม่ได้โล่งเช่นนั้น มันยังคงความสนุก ความตื่นเต้นเอาไว้อยู่เหมือนกับจะบอกเธอว่าอย่าเพิ่งหายไปไหนนะ อยู่ด้วยกันก่อน

พอในนาทีที่ 1:24 เสียงประสานเข้ามา ถ้าเสียงนี้เป็นตัวแทนของเธอ เธอก็คือจิ๊กซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของฉันแล้ว มันสมบูรณ์ขึ้น เราค่อยๆ เข้าใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิมไปอีกนะ ดนตรีค่อยๆ พาเราเข้าสู่ท่อน PRE-CHORUS (1:37-1:48) แบบที่ทุกอย่างมันส่งไปต่อไม่มีการเบาหรือดรอปลงเลย และเดินทางเข้าท่อนฮุคซึ่งคงเหลือไว้แค่เสียงเบสไม่ต่างไปจากรอบแรก

unnamed1

CHORUS (1:48-2:10)

ความน่าสนใจอีกอย่างของแนวเบสในท่อนนี้คือการที่โน้ตต่ำนั้นลงไปต่ำเสียเหลือเกิน อย่างเช่นในนาทีที่ 1:54 ที่ต่ำซะจนคนส่วนใหญ่แทบจะฟังไม่ได้ยินเป็นโน้ตแต่จะได้ยินเป็นเพียงเสียง drone แล้วมันดันมาอยู่ในจุดที่หยุดร้องพอดี บางคนอาจจะมีสะดุดกันเล็กน้อย

นอกจากนี้ในนาทีที่ 2:01 ตรงกับคำว่า Just beginning เป็นจุดที่แนวเบสแตกต่างไปจากช่วงที่ผ่านมาของท่อนฮุคซึ่งมักจะเริ่มจากโน้ตต่ำไปสูง แต่จุดนี้มันดันเป็นโน้ตสูงสไลด์ลงไปต่ำ! ไม่ธรรมดานะ ไม่ได้ปล่อยให้แนวเบสซ้ำจำเจ แถมยังช่วยไฮไลต์แมสเสจที่สำคัญอีกด้วย

unnamed(2)

INSTRU (2:10-2:20)

ไปต่อค่ะอย่าหยุด ดนตรียังคงดำเนินต่อไป ความสนุกยังไม่จบแค่นี้ การมาของเสียง Synthesizer รูปแบบใหม่ที่เรายังไม่เคยได้ยินมาก่อนกับบทบาทสำคัญในการนำเอาทำนองร้องมาปรับสับเปลี่ยนเล็กน้อยและกลายเป็นทำนองหลักในท่อนนี้ โดยเน้นอยู่บนเสียงตัว F อีกแล้ว มันช่วยให้อารมณ์ของคนฟังยังถูกกดเอาไว้ ยังไปไม่สุด เราโหยหาการได้ยินเสียงโน้ตตัว E♭ ซึ่งเป็นโน้ตหลักของเพลง.. ดนตรีคล้ายเดิมแต่สร้างอรรถรสที่รุนแรงขึ้นควบคู่ไปกับการรับชม dance break

CHORUS (2:20-2:41)

ผู้เขียนขอลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับท่อนฮุคสุดท้ายที่แสนจะงดงาม หลังจากดนตรีหนักแน่นวุ่นวายแบบไม่มีที่ผ่อนมาพักหนึ่งแล้ว การเข้าสู่ท่อนฮุคสุดท้าย (ที่ก็รวดเร็วแบบไม่ได้ตั้งตัวอีกแล้ว) ที่กลายเป็น  A-cappella เสียงร้องล้วนๆ ไร้ซึ่งดนตรี เสียงประสานหนาหลายแนวที่สะท้อนก้องราวกับเป็นเสียงร้องในโบสถ์ ว้าว มันฟังดูสดใสและเต็มไปด้วยความหวังจริงๆ นะ รู้สึกสดชื่นมากเหมือนออกจากเมืองหลวงไปพบเจอกับธรรมชาติงั้นเลย

และที่พีคที่สุดของที่สุดคือการที่ท่อนนี้มันไม่มีดนตรีต่อเนื่องไปจนจบเลย เฮ้ย เฮ้ยยยยยยย สุดยอดดดด ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังเลยว่าผู้แต่งและศิลปินจะกล้าและท้าทายขนาดนี้ มันช่างน่าตื่นเต้นและก็น่าชื่นชมไปพร้อมๆ กัน ในตอนท้ายสุดก็ยังจบท้ายโอ้โอด้วยตัวโน้ต B♭ ที่ทำให้เพลงดันค้างเติ่ง อ้าว จบแบบนี้เลยหรอ ไม่ลงจบโน้ตหลักให้แบบนี้ทำให้อารมณ์คนฟังถูกแขวนลอยไว้ไร้ซึ่งการจบอย่างบริบูรณ์ อย่างที่แบมแบมได้ร้องไว้ว่ามันยังไม่ใช่จุดจบ นี่แค่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น​​

 bambam

ประทับใจมาก เป็นเพลงที่เรียกได้ว่าสั้นสุดๆ (ประมาณ 2 นาทีครึ่งเอง) แต่กลับมีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่เต็มไปหมด เพลงฟังสนุก สดใส มีการจัดแบ่งบาลานซ์ที่ดี มีช่วงหนักเร่งเร้าอารมณ์สลับกับการผ่อนให้ฟังสบาย เชื่อว่าใครหลายคนจะต้องตกหลุมรักเพลงนี้และเปิดวนไปได้ทั้งวันแน่นอน แบมแบมไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook