ข้อดีและข้อเสีย ของการเป็นนักดนตรี โดย ต้า Paradox | Sanook Music

ข้อดีและข้อเสีย ของการเป็นนักดนตรี โดย ต้า Paradox

ข้อดีและข้อเสีย ของการเป็นนักดนตรี โดย ต้า Paradox
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีน้องๆ แฟนเพลง เข้ามาถามหลายคนเกี่ยวกับอาชีพนักดนตรีที่หลายคนมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็น
วันนี้เลยนำมาเล่าสู่กันฟังว่ามันมีข้อดีและข้อเสียอะไรกันบ้างนะครับ เผื่อน้องๆ ได้พิจารณาอนาคตในการวางแผนการทำงานและชีวิตได้ง่ายขึ้น

หลังจากเหตุการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ย้อนมามองดูตัวเอง ค้นพบว่าอาชีพนักดนตรีผู้มอบความสุข อาจจะเป็นความสุขที่ไม่ได้สำคัญอะไรกับชีวิตประจำวัน จึงมักจะมีโดนผลกระทบก่อนใคร หรือถ้าจะเปรียบเป็นการใช้เงินก็จะถูกหั่นงบในการใช้เงินส่วนนี้ก่อนใครเลยครับ เรียกว่าโดนตัดก่อนใคร เพราะอาจจะเป็นงบที่เกินจากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างเรื่องที่ดีมีอะไรบ้างเท่าที่นึกออก

1. สาวรักสาวหลง มีอิทธิพลต่อผู้คนรอบข้าง มีเสน่ห์ ผู้คนให้เกียรติ

เป็นของแน่อยู่แล้วเมื่อเราได้มีโอกาสแสดงความสามารถออกมาให้คนอื่นได้เห็น ผู้คนก็จะรู้สึกประทับใจและเกิดความชอบง่ายขึ้นมากกว่าคนทั่วไป เวลาจะทำอะไรคนจะฟังและให้เกียรติมากกว่าปกติ

2. มีรายได้สูง ผลตอบแทนดีมากและมีเงินเข้ามาได้ง่าย

ถ้ามีกระแสหรือเป็นวงที่ดังติดกระแสขึ้นมาแล้ว โอกาสรวยไม่รู้เรื่องง่ายมาก
ยิ่งถ้าเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วยแล้ว เหมือนถูกหวย เผลอๆบางครั้ง ยังได้มากกกว่าหวยรางวัลที่ 1 เสียด้วยซ้ำ ได้ค่าตอบแทนสูงมาก เรียกว่า รวยเร็วก็จากค่าพรีเซ็นเตอร์นี่แหละ จำไว้ครับ ใครโผล่มาในงานสินค้าหรืออยู่ในโฆษณาต่างๆ บ่อยๆ คนนั้นแหละรวยมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกวงทุกคนจะทำได้แบบนี้นะครับ (ผมทำงานมาทั้งชีวิตยังไม่เคยได้เป็นพรีเซ็นเตอร์สักตัว!)

3. เป็นงานที่ไม่เหมือนทำงาน เพราะทำในสิ่งที่ชอบแถมยังได้เงิน

ส่วนตัวผมนั้น แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจและชอบ แทบไม่ต้องได้เงินอะไรก็รู้สึกมีความสุขแล้ว
ผลงานที่เราสร้างขึ้นมา เมื่อคนอื่นได้ฟังแล้วชอบ ก็ยิ่งมีความสุข ทำงานเหมือนไปเที่ยว ได้ไปต่างจังหวัดบ่อย ได้ไปชิมอาหารอร่อยประจำจังหวัด ได้ไปพักโรงแรมสบายๆ เดินเล่น แถมยังเวลาทำงานก็เห็นแต่สายตาแฟนๆ ที่เฝ้ารอหน้าเวที กรี๊ดกร๊าดเกรียวกราว ให้ชื่นใจทุกวัน แฮปปี้มาก

4. มีอิทธิพลกับเด็กรุ่นใหม่และคนที่ชื่นชม

มีผลกับแฟนเพลง แฟนคลับ และเยาวชนที่สนใจจะทำตามอย่างเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ได้อีกหลายคน ให้เดินตามรอยฝัน

5. ต่อยอดกับอาชีพอื่นๆได้ง่ายกว่า

เมื่อคุณมีชื่อเสียงแล้ว ก็สามารถทำงานด้านอื่นได้ราบรื่นง่ายขึ้น เพราะมีต้นทุนที่คนรู้จักแล้ว ทำให้จะทำอะไรต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่มีกระแสอยู่นั้น ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงเข้าไปอีก เช่น เปิดแบรนด์เสื้อผ้า เปิดร้านอาหาร มันก็เหมือนการโปรโมททางอ้อม ที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น

6. ได้ทดลองใช้เครื่องดนตรีแพงๆ ได้เอามาใช้งานจริง

หลายครั้งที่ดูรายการหรือว่าเดินผ่านร้านกีตาร์หรือร้านเครื่องดนตรี จะมีเครื่องดนตรีแพงๆ ระดับโปรระดับมืออาชีพให้ได้ลอง คนส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อเอาไว้ลองเล่นที่บ้านตัวแพงๆ ก็จะเก็บใส่ตู้เอาไว้โชว์เท่านั้น แต่การเป็นนักดนตรี เราสามารถนำเครื่องดนตรีดีๆ ขึ้นมาทดลองใช้งานจริงๆ บนเวทีได้มากกว่าคนอื่น สามารถรีวิวได้อย่างน่าเชื่อถือเพราะเวทีคอนเสิร์ตจริงๆ จะไม่เหมือนห้องซ้อมอยู่ที่บ้านโดยสิ้นเชิง เราจะโชคดีที่ได้เห็นศักยภาพของเครื่องดนตรีแพงๆ ที่จะทำให้รู้สึกได้ว่ามันต่างกับเครื่องดนตรีปกติอย่างไร

นี่เป็นข้อดีที่นึกออกในตอนนี้ของการทำอาชีพทางด้านเสียงเพลงเป็นนักดนตรี ส่วนข้อเสียที่นึกออกก็มีไม่แพ้กัน มานั่งคิดดูแล้วค่อนข้างสูสีกันเลยครับ ส่วนใหญ่จะสืบเนื่อง จากข้อดีที่กล่าวมา เหมือนด้านมีสว่างก็ต้องมีมืด ลองมาดูกันครับ

ข้อเสียของการเป็นนักดนตรี มีดังนี้

1. เป็นอาชีพที่พร้อมจะโดนแบน โดนกระแส และโดนยกเลิก มากที่สุด

โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่ลงตัว มีปัญหาอะไรก็ตาม หรืออย่างตอนนี้ที่มีไข้หวัดไวรัสแพร่ระบาด สิ่งที่จะโดนยกเลิกก่อนเลยคือพวกการแสดงดนตรี เพราะถือว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นมาก ดังนั้นจะโดนแบนเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้อาชีพนี้มีความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้จะรายได้เยอะ แต่จะหยุดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

2. เป็นอาชีพที่ต้องนอนดึก นอนไม่ตรงเวลาชีวิต ทำให้สุขภาพไม่ค่อยดี

น้องๆแฟนเพลงหลายคนชอบทักมาบอกว่า ทำไมพี่ยังไม่นอนอีก ดึกแล้ว แต่นั่นคือเวลาที่ผมรอกำลังจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ตนั่นก็คือประมาณเที่ยงคืน ดังนั้น ส่วนใหญ่อาชีพนี้ก็นอนดึกทั้งนั้นน้อยมากที่จะนอนเร็ว ต่ำกว่า 3 ทุ่มนี่อย่าไปพูดถึง ดึกๆนักดนตรีทักคุยกันได้รู้ตัวเลย ตี 2 ตี 3 ตาใสปิ๊ง
ผมจะแก้ด้วยวิธีการนอนให้พอแทน คือถ้านอนดึกก็ตื่นสายเอา จะไม่ตื่นเช้าเด็ดขาด ไม่งั้นร่างกายจะยิ่งพัง ใช้วิธีการเลื่อนเวลานอนเป็นช่วงดึก นอนตี4 แต่ก็ไปตื่นเอาเที่ยงบ่ายอะไรประมาณนั้น

3. ต้องเดินทางบ่อย ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับที่บ้านได้ง่ายๆ

หลายคนที่มีครอบครัวก็จะมีโอกาสห่างเหินครอบครัวได้ง่ายหรือมีคนมาแทรกได้ง่ายๆ มีมือที่สามมีนู่นมีนี่ ถ้าเดินทางบ่อยมากกับคนที่ไม่รู้จักก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อเหมือนกันนะครับ เพราะต้องอยู่บนถนนนานๆ โชคดีปัจจุบันมีมือถือที่ดู YouTube ดูอะไรไประหว่างทางได้ ช่วยย่นระยะเวลาความน่าเบื่อนี้

4. ต้องมีอาชีพเสริม ไว้อีก 1 อย่าง เผื่องานหาย จากผลกระทบต่างๆ ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่

ที่เขาบอกว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง จากประสบการณ์แล้วหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาในระยะกว่า 10 ปี ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มั่นคงจริงๆ นั่นแหละครับ การแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตนั้นอ่อนไหวกับอารมณ์ของคนดูด้วย ถ้าบรรยากาศหดหู่ หรือบรรยากาศไม่น่าไว้ใจ คนก็ไม่มาดูคอนเสิร์ต คอนเสิร์ตก็เลื่อน หรือไม่ก็ไม่มีอารมณ์ที่จะฟังเพลง เพราะกำลังเศร้า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ฉับพลันแบบไม่ตั้งตัว ทำให้พูดได้ไม่เต็มปากว่า อาชีพนี้สามารถเป็นอาชีพหลักได้จริงๆ ยกเว้นคุณจะมีความสามารถทางเบื้องหลังด้านดนตรีนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถ้าจะเอาดีทางเล่นดนตรีเล่นคอนเสิร์ตหากิน จำเป็นต้องมีอาชีพเสริมอะไรก็ได้ที่พร้อมจะเป็นอาชีพหลักทดแทนเวลาที่งานหาย (ในระยะเวลานานๆ)

5. ดังยาก ตกง่าย *

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ สำคัญที่สุดเพราะอาชีพนี้เอาเข้าจริงๆนั้นประสบความสำเร็จหรือดังยากมาก เก่งอย่างเดียวไม่ได้เลยครับ ต้องเป็นจังหวะและกระแสเอื้อ หรือมีความเฮงด้วย ถึงจะประสบความสำเร็จแบบโดดเด่นกว่าใครๆ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่บังคับใจใครไม่ได้เลย ต่อให้คุณทำเพลงดีแค่ไหน เล่นคอนเสิร์ตสนุกแค่ไหน ถ้าคนดูไม่แห่แหน สักพักก็เงียบครับ
สรุปง่ายๆ คือเป็นอาชีพที่จะให้ดังขนาดมีเงินเข้ามาจนรวยนั้นยาก ถึงยากที่สุดครับ
แถมเมื่อเวลาดังแล้ว อย่าเพิ่งผยองพองขน ว่าฉันจะอยู่ไปอีกตลอดกาล เพราะไม่นาน ถ้าทำตัวไม่ดีหรือไม่เก่งจริง ก็จะหมดกระแสอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าถามชาวบ้านสักคนก็ยังนึกชื่อไม่ออก ขนาดนั้นเลยครับ

#เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในวิชาอาชีพนี้ได้ก็คือ

"การผลิตผลงานและเล่นคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่อง"

เพราะถือเป็นการโปรโมทตัวเองทางอ้อม และช่วยสร้างฐานแฟนคลับ ให้แข็งแรงครับ ทำไปเรื่อยๆ ครับ ทำแบบสนุกอย่างต่อเนื่อง สักวันก็จะถึงวันของเราเอง

ผมเริ่มเล่นดนตรีเพราะความสุขที่ได้แบ่งปันให้กับเพื่อนๆรับฟังผลงานที่เราแต่งเพลง ดีจังเลย เริ่มจากความรู้สึกสนุกที่ได้ไปเล่นคอนเสิร์ต แล้วค่อยๆ พัฒนาไปทีละก้าวจากทำควบคู่กับการสอนหนังสือเป็นงานอดิเรก จนตอนหลังงานคอนเสิร์ตมากขึ้น จนลำบากใจที่จะลาสอนบ่อยๆ ก็เลยตัดสินใจลาออกเพื่อมาเอาจริงทางเล่นดนตรีเป็นหลัก ที่เล่าให้ฟังนั้นหลักจริงๆ อยากจะให้พี่ๆ น้องๆ ที่อ่านอยู่ได้รับรู้แนวคิดของผมนั้นคือ

*เริ่มต้นจากงานอดิเรกก่อนครับ

ค่อยๆ ให้มันแตกยอดกิ่งก้านไปเอง จนวันหนึ่งมั่นใจแล้วว่ามันทำเงินให้เราได้จริงๆ ค่อยปรับเปลี่ยนเป็นงานหลัก แต่ก็สามารถฝันได้นะครับว่ามีเป้าหมายจะเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ของเรา เพียงแต่ในโลกยุคปัจจุบัน แนะนำว่าควรจะมีงานประจำไว้สักงานหนึ่งก่อน แล้วเล่นดนตรีด้วยความสุข เจตนาอยากจะแบ่งปันความสุขนั้นไปสู่สังคมว่าง ถ้าเล่นแบบนี้แล้ว ทุกอย่างจะมีแต่กำไรครับ เราก็จะไม่เครียด ดีกว่าลงทุนเพื่อเป็นนักดนตรีโดยเฉพาะ ดนตรีที่สื่อถึงอารมณ์จะกลายเป็นสินค้าทันที และคนก็จะจับความรู้สึกนั้นได้ว่าคุณไม่จริงใจกับการแต่งเพลงกะรวยอย่างเดียว สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าเราทำดนตรีทำเพลงให้ดีที่สุดเอาไว้นั่นแหละครับ ยังไงก็ไม่เสียหาย ใครไม่ฟังเราก็เก็บไว้ฟังของเราเอง อมยิ้มอยู่คนเดียว เท่านั้นเอง

"เงินก็ซื้อไม่ได้ครับความสุขแบบนี้"

ติดตามได้ทางช่องทางอื่นๆดังต่อไปนี้จ้ะ
IG: tarparadoxs
Line: @paradoxnews

ลิงค์เพจตาต้า(เพจส่วนตัว)
https://m.facebook.com/Tatastudiothailand.  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook