ดิวไปด้วยกันนะ - กาลครั้งหนึ่ง ณ ปางน้อย ที่ฉันอยากเดินจากมา

ดิวไปด้วยกันนะ - กาลครั้งหนึ่ง ณ ปางน้อย ที่ฉันอยากเดินจากมา

ดิวไปด้วยกันนะ - กาลครั้งหนึ่ง ณ ปางน้อย ที่ฉันอยากเดินจากมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

มีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์

 

บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ดิวไปด้วยกันนะ เป็นการดัดแปลงบทภาพยนตร์มาจากหนังเกาหลีเรื่อง Bungee Jumping of Their Own ในปี 2001 แต่ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ เราอาจจะต้องพูดว่ามันกลายเป็นเรื่องราวใหม่ ที่เหลือไว้แต่โครงสร้างเดิมให้พอจับต้องได้พอประปราย ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล 

 

 

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในปี 1996 ที่เมืองปางน้อย (เมืองสมมติที่ไม่มีอยู่จริง) ซึ่งน่าจะอยู่ไม่ไกลตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก ดิว (โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี) เด็กชายวัยรุ่นอารมณ์ดี ซึ่งได้พบกับภพ (นนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) ทั้งสองเริ่มจูนกันด้วยเคมีบางอย่างที่ตัวพวกเขาเองก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับความรู้สึกของพวกเขาควรเรียกว่าอะไรดี ระหว่างความรักหรือแค่ความรู้สึกดีๆ

 

เช้าวันหนึ่งเมื่อครูใหญ่ประจำโรงเรียนได้ประกาศกลางกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธงก่อนเข้าเรียนว่า มีการระบาดของเชื้อเอดส์ในปางน้อย โดยเฉพาะกลุ่มรักร่วมเพศ จึงมีนโยบายให้นักเรียนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการบำบัดจากแพทย์และทหาร โมเมนต์นั้นเองคนดูก็ถูกบอกให้ทราบทันทีว่าความสัมพันธ์ของดิวและภพคงเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ในสายตาของผู้ใหญ่ในสังคม

 

 

 

ผู้ชมถูกบอกให้ทราบอยู่ตลอดเวลาว่าปางน้อยนั้นเป็นเมืองขนาดเล็ก ใครทำอะไรก็รู้ถึงกันหมดอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์รถมอเตอร์ไซค์ของภพล้มตอนเช้า ตกเย็นแม่ของดิวก็รู้เรื่องราวทั้งหมดทันทีโดยที่ตัวลูกชายของเธอไม่ต้องบอกอะไร แน่นอนว่า “เรื่องปากต่อปาก” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดิวกับภพกำลังถูกจับตามองจากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่

 

 

การจัดวางตัวตนของเด็กชาย

 

บ้านของภพที่หนังเผยให้คนดูได้เห็นคือ เขามีพ่อเป็นชาวจีนที่ยึดคติผู้ชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นแม่ ก็เป็นได้แค่เพียงช้างเท้าหลัง คนรองรับอารมณ์อันแสนเดือดดาลของหัวหน้าครอบครัวอยู่ตลอดเวลา ภพในฐานะลูกชายคนเล็กสุดของบ้านจึงได้แต่ก้มหน้ายอมรับคำสั่งของผู้เป็นพ่อมาโดยตลอด ประกอบกับบุคลิกพูดน้อย เก็บตัวและดูไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึกออกมาเท่าไหร่ จึงทำให้เขาดูเป็นคน “ยอมคนอื่น” อยู่เสมอ

 

ขณะที่บ้านของดิว เด็กชายผู้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่แค่เพียงคนเดียว ทำให้เขาดูมีอิสระในการใช้ชีวิต ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เมื่อเราสังเกตจากห้องนอนส่วนตัวที่เต็มไปด้วยหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เทปเพลง รวมไปถึงของเล่นที่เป็นแกดเจ็ตต่างๆ ก็พอจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ดิวนั้นได้รับการเลี้ยงดูที่ตามใจในฐานะลูกคนเดียวของบ้าน ตรงกันข้ามกับภพที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น “ห้องส่วนตัว” ในช่วงเวลาวัยเด็กของเขาเลยสักครั้งเดียว

 

 

การจัดวางตัวตนของภพ ในการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่างจะเป็นการชวนดิวซ้อนท้ายรถ ความขี้เกรงใจเมื่อดิวอาสานำเสื้อนักเรียนไปซัก กระทั่งความพยายามในการสอนดิวให้ฝึกขี่มอเตอร์ไซค์ จึงเป็นเหมือนการเลียนแบบภาวะผู้นำในแบบผู้ชายเฉกเช่นพ่อของเขา เพื่อดูแลและสะท้อนความห่วงใยในอีกรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่ดิวแสดงออกความรู้สึกอยากตรงไปตรงมา เมื่อเขาชอบและสนใจในตัวภพ ดิวก็ไม่อิดออดที่จะเดินหน้าไปทำความรู้จัก พยายามแสดงความรู้สึกในใจแบบไม่รีรอ กระทั่งเขาไม่พอใจและงอนภพ เขาก็เลือกที่จะประชดประชันออกมาตรงๆ

 

คนหนึ่งไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่อีกคนพร้อมจะเปิดเผยตลอดเวลา ทำให้ทั้งสองเป็นเหมือนสิ่งที่เติมเต็มกันและกัน ฉากที่ภพขับรถฝ่าสายฝนเพื่อตามหาดิวนั้น คือฉากโรแมนติกที่สุดในหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือการทำให้คนดูเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า เด็กชายทั้งสองนั้นก้าวพ้นจากสถานะของคำว่าเพื่อนไปสู่คนรักกันแล้วเรียบร้อย

 

 

อย่างไรก็ตามตัวละครภพจะเป็นตัวละครที่คนดูหลงรักได้ไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากความพูดน้อยไม่ค่อยแสดงอารมณ์ แต่สิ่งที่ภพทำไม่ว่าจะเป็นการให้ดิวซ้อนท้ายรถ ความเอาใส่ใจดูแลเทคแคร์คนใกล้ตัว ไปจนถึงการปลอบประโลมดิวในช่วงเวลาที่น้อยใจ หรือกระทั่งการอาสาไปเข้ารับการบำบัดอาการเบี่ยงเบนแทนดิว ทำให้คนดูเห็นว่าตัวละครนี้คือผู้ชายในฝันที่พร้อมจะซับพอร์ทคนที่เขารักในทุกวิถีทาง และถึงแม้ว่าเขาจะระเบิดอารมณ์ครั้งใหญ่ใส่ดิวผ่านโทรศัพท์ก่อนที่จะเดินทางออกจากปางน้อย ก็เป็นเพราะการตัดสินใจครั้งนี้ เขาเลือกจะทำมันเพราะใช้หัวใจตัดสินล้วนๆ แต่เมื่อคนที่เขารักกลับปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองริเริ่มและต้องการ สิ่งที่ภพคาดหวังเอาไว้จึงพังทลายลงต่อหน้าต่อตาเขาทันที

 

อันที่จริงแล้วคนดูสามารถทำความเข้าใจบทบาททางเพศของดิวและภพได้อย่างไม่ยากเย็นนัก อีกทั้งหนังก็พยายามบอกใบ้ให้คนดูเข้าใจตั้งแต่ฉากจับคู่เต้นลีลาศแล้ว เมื่อภพถามดิวว่าจะเต้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ด้วยความเคอะเขินของดิว เขาจึงตอบกลับไปแบบกล้าๆกลัวๆว่า “เป็นผู้ชายที่เต้นท่าของผู้หญิง” จนกระทั่งหนังดำเนินไปถึงเหตุการณ์ในห้องน้ำที่ภพกำลังอาบน้ำเป็นแบคกราวน์ ในขณะที่ดิวส่องกระจกเป็นโฟร์กราวน์ หนังก็เผยให้คนดูเห็นว่าการอาบน้ำด้วยกันครั้งนี้อาจจะมีอะไรที่เป็นมากกว่าการอาบน้ำธรรมดา ด้วยการที่ตัวละครทั้งสองสบตากันและถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างผ่านสายตา ประกอบกับความกระอักกระอ่วนเมื่อเพื่อนของทั้งสองเห็นดิวและภพที่เดินออกมาจากห้องน้ำด้วยกัน

 

 

ครึ่งแรกของดิวไปด้วยกันนะจึงเป็นการสะท้อนภาพความยากลำบากกับการเป็นเพศทางเลือกในช่วงเวลาปี 90 ซึ่งถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคม การมีพฤติกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนความชั่วร้ายและนำไปสู่ต้นเหตุของโรคติดต่อทางเพศ ผู้คนไม่พร้อมที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ หากแต่เลือกจะผลักไสบุคคลเหล่านี้ไปยังสุดขอบเหว พวกเขามีตัวเลือกแค่เพียงยอมรับการตีตราจากสังคมหรือไม่ก็หาทางออกที่เลวร้ายและสิ้นหวังกว่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมสองตัวละครอย่างดิวและภพ จึงอยากจะเดินทางออกไปจากปางน้อยจนแทบขาดใจ

 

 

เขียนมาถึงจุดนี้ต้องขอชื่นชมการแสดงของนนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ นักแสดงหน้าใหม่แกะกล่องที่ฉายแสงอย่างเป็นประกายตลอดช่วงเวลาที่เข้าสวมบทเป็นภพในวัยเด็ก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าน้ำเสียงและการแสดงออกทางแววตาของเขากลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับนักแสดงคนอื่นๆในเรื่องอาทิ โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี, เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ, ญารินดา บุนนาค, ปั๋น-ดริสา การพจน์ ซึ่งต่างอุ้มชูตัวละครจนทำให้เราเชื่อเสียสนิทใจว่า พวกเขากำลังแบกรับและต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรในชีวิต ไปจนกระทั่งการตัดสินใจของตัวละครในตอนท้าย แม้จะค้านสายตาของคนดู แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่า “ในโลกที่ไม่มีใครเข้าใจ” ทางออกของชีวิตนั้นอาจจะมีเส้นทางให้พวกเขาเลือกเดินได้ไม่มากนัก การหาทางออกของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะมองพวกเขาจากมุมมองไหน ตัดสิน เข้าใจ หรือแค่เฝ้ามอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook