แม้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ตัวตนของ “Better Weather” ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน | Sanook Music

แม้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ตัวตนของ “Better Weather” ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

แม้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ตัวตนของ “Better Weather” ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กาลเวลาไม่เคยรอใคร... 12 ปีช่างผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว

จากวงดนตรีเล็กๆ ที่เดินทางจากจังหวัดลำปาง สู่ใจกลางกรุงเทพฯ Better Weather กลายเป็นหนึ่งในวงป็อปขวัญใจวัยรุ่นที่สร้างเพลงฮิตมาประดับวงการมากมาย “Is This Love”, ไม่เคยไม่รักเธอ”, “ยังไม่รู้”, “แค่เท่านั้น”, “ทำไมต้องมีน้ำตา”, “ไม่มีแล้วความรัก” ล้วนเป็นบทเพลงที่ทุกคนร้องตามได้ พร้อมจะสนุก พร้อมจะเศร้าไปกับพวกเขาอย่างไม่ขัดเขิน

ในโอกาสที่ 3 สมาชิกแห่ง Better Weather อย่าง ดิว-ธนภัทร์ ธนากรกานต์ (ร้องนำ), ฟุ้ง-อัครชนช์ ราชปันดิ (กีตาร์) และ แจ็ค-พร้อมพงษ์ พรหมปัญโญ (เบส) กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ในชื่อ Better Together Concert 12 ปี นี่คือรักใช่ไหม? ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 ณ นครินทร์สเปซ และที่สำคัญบัตรคอนเสิร์ตขายหมดเกลี้ยงไปเป็นที่เรียบร้อย Sanook! Music จึงขอย้อนความหลัง การเดินทางที่ต้องเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงมากมาย จนมาสู่อัลบั้มล่าสุด Run for Better Future Part I ที่พวกเขาภูมิใจนำเสนอ

อย่างที่ Better Weather เคยบอกว่า อากาศมันเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่อย่างน้อยตัวตนและความหลงใหลในเสียงดนตรีของพวกเขาไม่เคยลดลงเลยแม้แต่น้อย

Better Weather

Better Weather

 

12 ปีที่ผ่านมาในวงการเพลง วงดนตรี Better Weather ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากช่วงเวลาเหล่านั้น?

ดิว : หลายๆ อย่างเลย ทั้งเรื่องการปรับตัว แนวคิดเรื่องของเพลง วงการเพลงเมืองไทยที่พัฒนาไปในทิศทางไหนบ้าง เราก็ต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่เราเป็นแค่แฟนเพลง เราก็จะเป็นอีกแบบ พอเรามาเป็นศิลปิน เราก็นำบางสิ่งบางอย่างจากตอนที่เราเป็นแฟนเพลงมาใช้ได้ อย่างเช่น การรู้ว่าแฟนเพลงชอบแบบไหน ความเป็นกันเอง บางทีเด็กสมัยนี้ต้องการความเป็นกันเองมาก ยิ่งมีเรื่องของโซเชียลมีเดียเข้ามา หรือแม้แต่การมีสัมมาคารวะที่มีต่อวงดนตรีรุ่นพี่ รวมไปถึงวงการเพลงที่เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ จากที่เมื่อก่อนอินดี้คือนอกกระแส แต่มันมีช่วงหนึ่งที่อินดี้เป็นกระแสหลักด้วยซ้ำ จนทุกวันนี้มันก็กลายเป็นความหลากหลายของแนวเพลง มีทางเลือกเยอะขึ้น

ฟุ้ง : เราเรียนรู้เรื่องการอยู่รอดด้วยนะ

วงดนตรีต้องเอาตัวรอดในเรื่องอะไร?

ฟุ้ง : มันคือเรื่องว่าเราจะทำเพลงอย่างไร ถ้าเราจะเป็นอินดี้จ๋าๆ แน่นอนเลยคืองานจ้างไม่มีแน่ ซึ่งจริงๆ แล้วตัวตนของ Better Weather เองก็อยากทำอะไรมากมาย เราเป็นคนฟังเพลงเยอะ และอยากทำเพลงในแบบที่เราต้องการ แต่บางทีมันก็มีกฎเกณฑ์บางอย่างอยู่ เราก็ต้องทำเพลงที่รู้สึกว่ามันย่อยง่าย ฟังง่าย แต่เจือปนไปด้วยความต้องการของเรา อาจจะเป็นเรื่องของการดีไซน์เสียมากกว่า

หมายถึงกฎเกณฑ์ที่ว่านั้นอาจทำให้วงดนตรีไม่ได้นำเสนอตัวตนร้อยเปอร์เซ็นต์?

ฟุ้ง : ผมว่าตอนนี้มันมีอยู่ 2 แบบ คนที่ทำเพลงในทางที่สุดโต่งของตัวเองมันก็มีผลดี เพราะตอนนี้คนเปิดรับแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ เฮ้ย ต้องทำเพลงป็อป ผมคิดว่าตอนนี้ทุกคนทำอะไรก็ได้แล้ว วงเราก็ทำ เมื่อก่อนเราทำเพลงย่อยง่ายมากๆ อย่าง “Is This Love” หรือ “ไม่เคยไม่รักเธอ” แต่กับอัลบั้มใหม่ เราก็ขอทำในสิ่งที่... นี่แหละ Better Weather แต่ก็ต้องมีการปรับตัว ต้องชั่งน้ำหนัก บางทีเราส่งเพลงไปที่ค่าย มันก็อาจจะมีไม่ลงตัวบ้างแหละ อัลบั้มหนึ่งมี 6 เพลง เราก็ต้องทำเพลงฮิตให้ได้สักเพลง แต่ต้องยอมรับว่าสมัยนี้มันเกิดการทำงานแบบอิสระเยอะมาก แม็กซ์ เจนมานะ อย่างนี้, The TOYS, พี่เล็ก Greasy Cafe หรือ Zweed n’ Roll เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ยึดติดกับความเป็นเมนสตรีม แต่ทุกคนมีแฟนคลับหมด

Better Weather

แสดงว่าตัวตนของ Better Weather ในยุคหลังค่อนข้างเด่นชัดกว่าในช่วงแรก?

ดิว : จริงๆ มันก็เป็นตัวของตัวเองมาตลอด แค่พวกเราโตขึ้น ทั้งเรื่องความคิดและการแสดงออก รวมไปถึงภาคดนตรี การแสดงสด และไลฟ์สไตล์ มันชัดเจนขึ้นมากกว่า

ฟุ้ง : พวกเราทำวงกันมาหลายปี เรื่องการแสดงสดหรืออุปกรณ์ในการแสดงสดเราจะใส่ใจมาก เมื่อก่อนตอนยังเด็กอาจจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้มันต้องพัฒนาไปตามอายุ เล่นมาสิบกว่าปีแล้ว ซาวด์มันต้องชัดเจนขึ้น หาอุปกรณ์ที่จะทำให้โชว์ออกมาดีที่สุด และพร้อมที่สุดสำหรับการทัวร์คอนเสิร์ต

ย้อนกลับไปในช่วงแรกที่ก่อตั้งวง กว่าจะค้นพบซาวด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ขนาดนี้มันยากไหม?

ฟุ้ง : มันเหมือนกับว่า เราฟังอะไร เราก็ชอบแบบนั้น เราจำเสียงของกีตาร์แบบนี้ เสียงสแนร์แบบนี้ได้ Oasis, Coldplay หรือ The Beatles ล้วนแล้วแต่เป็นรากเหง้าของ Better Weather เราชัดเจนว่าเน้นสายยุโรป ก็ศึกษาเลย วงยุโรปเขามีวิธีการส่งกลองแบบไหน สแนร์ที่ใช้ กีตาร์ เอฟเฟกต์ต่างๆ เหมือนเราอ่านหนังสือนั่นแหละ รวมไปถึงเพลงโซลยุค 80s วง Bread หรือ Stephen Bishop แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นบริตป็อป คุณก็ต้องชัดเจน หรือจะเป็น 80s วง Polycat เขาก็ศึกษาลึก คือทั้งศึกษาและอินกับมันด้วย เอากีตาร์ Ibanez ร็อคๆ มาให้ผมดีด ผมก็ดีดได้ซาวด์แบบนี้อยู่ดี มือกีตาร์เอาเอฟเฟกต์มาเรียงกัน ดีดมาอย่างไรก็ไม่มีทางเหมือนกัน มันเป็นลายมือของแต่ละคน เปลี่ยนเอฟเฟกต์มาไม่รู้กี่ชุด ผมก็ต้องปรับให้มันเหมือนเดิม เพราะผมจำเสียงนั้นได้ อย่างเอฟเฟกต์เสียงแตกตัวหลัก ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ผมก็ยังใช้อยู่ ถึงจะพังไปผมก็จะหาสิ่งที่เหมือนตัวเดิมมา

แจ๊ค : อย่างเรื่องเสียงเบส คาแรกเตอร์มันอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนกีตาร์ เราก็มีหน้าที่ดูว่าแนวดนตรีแบบที่เราเล่น เราก็ใช้ประมาณนี้แหละ มันจะไม่ใช่การริฟฟ์ส่งเหมือนฝั่งอเมริกา หรือถ้าเป็นสายโซลหรือฟังก์ มันก็จะมีทางของเขา

ฟุ้ง : ปกติมือเบสเขาจะเล่นเสียงโลว์ แต่คุณแจ๊คเขาจะเล่นตรงกลางคอเบสเวลาอัดเสียง มันจะมีความมิดโลว์ มันเป็นเรื่องของการดีไซน์ว่าเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมันจะต้องเป็นแบบไหน

มันส่งผลไปถึงเวลาทำเพลงใหม่ด้วยหรือเปล่าว่า โจทย์ของพวกคุณคือต้องทำเพลงให้ออกมาเป็นซาวด์แบบนี้?

ดิว : คือมันกลายเป็นว่า ไม่ว่าเราจะทำเพลงใหม่สักกี่เพลง มันก็จะมีมวลที่อยู่ในวงกลมวงนั้นนั่นแหละ มันจะรู้ทันทีเลยว่า ตรงนี้ฟุ้งน่าจะเล่นไลน์แถวๆ นี้แน่เลย ตรงนี้ต้องมีคู่คอรัส อะไรแบบนี้

พวกคุณเดินทางมาจนถึงอัลบั้มเต็มชุดที่สาม Run for Better Future Part I ทิศทางในอัลบั้มนี้เป็นอย่างไร?

ดิว : มันเป็นอัลบั้มที่ทำกันมานานแล้ว เราทำเพลงเก็บสะสมมาเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่อะไรหลายอย่างไม่ลงตัว ส่งเพลงไปไม่ผ่านบ้าง จนระยะเวลามันนานพอสมควร เอาเข้าจริงเพลงมันเลยค่อนข้างช้ำ เราจึงตัดสินใจว่าต้องใส่อะไรที่มันร่วมสมัยเข้าไป อย่างใน Run for Better Future Part I มันมีเรื่องของซินธิไซเซอร์เข้ามาค่อนข้างชัด แต้มสีของซินธ์ฯ ให้มากขึ้น คืออัลบั้มแรกๆ มันก็มีนะ มันอยู่ในโครงสร้างของเพลง Better Weather อยู่แล้ว แต่เรามิกซ์ให้มันเบา ไม่ได้สาดสีให้มันชัดสักเท่าไหร่

ฟุ้ง : ช่วงการทำอัลบั้มนี้ผมบ้าอุปกรณ์ ก่อนหน้านี้ทุกคืนผมจะศึกษาปรีแอมป์ทุกรุ่นเลย รวมไปถึงพยายามศึกษาทั้งดิจิตัลและอนาล็อกผสมกัน เหมือนเอาอุปกรณ์ดิจิตัลมาผ่านปรีแอมป์ที่เป็นอนาล็อก แล้วผสมซาวด์ให้รู้สึกว่ามันแปลก แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้แปลกหรอก มันคือการทดลองที่เรารู้สึกว่าอยากทำในอัลบั้มนี้ หรืออย่าง Part II ที่จะปล่อยในปลายปีนี้หรือต้นปี 2020 ผมนึกไปถึงยุคสมัย 70s ที่มือกีตาร์เขาชอบใช้กีตาร์อัดผ่านปรีแอมป์ โดยไม่ผ่านแอมป์กีตาร์ ซาวด์มันก็จะบี้ๆ แบนๆ บางคนอาจจะ... เฮ้ย กีตาร์ซาวด์ห่วย แต่มันคือความตั้งใจให้เป็นแบบนั้น นี่คือซาวด์ยุค 70-80s ของแท้

ปกอัลบั้ม Run for Better Future Part I

เรารู้สึกว่า เพลงของ Better Weather เกิน 90% คือเพลงรัก แล้วมุมมองความรักในทุกวันนี้ของพวกคุณเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?

แจ๊ค : ช่วงชุดแรกๆ เราอายุแค่ยี่สิบกว่า วุฒิภาวะเรามีไม่พอ เลิกรากับแฟนก็เฮิร์ต อะไรไม่รู้ก็ด่ากราดไว้ก่อน เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด แต่พอโตขึ้น เราก็รู้สึกว่าเราใจเย็นลงนะ มันเกิดการทบทวนว่า เลิกกันทำไม เพราะสาเหตุอะไร เลิกกันดีหรือไม่ดี เราก็ต้องมานั่งคิดทบทวน ใจเย็นและมีสติมากขึ้น

ดิว : ก็คล้ายกับแจ๊คแหละ โตขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น สมมติจะไปจีบใครสักคน ก็จะรู้แล้วว่าควรมีชั้นเชิงแบบไหน แบบไหนเขาจะชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามองเรื่องการทำเพลง ถามว่าทำไม Better Weather มีแต่เพลงรัก อย่างหนึ่งคือคนฟังน่าจะเชื่อผมในการร้องเพลงรักมากกว่าร้องเพลงเพื่อชีวิต ผมว่ามันทำให้คนเชื่อได้มากกว่า มันก็เลยทำให้เราสร้างเพลงรักได้ ไม่ว่าจะรักคุดหรือสมหวังก็แล้วแต่ เคยจะทำเพลงที่พูดถึงเรื่องราวของชีวิตเหมือนกันนะ แต่สุดท้ายผมว่าไม่รอด ก็กลับมาอยู่กับความรักดีกว่า แต่อาจจะเป็นมุมมองความรักที่เข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น

ฟุ้ง : อย่างช่วงแรกที่ผมแต่งเพลง “ยังไม่รู้” สังเกตว่าเนื้อเพลงจะฟูมฟายตามวัย ทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจเลยนะว่าตัวเองแต่งแบบนั้นไปได้อย่างไร ให้มานั่งแต่งตอนนี้ เราจะบอกว่าเนื้อเพลงนี้เป็นเนื้อเพลงที่โคตรจะไม่ดี แต่เราแต่งแบบนั้นไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เรารู้วิธีการทุกอย่างแล้ว กลับกลายเป็นว่า เพลง “ยังไม่รู้” มันเต็มไปด้วยความ pure เข้าใจง่าย เข้าใจตามอารมณ์เลย เขาไม่ได้สนใจตอนท้ายที่มาจบว่า “ไม่เป็นไร ขอให้เธอเก็บไว้” ด้วย หรืออย่าง “ไม่มีแล้วความรัก” ก็ฟูมฟาย แต่พอในอัลบั้มนี้ อย่างเพลง “Good Old Days” ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้หญิงขอห่าง แต่เราก็ยังมองโลกในแง่ดี ใช้ความห่างหยุดเรื่องร้ายต่างๆ อย่างที่แจ๊คบอก ทุกคนใจเย็น ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่า ความรักมันไม่ใช่การที่ต้องมานั่งกินข้าวด้วยกัน คือต่างคนก็ต่างใช้ชีวิต แต่รู้แค่ว่า เรามีแฟน เราคุยกันแบบเข้าใจ สมมติว่าวันหนึ่งแฟนจะไปมีคนอื่น แอบคุยกับคนอื่น ผมยังมานั่งคิดเลยว่าผมคงไม่โกรธ เพราะเขาคงคิดแล้วว่าคนนั้นดีกว่าผม มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้เสียใจกับเรื่องความรักมากมายเหมือนแต่ก่อน ถามว่ารักไหม มันรักอยู่แล้ว แต่แค่เข้าใจว่าความผิดหวังมันเป็นอย่างไร เราผ่านมันมาหมดแล้ว

ถ้าจะให้นิยามเพลงรักสไตล์ Better Weather ล่ะ?

ฟุ้ง : ผมว่ามันเป็นเพลงรักที่ไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟาย เป็นเพลงรักที่พยายามทำใจกับมันได้ในระดับหนึ่ง แต่คนชอบร้องไห้กับเพลงของ Better Weather นะ แต่ผมก็ยังมองว่า เพลงพวกนั้นไม่ได้เป็นเพลงรักที่ทำร้าย มันจะสอดแทรกความเข้มแข็งและการเริ่มต้นใหม่ได้ทุกครั้ง อย่างเพลง “ไม่เกี่ยวเลย” ตอนแต่งมันก็มีความรู้สึกเข้มแข็งว่า ทำไมต้องไปเสียใจ ไม่ได้เกี่ยวกับฉันสักหน่อย แต่ท้ายสุดเราก็มีความห่วงใย หรือ “แค่เท่านั้น” นี่ตรงกับชีวิตหลายคน คุณแจ๊คนี่บ่อยมาก ชอบมือถือลั่น (หัวเราะ)

ดิว : เรื่องมือถือลั่นนี่ตลก คือสมมติว่าวันไหนจะดื่มสังสรรค์ ถึงขนาดต้องลบรายชื่อในโทรศัพท์ออกก่อน เปิดมาแล้วไม่เจอชื่อใครเลยอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

หลายคนชอบบอกว่า เพลงป็อปมันทำง่าย... ง่ายจริงไหม?

ดิว : ไม่ง่ายซะทีเดียว

ฟุ้ง : ลองกลับไปฟังอัลบั้มชุดที่สองของ P.O.P สิ คือถ้าใครไม่แกะมาคือเล่นไม่ได้นะ ถ้าไม่ลองแกะรายละเอียดดนตรีจริงๆ จะฟังยากมาก แต่มันเป็นเพลงป็อปนะ อย่างในยุค 80s คอร์ดโคตรยากเลย แต่เมโลดี้ฟังสบายมาก ผมว่ามันอยู่ที่การจัดวาง ทำอย่างไรก็ได้ให้เมโลดี้มันเพราะ แต่โครงสร้างข้างในเราดีไซน์ได้ว่าเราอยากให้มันเป็นแบบไหน

Better Weather

และ Better Weather ก็กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่สองของวง ซึ่งเว้นระยะห่างจากครั้งแรกนานถึง 6 ปี ถือเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าไหม?

ดิว : คุ้มค่ามาก มันคุ้มค่าตั้งแต่ที่เรารู้ตัวว่าจะมีคอนเสิร์ตนี้เกิดขึ้น มันคุ้มค่าที่เราจะได้เล่นเพลงที่ทุกคนอยากได้ยิน และเราก็อยากจะเล่นให้พวกเขาฟัง มันมีหลายเพลงที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นตามร้านอาหาร ตามผับ หรือบางอีเวนต์ อีกอย่างหนึ่งคือ ผมว่าการขายบัตรคอนเสิร์ตศิลปินไทยในเรตนี้ มันเป็นเรื่องยากในสมัยนี้อยู่เหมือนกันนะ เพราะมันมีฟรีคอนเสิร์ตเต็มไปหมดเลย ราคา 800 บาทสำหรับเรามันถือเป็นความท้าทายของตัวเองว่าจะมีคนซื้อหรือเปล่า ผมก็กังวลนะ จนสุดท้ายก็ขายบัตรหมด ดีใจที่มีคนตั้งใจมาดูพวกเรา คืองาน Better Together Concert 12 ปี นี่คือรักใช่ไหม? เนี่ย จะเป็นคอนเสิร์ตที่มีความเป็นปาร์ตี้อยู่สูง ทางการจะน้อย เป็นเหมือนการรียูเนียนกลับมาหามาเจอเพื่อนเจอฝูง คล้ายๆ งานเลี้ยงรุ่น ผมเชื่อว่ามันจะมีแต่รอยยิ้ม มีโมเมนต์ที่เราอาจจะกอดคอร้องไห้ด้วยกัน นึกถึงวันดีๆ วันเก่าๆ

คิดว่าในวันจริง ความรู้สึกจะเป็นอย่างไรกันบ้าง?

ฟุ้ง : โอ้โห... คือมันมีวันหนึ่งที่เราซ้อมกัน ดิวบอกว่า เฮ้ย กูอินกับเพลงตัวเองว่ะ

ดิว : ผมไม่ได้อินกับเพลงตัวเองมานานแล้วเหมือนกันนะ คือมันมีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้ปล่อยเพลง แล้วก็ต้องเล่นเพลงเก่าๆ ซ้ำๆ วนไปจนบางทีเราก็ท้อใจพอสมควรเหมือนกัน แต่แค่เราซ้อม เราได้ยินเสียงที่เราไม่ได้ยินมานานแล้ว เรารู้สึกว่า เรามีความสุขกับการร้องท่อนนี้จังเลย ร้องไปขนลุกไป

ฟุ้ง : อย่างบางเพลงในตอนแรกเราก็ไม่ได้เอามาไว้ในซองลิสต์ แต่พอนึกไปนึกมา ผมยัดเข้าไปเฉยเลย แล้วกลายเป็นว่าเพลงนั้นเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนในวงรู้สึกดี เฮ้ย เราลืมเพลงนี้กันไปได้ไงวะ พอเอามาซ้อมแล้วนึกถึงสมัยสิบกว่าปีที่แล้ว นั่งทำอีพี ยังไม่มีค่าย แล้วก็มีคนซื้อ ซึ่งในคอนเสิร์ตนี้ผมเชื่อว่าทุกคนจะสนุกและมีส่วนร่วมไปกับเพลงของ Better Weather แม้จะเป็นเพลง B-side ก็ตาม

คอนเสิร์ต Better Together Concert 12 ปี นี่คือรักใช่ไหม?

 

Story by: Chanon B.
Photos by: Thanapol W. / BEC-Tero Music

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ แม้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ตัวตนของ “Better Weather” ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook