ธุรกิจแผ่นเสียงเพลงไทยยุคใหม่เหมาะกับนักเล่นแผ่นเสียงบ้านเราจริงหรือ? | Sanook Music

ธุรกิจแผ่นเสียงเพลงไทยยุคใหม่เหมาะกับนักเล่นแผ่นเสียงบ้านเราจริงหรือ?

ธุรกิจแผ่นเสียงเพลงไทยยุคใหม่เหมาะกับนักเล่นแผ่นเสียงบ้านเราจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องโดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

 

หลายคนมีงานอดิเรกหรือรสนิยมส่วนตัวเกี่ยวกับการฟังเพลง หรือลงละเอียดกว่านั้นก็คือ เล่นแผ่นเสียง หรือถึงขั้นสะสมเป็นเรื่องราวกันเลย ในฐานะที่มีร้านขายแผ่นเสียงและฟังเพลงเป็นทุนอยู่แล้ว ได้วิเคราะห์แวดวงคนฟังแผ่นเสียงในช่วง 3-4 ปีมานี้เห็นได้ว่าวงการแผ่นเสียงเพลงไทยผลิตใหม่ (ขอเรียกสั้นๆว่าแผ่นรี) ไปได้ดีและมีคนสนใจกันมาก นับแต่มีผู้นำผลงานเพลงไทยในอดีตยุค 80s มาออกใหม่ ซึ่งแผ่นรีเหล่านี้ตอบสนองกลุ่มคนฟังเพลงไทยรุ่นใหม่ได้ดีพอสมควร

แผ่นเสียงเป็นที่นิยมได้อย่างไร?

ความจริงแผ่นเสียงมีมานานและไม่เคยเลิกผลิต มีบางช่วงที่ผลิตน้อยเพราะโดนตลาดซีดีตีกระหน่ำ มันไม่เคยหายไปจากหมู่คนเล่นแผ่น และอุตสาหกรรมดนตรีในหลายประเทศยังคงให้ความสำคัญกับแผ่นเสียงอยู่ คนที่เล่นก็ยังคงเล่นต่อไป แต่อาจต้องเจียดเวลามาเล่นซีดีเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ช่วงปี1986 เป็นต้นมา ตลาดแผ่นเสียงค่อยๆถูกซีดีแชร์ไปเรื่อยๆจนแทบจะเหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ในตลาดช่วงปี1995 แต่กระนั้น คนฟังเพลงในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยสนใจแผ่นเสียงกัน เพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัวและราคาค่อนข้างสูง สมัยที่ซีดีบูมเต็มที่ หลายคนถึงกับเอาแผ่นเสียงที่สะสมมาเปิดท้ายรถวางขายกันในราคาถูกเท่าเทปคาสเสตต์กันเลยทีเดียว

ว่ากันตามจริง แผ่นเสียงเพิ่งเป็นที่นิยมอย่างจริงจังในช่วงสิบกว่าปีมานี้เอง จากกระแสแผ่นเพลงไทย ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง เรียกได้ว่าเพลงไทยทุกแผ่นกลับมามีค่ากันหมด สาเหตุเพราะมีคนพูดถึงกันมากขึ้น อีกทั้งหาซื้อไม่ยาก ราคาไม่สูง ความนิยมจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไร สถานการณ์เปลี่ยน ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เหล่ากูรูต่างออกมาให้คำแนะนำว่าจะสะสมต้องมีแผ่นนั้นแผ่นนี้

คนฟังก็ยิ่งตามหา ราคายิ่งสูง ขึ้นทุกวันราวกับราคาทองคำ หลายคนที่เป็นนักเล่นแผ่นหน้าใหม่ กระโดดเข้าวงการได้ไม่นานก็ต้องโบกมือลา เพราะทุนไม่ถึง และไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นเสียงมาแต่แรก ฟังตามเขาเป็นหลัก ยิ่งมีพ่อค้าหัวใสบางรายหยิบงานดังในอดีตมาทำแผ่นรีแล้วอัพราคากันจนเวอร์

ด้วยเหตุผลที่ว่าแผ่นดั้งเดิมราคาเป็นหมื่นไม่ต้องไปซื้อ มาซื้อแผ่นรีในราคาไม่กี่พันดีกว่า ฟังแล้วเคลิ้มนะครับ ประหยัดเงินได้มากขนาดนั้น แต่ในความเป็นจริง แผ่นรีเหล่านั้นไม่ได้ใช้มาสเตอร์ดั้งเดิม เหตุเพราะค่ายเพลงบ้านเราไม่เคยให้ความสำคัญกับมาสเตอร์ และละเลยระบบจัดเก็บฐานข้อมูล มาสเตอร์ส่งโรงงานไปปั๊มแผ่นแล้ว ก็แล้วกัน

ถ้าโรงงานส่งคืนก็ยัดลงลิ้นชักไป ถ้าไม่คืนก็ไม่มีใครตามกลับ แผ่นรีในตลาดเกือบทั้งหมดจึงไม่ได้ผลิตมาจากมาสเตอร์จริงๆ แต่เป็นการนำแผ่นเสียงดั้งเดิมหรือซีดีมาแปลงไฟล์เพื่อทำเป็นมาสเตอร์ ซึ่งคุณภาพไม่มีทางได้เทียบเท่าของดั้งเดิมเลย อย่างดีที่สุดก็ได้แค่ใกล้เคียง ผมได้คุยกับหลายคนและเปรียบเทียบว่าแผ่นรีหรือแผ่นเสียงที่ออกใหม่ในยุคนี้

ต้นฉบับเสียงไม่ได้ผลิตมาแบบอนาล็อก กระบวนการผลิตมาจากคอมพิวเตอร์ แล้วทำเป็นไฟล์เสียง ซึ่งก็นำไปผลิตซีดีนั่นเอง แต่ก็แปลงไฟล์ส่วนหนึ่งไปใช้ผลิตแผ่นเสียง ด้วยเหตุนี้ ซีดีกับแผ่นเสียงของศิลปินใหม่ๆจึงมาจากต้นฉบับเดียวกัน คุณภาพเสียงไม่ต่างกัน แต่รูปแบบของแผ่นเสียงอาจทำให้คนฟังรู้สึกดีกว่าฟังซีดีเท่านั้นเอง อาจรวมถึงอาร์ตเวิร์กที่ดูสบายตา และเนื้อเพลงที่ตัวอักษรใหญ่ขึ้นกว่าในปกซีดี

ประเด็นสำคัญของคนฟังแผ่นเสียงรุ่นใหม่กับแผ่นรีก็คือ คนฟังแผ่นรุ่นใหม่ไม่ได้ฟังแผ่นเสียงในยุคของมันมาแต่แรก ไม่เคยสัมผัสสุ้มเสียงในแบบอนาล็อกที่แท้จริง อีกทั้งเครื่องเล่นและซิสเต็มที่ใช้อยู่ไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อเล่นกับอนาล็อกโดยตรง ดังจะเห็นได้จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหม่ๆที่ออกมาเกลื่อนตลาดในราคาไม่สูงนัก แต่มีทุกอย่างครบในตัว ทั้งเล่นแผ่นเสียง มีสำโพงในตัว มีช่องเสียบสาย USB ต่อกับคอมพ์เพื่อฟังเพลงจากลำโพงคอมพ์ได้ ซึ่งซิสเต็มในการฟังแผ่นเสียงที่ประกอบด้วยแอมป์ ลำโพง

และเครื่องเล่นถูกบีบอัดมาอยู่ในเครื่องเล่นรุ่นใหม่พร้อมสรรพในตัวเดียว ซึ่งมันสะดวก พกพาง่าย ไม่เปลืองพื้นที่ และราคาถูกกว่าซิสเต็มจริงๆหลายเท่า แต่ผลที่ออกมาก็ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนฟังรุ่นใหม่และโดยเฉพาะกับมือใหม่อย่างมาก เริ่มจากสุ้มเสียงที่ออกมาคุณภาพไม่ได้เศษเสี้ยวของซิสเต็มจริงๆ ข้อจำกัดในการขับพลังเสียง หรือแม้แต่เสียงที่ออกมาจากลำโพงคอมพ์ พูดง่ายๆก็คือ คุณภาพไม่ต่างจากฟังเพลง MP3 ทั้งที่ตัวแผ่นเสียงเองมีสุ้มเสียงดีกว่านั้นมากมาย หากเล่นกับซิสเต็มที่ผลิตมาเพื่อฟังแผ่นเสียงโดยเฉพาะ

แต่ก็นั่นแหละครับ ซิสเต็มในระดับใช้ได้หรือค่อนข้างดีก็ต้องใช้งบตั้งแต่ 2 หมื่นกลางๆไปจนถึง 5 หมื่น คนฟังรุ่นใหม่จึงเลือกเครื่องเล่นแบบพกพาที่เสียบฟังกับคอมพ์ได้ และอาจทำให้พวกเขาเข้าใจผิดว่าแผ่นเสียงที่เขาว่าเสียงดีนักดีหนา ทำไมให้สุ้มเสียงออกมาได้แค่นั้น  การทำความเข้าใจกับซิสเต็ม ธรรมชาติของแผ่นเสียง และดูงบในกระเป๋าตัวเองจึงต้องมาพร้อมกัน ความสุขในการฟังและอรรถรสจึงจะเกิดขึ้นครับ

ต้องใช้สติในการเล่นแผ่นเสียง

หลายคนมีกำลังทรัพย์ แต่ขาดกำลังความคิดและความละเอียด ทำให้กว้านและโหมซื้อแผ่นเสียงที่ “เขาว่า” หรือ “เซียนว่า” ดี ควรสะสม หรือต้องมีไว้ประดับบารมี โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคต และที่น่ากลัวก็คือ การซื้อโดยที่ตัวเองไม่ใช้นักฟังเพลง ซึ่งทำให้อาจต้องนำแผ่นที่กว้านซื้อมาเทขายทิ้งในภายหลังได้ เพราะมันไม่ใช่ทางของเขา หรือแค่โหนกระแสไปวันๆ ซึ่งคนทุนหนาก็คงไม่เดือดร้อนมาก อย่างมากก็แค่ขาดทุนกับแผ่นที่ขายทิ้ง ซึ่งราคาผิดกับตอนซื้อมาอย่างมาก ก่อนเล่นแผ่นควรถามตัวเองให้ดีว่า เรารักเสียงแบบอนาล็อกหรือเปล่า ทนได้กับรายละเอียดในการจัดเก็บ หรือดูแลรักษาแค่ไหน และสุดท้าย คุณต้องการมีแผ่นเหล่านั้นไว้ฟังจริงๆหรือเปล่า

กฎเหล็กของคนเล่นแผ่นเสียง

- เชื่อหูตัวเอง อย่าเชื่อเขาเล่าว่า หรือเซียนบอกมา  เวลาจะซื้อเครื่องเล่นแผ่น เอาแผ่นที่เราคุ้นเคยหรือชอบมากที่สุดไปลองที่ร้านขาย ให้เขาเปิดกับซิสเต็มของร้าน ถ้าเสียงออกมาไม่เหมือนที่เราฟัง ก็เพิ่งตัดสินใจซื้อ ลองหลายๆร้าน สงสัยอะไรถามทันที ส่วนหนึ่งที่เราเสียรู้หรือเสียเปรียบร้านเหล่านี้ก็คือ กลัวเสียฟอร์ม สงสัยแล้วไม่กล้าถาม ถามนะครับ เขาอยากขายของ เขาต้องตอบคำถามเราให้ได้

ฟังเพลงที่ตัวเองคุ้นเคยและรู้จักดีก่อน แล้วเปรียบเทียบเสียงจากแผ่นกับที่เราได้ยินมาแล้วจากซีดีหรือเทป  สืบเนื่องจากหัวข้อข้างบน เพราะหูเราจะไม่ทรยศเราอย่างเด็ดขาด เชื่อมั่นในหูและประสบการณ์ของเราเอง ไม่เหมือนที่เราฟังก็ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องเกรงใจเวลาซื้อ ของมีให้ซื้อเรื่อยๆ เราไม่ซื้อตอนนี้ เดี๋ยวก็มีอันที่ใช่มาให้เราเสียเงินอยู่ดี

บริหารการเงินให้ดี  การฟังเพลงอย่างมีความสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเงินในกระเป๋าเราด้วย การโหมซื้อหรือซื้อทีละมากๆไม่ได้ช่วยให้เราเป็นคนฟังเพลงเก่งหรือเป็นเซียนได้ การฟังบ่อย ฟังแล้ววิเคราะห์ จดจำรายละเอียด ศึกษาแผ่นนั้นๆต่างหากที่ทำให้เราพัฒนาได้ ดูงบว่าหักรายจ่ายตายตัวของแต่ละเดือนแล้ว เหลือเงินให้ซื้อแผ่นเท่าไหร่ วิธีการบริหารเงินที่ชาญฉลาดจะทำให้เราซื้อแผ่นได้หลายๆแผ่น แทนที่จะเป็นแผ่นเดียวในจำนวนเงินที่เท่ากันครับ

- อย่าใจร้อน แผ่นที่อยากได้ไม่ได้มีแผ่นเดียวในโลก ไม่ได้ตอนนี้ เดี๋ยวก็มีมาอีก  เป็นกฎเหล็กของผู้ที่เริ่มต้นครับ บางคนเพิ่งเห็นทำให้มองแผ่นนั้นแผ่นนี้เป็นแผ่นหายากไปหมด เพราะเพิ่งกระโจนเข้าวงการ ขอให้ใจเย็น ทุกแผ่นปั๊มมาเป็นหลักหมื่นหลักแสน ไม่ซื้อวันนี้ วันหน้าก็มีอีก ที่สำคัญ ต้องดูแผ่นให้เป็น โดยเฉพาะสภาพแผ่น คนขายระบุ VG EX NM เป็นอย่างไร ต้องรู้เท่าทัน ซื้อแผ่นสภาพไม่ดี นอกจากเล่นแล้วมีปัญหา คุณต้องรอซื้อแผ่นเดียวกันนี้ในสภาพดีๆมาทดแทนอีกด้วย

- ขยันถาม ไม่ว่าจะถามคนขาย ถามเพื่อน ถามผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ หรือแม้แต่ถามตามเพจต่างๆเกี่ยวกับเครื่องเสียง แผ่นเสียง และเพลง ช่างสังเกต เก็บข้อมูล เปรียบเทียบราคา ขยันหาแหล่งขายที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วโลก  สุดท้ายถามตัวเองว่าเป็นคนรักการฟังเพลงและรักแผ่นเสียงหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงเวลาในชีวิตประจำวันของเราไปอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงในแต่ละวัน บางคนก็มากกว่านั้น ประการสำคัญ คุณมีความสุขกับแผ่นเสียงหรือไม่ โดยเฉพาะกับแผ่นเสียงเพลงไทยที่รีกันออกมาเรื่อยๆอย่างนี้ บางเจ้าก็เน้นคุณภาพและไม่เอาเปรียบลูกค้า

แต่ก็ไม่ค่อยมีคนอุดหนุน น่าเสียดายครับ บางเจ้าก็ขายดี และมีคนเห็นใจเพียงเพราะสาเหตุลงทุนแยะ ต้องไปปั๊มแผ่นถึงต่างประเทศ ต้นทุนสูง ส่วนคุณภาพเสียงบางชุดก็สอบตก รวมทั้งคงไม่ได้รักลูกค้าและคนฟังเพลงเล่นแผ่นเท่าไหร่ ไม่งั้นราคาคงไม่แพงระยับขนาดนั้น และมันจะทำให้คนฟังยุคนี้ไม่รู้จักแผ่นเสียงที่ดี แต่ราคาถูกครับ

 

*มีคำถามหรือแสดงความคิดเห็น เชิญที่ www.facebook.com/recordhuntershop ได้ครับ ยินดีต้อนรับทุกคนครับ แต่ไม่สันทัดฮาร์ดแวร์นะครับ

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก istockphoto

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook